เรือนไทยภาคใต้
|
|
เรือนไทยภาคใต้ เรือนไทยภาคใต้ แบ่งเป็น ๒ บริเวณ คือ แถบชายทะเลด้านใน คือชายทะเลฝั่งตะวันออกซึ่งติดกับอ่าวไทย และแถบชายทะเลด้านนอก คือชายทะเลฝั่งตะวันตกซึ่งติดกับทะเลอันดามัน โดยที่พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกด้านอ่าวไทยเป็นชุมชนที่เก่าแก่มากกว่าฝั่งตะวันตก บ้านเรือนแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก มักเป็นเรือนหลังคาหน้าจั่วทรงสูงแบบเรือนไทยภาคกลาง แต่ไม่นิยมทำปั้นลมและตัวเหงา บ้าน ชาวประมงที่อยู่ชายฝั่งนิยมทำฝาด้วยไม้ไผ่ขัดแตะและใช้หลังคามุงจาก เนื่องจากเป็นวัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น ทั้งยังเหมาะกับสภาพภูมิ อากาศชายทะเลซึ่งร้อนอบอ้าว สำหรับบ้านที่มีฐานะก็มักปลูกเรือนด้วยไม้จริงทั้งหลัง และมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง ส่วนบ้านเรือนตามชายทะเลฝั่งตะวันตก ซึ่งมักเป็นถิ่นอาศัยของคนพื้นเมือง จึงนิยมปลูกเป็นกระท่อม หากเรือนหลังใดปลูกด้วยไม้ จริงทั้งหลัง ก็จะเป็นไม้ที่พบตามชายทะเลแถบนั้น โดยภาพรวมแล้ว เรือนไทยภาคใต้มักทำทรงไม่สูงนัก และมีการต่อชายคาคลุมตัวเรือนเพื่อกันฝนสาด เรือนที่อยู่ชายทะเลอาจสร้างบ้านยกพื้นสูงขึ้น เพื่อทำใต้ถุนบ้านสำหรับเป็นที่จอดเรือ เรือนบางหลังด้านหล่างยกพื้นไว้สำหรับเก็บเรือ โดยจะคว่ำ เรือไว้บนยกพื้นเมื่อยังไม่ต้องใช้งาน สำหรับบ้านชาวไทยอิสลามที่มีฐานะ มักปลูกเรือนใต้ถุนสูง มีห้องโถงฝากั้นห้องใช้บานเฟี้ยมเป็นลูกฟัก มีไม้ระแนงกั้นไขว้เป็นช่องลม บริเวณเหนือ ปากประตูเข้าห้องมีกรอบรูปเขียนเป็นสีทำนองเดียวกับหำยนต์ของแถบล้านนาบางครั้งพบเรือนหลังคาปั้นหยา มีหน้าจั่วประมาณ ๔-๖ หน้าจั่วหรือมากกว่านั้น นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรือนชาวไทยอิสลามอีกรูปแบบหนึ่ง |
|
แหล่งอ้างอิง : หนังสือในชุด ภูมิแผ่นดินไทย บริษัท ไทยประกันชีวิต เล่ม2
|
|
โดย : เด็กหญิง ศิราณี ชัยวิสิทธิ์, โรงเรียนเมืองชุมพรบ้านเขาถล่ม, วันที่ 16 สิงหาคม 2546
|