ผ้าฝ้าย
|
 |
ผ้าฝ้าย สายใยความผูกพันแห่งชีวิตและเส้นใย ฝ้าย (Cotton) คือเส้นใยเก่าแก่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ในการทอผ้ามาแต่สมัยโบราณ สิ่งที่บ่งบอกให้รู้ว่ามนุษย์มีการปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายเป็นเส้นด้ายมานานแล้ว คือหลักฐานทางโบราณคดีซึ่งขุดะพบในซากปรักหักพังอายุประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล ที่แหล่งโบราณคดีโมฮันโจ ดาโร (Mohenjo daro) ซึ่งอยู่ในบริเวณแหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ ในเขตประเทศปากีสถานปัจจุบัน ส่วนการทอผ้าฝ้ายในประเทศไทยนั้น คงมีขึ้นหลังการทอผ้าจากป่านกัญชาสันนิษฐานว่าการปลูกฝ้ายในไทยรับเอาพันธุ์และวิธีการมาจากประเทศอินเดียและหลังจากพบว่าผ้าทอจากฝ้ายมีเนื้อนุ่ม สวมใส่สบาย และย้อมสีติดดีกว่าผ้า ป่านกัญชา อีกทั้งขั้นตอนและกระบวนการแยกและเตรียมฝ้ายก็ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาน้อยกว่าการเตรียมป่านกัญชามาก ชาวไทยจึงค่อยๆวใช้ป่านกัญชาลดลงตามลำดับ ปัจจุบัน แหล่งปลูกฝ้ายในประเทศไทยคือ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ นครสววรค์ ลพบุรี ปราจีนบุรี สุโขทัย เพชรบุรี นครราชสีมา และกาญจนบุรี พันธุ์ฝ้ายในประเทศไทยมีหลายชนิด และมีฝ้ายพื้นเมืองอยู่ 2 สายพันธุ์คือฝ้ายพันธุ์ซึ่งให้ปุยสีขาวอย่างที่มักพบเห็นทั่วไป และฝ้ายพันธุ์ซึ่งให้ปุยสีน้ำตาลอ่อน ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าสีขี้ตุ่น หรือสีตุ่น และเรียกฝ้ายชนิดนี้ว่าฝ้ายตุ่น ฝ้ายตุ่น เป็นพันธุ์ฝ้ายที่หายากและปั่นยากกว่าฝ้ายพันธุ์สีขาว เนื่องจากมีปุยสั้นและไม่ค่อยฟูเหมือนพันธุ์สีขาว ดอกฝ้ายตุ่นมีขนาดเล็ก สีน้ำตาล เส้นใยสั้น ใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการทอผ้าด้วยมือแบบพื้นเมือง ส่วนฝ้ายพันธุ์ ชนิดอื่นๆมักใช้สำหรับการทอผ้าระดับอุตสาหกรรม ผ้าที่ทอจากฝ้ายส่วนใหญ่คือผ้าทอจากทางภาคเหนือ ชาวล้านนาจะเริ่มปลูกฝ้ายราวเดือนพฤกษภาคมและรอเก็บในเดือนพฤกศจิกายน นิยมเก็บฝ้ายก่อนที่ฝ้ายจะร่วงลงสู่พื้น ป้องกันไม่ให้ฝ้ายสกปรก หลังจากเก็บฝ้ายแล้ว ชาวบ้านต้องนำฝ้ายไปตากเพื่อคัดเอาแมลงและสิ่งสกปรกออก ก่อนจะนำไปหีบ หรืออีดในที่อีดฝ้าย แยกเอาเมล็ดออกก่อนนำไปปั่นเป็นเส้นด้าย
|
|
แหล่งอ้างอิง : หนังสือภูมิแผ่นดินไทย บริษัทไทยประกันชีวิต เล่ม 5
|
|
โดย : เด็กหญิง อัมพวัน เปลี่ยนเปรม, โรงเรียนเมืองชุมพรบ้านเขาถล่ม, วันที่ 16 สิงหาคม 2546
|