เพลงไทย หมายถึง เพลงที่ประพันธ์ขึ้นตามหลักดนตรีไทย เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประจำชาติ มีลีลาการขับร้อง และการบรรเลงเป็นแบบไทย
เพลงไทยเป็นศิลปะวัฒนธรรมของชนชาติไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อมาได้พัฒนารูปแบบเพลงไทยมาเรื่อยๆ ได้มีการประพันธ์เพลงไทยให้มีลีลา และสำเนียงภาษาของชาติอื่นมากมายถึง 12 ภาษา เช่น ภาษาลาว ภาษาเขมร ภาษาแขก ภาษามอญ ภาษาจีน เป็นต้น เพลงที่ประพันธ์ขึ้นมาโดยเลียนสำเนียงอื่น มักมีชื่อนำหน้าเพลงตามสำเนียงภาษาที่เลียนมา เช่น เพลงลาววงเดือน เพลงเขมรไทรโยค เพลงมอญท่าอิฐ เพลงจีนขิมเล็ก
จังหวะในเพลงไทย แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. จังหวะสามัญ หมายถึงจังหวะทั่วไป ที่จะต้องยึดถือเป็นหลักในการขับร้องและบรรเลง แม้ว่าจะไม่มีสิ่งใดเป็นเครื่องให้สัญญาณจังหวะ ก็จะต้องมีความรู้สึกอยู่ในใจตลอดเวลา
2. จังหวะฉิ่ง เป็นการแบ่งจังหวะด้วยฉิ่ง โดยปกติจะตีสลับกันเป็น ฉิ่ง-ฉับ แต่ถ้าเป็นสำเนียงจีน หรือญวน จะตีเป็น ฉิ่ง-ฉิ่ง-ฉับ หรือบางครั้งจะตีเป็นเสียงฉิ่ง อย่างเดียวก็ได้ เช่น เพลงเชิด เพลงสาธุการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการตีฉิ่งกับเพลงประเภทจังหวะพิเศษอีกด้วย
3. จังหวะหน้าทับ หน้าทับ หมายถึง วิธีการตีของเครื่องดนตรีประเภทกลองต่างๆ ซึ่งเป็นเกณฑ์ในการนับจังหวะ
ประเภทของเพลงไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. เพลงบรรเลง
2. เพลงขับร้อง
เพลงบรรเลง หมายถึง เพลงที่ใช้เครื่องดนตรีบรรเลงเพียงอย่างเดียว ไม่มีการขับร้อง แบ่งเป็น
* เพลงโหมโรง คือเพลงที่ใช้บรรเลงเริ่มต้นของการบรรเลง หรือการแสดง มีความหมายบอกให้ทราบว่า พิธีหรืองานจะเริ่มขึ้นแล้ว และยังเป็นการอัญเชิญเทพยดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาประชุมสโมสรในงาน เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลแก่เจ้าภาพ และผู้ร่วมงาน เพลงโหมโรงแบ่งออกเป็นหลายชนิดดังนี้
ุ เพลงโหมโรงเช้า ใช้บรรเลงในเวลาเช้าสำหรับงานที่มีการนิมนต์พระมาสวดมนต์เย็น
ุ เพลงโหมโรงประกอบการแสดง ใช้บรรเลงเพื่อประกาศให้ประชาชนทราบว่า การแสดงกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว
ุ เพลงโหมโรงเสภา ส่วนใหญ่เป็นเพลงอัตรา 3 ชั้น ใช้บรรเลงเพื่อบอกให้ทราบว่าการแสดงกำลังจะเริ่มขึ้น ในสมัยโบราณ มีการรัวประลองเสภา แล้วจึงบรรเลงโหมโรงเสภา ตอนท้ายของเพลงโหมโรงเสภาจะมีลักษณะเฉพาะตัว จบด้วยท้ายของเพลงวา
* เพลงหน้าพาทย์ คือ เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมต่างๆ และใช้ประกอบตัวแสดงโขนและละคร โดยทั่วไปมี 7 ประเภทดังนี้
ุ สำหรับกิริยาไปและมา โดยทั่วไปจะมีเพลงรำอยู่ 14 เพลง คือ
- เสมอ สำหรับการไปมาในระยะใกล้ๆ
- เพลงฉิ่ง สำหรับการไปมาอย่างนวยนาด กรีดกราย เช่น ไปชมสวน ไปเที่ยวสนุกสนาน
- เชิด สำหรับการไปมาในระยะใกล้ๆ
-บาทสกุณี สำหรับการไปมาใช้กับพิธีใหญ่ๆ และสำคัญ ใช้เฉพาะพระ
- พระยาเดิน สำหรับการไปมาของผู้สูงศักดิ์
- เชิดฉาน ท่าสำหรับการไปมาของพระราม พระลักษมณ์
- ลุกรัน ท่าสำหรับการไปมาของพระราม พระลักษมณ์
- เสมอข้ามสมุทร ท่าสำหรับการไปมาของพระราม พระลักษมณ์
- ชุบ สำหรับการไปมาของตัวละครที่มีศักดิ์ต่ำ หรือ
ฐานะต่ำ เช่น นางกำนัล
- เหาะ สำหรับการไปมาทางอากาศ เทวดา นางฟ้า และ
ตัวละครที่มีบรรดาศักดิ์สูง
- โคมเวียน ใช้กับพระ
- กลม การไปมาของเทวดา หรือผู้ที่สูงกว่าเทวดา เช่น
พระอินทร์ พระอรชุน และสำหรับผู้ที่มีบรรดา
ศักดิ์สูงเช่น เจ้าเงาะ
- เข้าม่าน ใช้ในการเข้าไปในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เช่น
ห้องสรง (ใช้กับตัวเอก หรือ ผู้มีบรรดาศักดิ์สูง)
- แผละ การไปมาของสัตว์ปีก เช่น นก แมลง
ุ สำหรับการยกพล ตามปกติใช้ 2 เพลง
- กราวนอก สำหรับพลมนุษย์ หรือ พลลิง
- กราวใน สำหรับพลยักษ์ ใช้สำหรับการมาของยักษ์
ุ สำหรับการสนุกสนาน ตามปกติใช้ 6 เพลง
- กราวรำ สำหรับการเยาะเย้ยสนุกสนาน
- สีนวล สำหรับความรื่นรมย์อย่างธรรมดา
- ฉุยฉาย สำหรับความภูมิใจ เมื่อได้แต่งตั้งใหม่ หรือเมื่อได้
แปลงตัวให้งดงามกว่าเดิม
- แม่ศรี ใช้ทำนองเดียวกับฉุยฉาย
- เพลงช้า สำหรับความเบิกบานอย่างธรรมดา
- เพลงเร็ว สำหรับความเบิกบานอย่างธรรมดา โดยมากใช้
รำต่อจากเพลงช้า หรือจะเริ่มเพลงเร็วทีเดียวก็ได้
ุ สำหรับการแสดงฤทธิ์ ตามปกติใช้ 6 เพลง
- ตระนิมิตร สำหรับการแปลงตัว หรือชุบคนตายให้ฟื้น หรือ
แปลงตัวให้คนอื่น
- ตระสันนิบาต การชุมนุมเพื่อกระทำพิธีสำคัญต่างๆ ใช้ในพิธี
ร่ายเวทมนตร์และประสิทธิ์ประสาทพร
- ชำนาญ ใช้เช่นเดียวกับตระนิมิตร
- ตระบองกัน ใช้เช่นเดียวกับชำนาญ
- คุกพาทย์ สำหรับการแสดงของผู้มีอิทธิ์ฤทธิ์ หรือแสดง
อารมณ์โกรธของตัวละครผู้มีศักดิ์สูง
- รัว ใช้ทั่วๆไป ในการสำแดงเดช และมักใช้ต่อท้าย
เพลงอื่น
ุ สำหรับการต่อสู้ ปกติใช้ 3 เพลง
- เชิดกลอง สำหรับการต่อสู้โดยทั่วๆไป
- เชิดฉิ่ง สำหรับรำก่อนที่นุทำการสำคัญในการรบ เช่น
ก่อนแผลงศร หรือก่อนใช้อาวุธอย่างใดอย่างหนึ่ง
- เชิดนอก สำหรับการจับ หรือขับไล่ของสัตว์
ุ สำหรับการแสดงความรักใคร่ หรือเรียกว่า เข้าพระเข้านาง ตามปกติใช้เพลงโลม
ุ สำหรับการนอน ใช้เพลงตระนอน
ุ หลักในการสังเกตเพลงหน้าพาทย์ คือเป็นเพลงที่ใช้ตะโพน และกลองทัด เป็นผู้ควบคุม จังหวะหน้าทับ
* เพลงเรื่อง คือการนำเพลงใกล้เคียงกันมาเพื่อบรรเลงต่อกันเป็นชุดต่างๆ มีดังนี้
ุ เพลงเรื่องช้า
ุ เพลงเรื่องเร็ว
ุ เพลงเรื่องเพลงฉิ่ง
ุ เพลงเรื่องสองไม้
ุ เพลงเรื่องเกี่ยวกับพิธีกรรม
* เพลงหางเครื่อง คือเพลงที่ใช้บรรเลงต่อท้ายเพลงเถาเป็นเพลงสั้น ชั้นเดียว สนุกสนาน ครึกครื้น เพลงเดียวกันใช้สำเนียงเดียวกันจะใช้เพลงชุดใด ขึ้นอยู่กับเพลงเถาข้างหน้า
* เพลงสำเนียงภาษา เป็นเพลงที่นำสำเนียงภาษามาเรียงกันต่างจากเพลงหางเครื่องคือ เพลงออกภาษาต้องบรรเลง 4 ภาษาก่อน คือ จีน เขมร ตลุง พม่า แล้วจึงเลือกสำเนียงภาษาอื่นตามความเหมาะสม
* เพลงเดี่ยว เป็นเพลงที่ชั้นครูแต่งขึ้นเพื่อ ใช้บรรเลงเดี่ยวด้วยเครื่องมือต่างๆ ใช้แสดงความสามารถของผู้บรรเลง ผู้เล่นจะต้องมีทักษะและกลเม็ดในการเล่นเป็นอย่างดี
เพลงขับร้อง หมายถึง เพลงที่ใช้เครื่องดนตรีบรรเลง ร่วมกับการขับร้อง แบ่งเป็น
* เพลงเถา หมายถึง เพลงที่ขับร้องและบรรเลงเริ่มจากช้าแล้วเร็วขึ้นเรื่อยๆ จาก 3 ชั้น ไป 2 ชั้น ไป 1 ชั้น จะมีชั้นละกี่ท่อนก็ได้ จำนวนท่อนจะต้องเท่ากันทุกชั้น และอาจจบด้วยรูปบทหรือไม่มีรูปบทก็ได้
* เพลงตับ หมายถึง การนำเอาเพลงหลายๆ เพลงมาขับร้องและบรรเลงต่อเนื่องกัน มี 2 ชนิดคือ
ุ เพลงตับเรื่อง คือเพลงที่นำมารวมร้อง และบรรเลงติดต่อกัน ยึดบทร้องที่เป็นเรื่องเดียวกัน ฟังได้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน ส่วนทำนองเพลงจะเป็นอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น เพลงตับนางลอย เพลงตับนาคมาศ เป็นต้น
ุ เพลงตับเพลง คือเพลงที่นำมารวมร้อง และบรรเลงติดต่อกัน ยึดถือ.สำนวน ทำนองของเพลง ที่สอดคล้องเหมาะสม และต้องอยู่ในอัตราจังหวะเดียวกัน ส่วนบทร้องจะเป็นอย่างไรไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น เพลงตับลมพัดชายเขา เพลงตับเพลงยาว เป็นต้น
* เพลงเบ็ตเล็ด ใช้ขับร้องทั่วไป ผู้ประพันธ์ส่วนใหญ่ประพันธ์ขึ้นเพื่อความสนุกสนาน หรือเพื่อสอนใจ เนื้อหาอาจอยู่ในรูป ชมธรรมชาติ ชมผู้หญิง บรรยายความรัก
ที่มาของการขับร้อง
* บทร้องจากวรรณคดี คัดมาจากวรรณคดี นำมาเฉพาะตอนที่มีความหมายดี ลักษณะการประพันธ์ถูก มีโวหารดี
* จากการประพันธ์เพื่อขับร้อง ประพันธ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความเพลิดเพลิน หรือเพื่อสอดแทรกคติ ส่วนใหญ่จะบรรยายความงามของธรรมชาติ ความงามของผู้หญิง คติและสุภาษิต
รูปแบบการขับร้องเพลงไทย
* การขับร้องเคร้าดนตรี คือการขับร้องที่ผู้ร้อง ร้องไปทางผู้ร้อง ดนตรีบรรเลงไปทางดนตรี การขับร้องกับดนตรีจะไปกันคนละทาง
* การขับร้องคลอดนตรี คือการขับร้องที่ผู้ร้อง ร้องพร้อมดนตรี ดนตรีจะบรรเลงไปพร้อมกับผู้ร้อง หรือ ดนตรีจะบรรเลงปรับแนวให้เข้ากับการร้อง
* การขับร้องให้ดนตรีรับส่ง คือผู้ร้องจะร้องก่อน พอร้องจบท่อนดนตรีจะรับสลับกันไปทุกท่อน
หลักในการขับร้องเพลงไทย
หลักในการขับร้องเพลงไทย เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะฝึกหัดรับร้องเพลงไทย หรือผู้ที่จะเป็นนักร้อง เพราะการที่จะเป็นนักร้องที่ดีนี้นมีใช่เกิดจากผู้ร้องนั้นมีเสียงไพเราะ หรือที่เรียกกันว่าเสียงดีเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องยึดหลักในการขับร้องดังนี้
* เนื้อเพลง คือทำนองที่เปล่งออกมาเป็นเสัยงสูง ต้ำ ไปตามลีลาของเพลง สามารถฟังออกว่า เป็นทำนองเพลงอะไร เช่น ลาวดวงเดือน ลาวเจริญศรี เป็นต้น จะต้องรักษาไว้ให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามที่ผู้ประพันธ์ได้ประพันธ์ไว้ จะขาดหรือเกินไม่ได้
* ทำนอง หมายถึงวิธีตบแต่งบทเพลง หรือการทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ แต่ให้ถูกต้องกับลีลาการประพันธ์ของทำนองเพลงในแต่ละเพลง
* เสียง นอกจากจะมีเสียงที่ไพเราะแล้ว ผู้ขับร้องยังต้องรักษาระดับเสียงให้คงที่ เข้ากับเสียงดนตรีได้เหมาะสม โดยไม่เพี้ยนหรือร้องไม่ตรงกับเสียงของดนตรี
* ถ้อยคำและการแบ่งวรรคตอนในการร้องเพลงนั้น ผู้ขับร้องที่ดีจะต้องระมัดระวังในเรื่องการออกเสียงตามถ้อยคำที่เป็นเนื้อร้องให้ชัดเจน เช่น การออกเสียง ร ล คำควบกล้ำ ให้ถูกต้องชัดเจน และการแบ่งวรรคตอนที่เป็นคำประพันธ์ประเภทต่างๆ
* จังหวะ ผู้ขับร้องจะต้องระวังรักษาจังหวะให้ถูกต้องสม่ำเสมอ สามารถรู้ได้ว่าร้องตอนใด ลงจังหวะฉิ่ง หรือฉับ หรือร้องคร่อมจังหวะ
* การหายใจ ผู้ขับร้องจะต้องหายใจให้ตรงจังหวะ และรู้จักผ่อน และถอนลมหายใจให้ถูกต้อง ถ้าหายใจผิดที่นะทำให้เสียง หรือทำนองที่ควรจะติดต่อกันขาดหายไป หรือห้วนไป ทำให้เพลงขาดความไพเราะนุ่มนวล
------------
จากหนังสือเรียนรายวิชาศ 306 ศิลปะกับชีวิต
|