ดนตรีไทย...การสอนที่ไม่ควรลืม
คลิกเพื่อเพิ่มข้อความ

ดนตรีไทย…..การเรียนการสอนที่ไม่ควรลืม

           ในปัจจุบันการศึกษาเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนทางวิชาการหรือทางด้านกิจกรรม    ประเทศไทยของเราการเรียนการสอนส่วนมาก     จะเน้นไปทางด้านกระบวนการทางวิชาการ   ไม่ว่าจะเป็น วิชาคณิตศาสตร์   วิทยาศาสตร์   ภาษาอังกฤษ   ภาษาไทย  ฯลฯ  แต่กระบวนการสอนเกี่ยวกับการทำกิจกรรมเราจะเห็นว่า มีให้เห็นเฉพาะวิชาพลศึกษาและการแข่งขันกีฬาในระดับต่าง ๆ ส่วนการศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมที่สำคัญ    สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะคนไทยก็คือการเล่นดนตรีไทย ซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติของคนไทย ที่นับวันจะหาดูได้ยาก ยิ่งในกระบวนการเรียนการสอนด้วยแล้วยังไม่มีการกำหนดหลักสูตรที่แน่นอนในการให้นักเรียนไทยได้เรียนดนตรีไทย โดยเฉพาะภาคปฏิบัติ ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะการจำกัดในด้านต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นทางด้านบุคลากร ด้านเครื่องดนตรีไทย หรืองบประมาณในการสนับสนุน ยิ่งถ้าหากโรงเรียนนั้นอยู่ในถิ่นทุรกันดารด้วยแล้ว การเรียนการสอนดนตรีไทยแทบจะเป็นที่จำกัด ไม่แพร่หลาย ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ยกตัวอย่าง เช่น

              อำเภอชาติตระการ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก  จัดว่าเป็นท้องถิ่นที่มีความกันดาร      มีรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อคนน้อย ชาวบ้านได้รับการศึกษาประถมศึกษาเป็นส่วนใหญ่      การเรียนการสอนในอำเภอชาติตระการโดยมาก  จะเน้นไปทางด้านกิจกรรม    ทั้งการประกวดศิลปะหัตถกรรม  วิชาการ  และ การแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ส่วนด้านการเรียนการสอนในห้องเรียน     ยังขาดแคลนครูเป็นจำนวนมาก  ทำให้นักเรียนส่วนมากได้รับความรู้ไม่เต็มที่   โดยเฉพาะครูดนตรีไทยที่จบมาโดยตรงในอำเภอชาติตระการมีอยู่เพียงคนเดียว จึงเป็นการลำบาก ในการที่จะทำให้ดนตรีไทยมีการเรียนการสอนในโรงเรียนให้มีความสมบูรณ์ได้ ซึ่งการเรียนดนตรีไทย เป็นกิจกรรมที่มีทั้งในระดับประถมศึกษา และ ระดับมัธยมศึกษา ที่นักเรียนจะต้องมีการปฏิบัติ แต่เครื่องดนตรีไทยที่มีอยู่ในอำเภอชาติตระการ ที่จะให้นักเรียนได้ปฏิบัติครบวงนั้น  มีอยู่เพียง  4  โรงเรียน  คือ   โรงเรียนชาติตระการวิทยา  โรงเรียนบ้านนาล้อม  โรงเรียนเนินทอง และ  โรงเรียนบ้านร่มเกล้า  ซึ่งในโรงเรียนที่กล่าวมาแล้วนี้ มีเพียง  3  โรงเรียนแรก ที่สามารถนำนักเรียนแสดงออกเกี่ยวกับกิจกรรมทางดนตรีไทย ส่วนโรงเรียนที่  4  มีเครื่องมือแต่ไม่มีครูผู้สอน  ดังที่ยกตัวอย่างนี้  เราจะเห็นได้ว่า กระบวนการเรียนการสอนวิชาดนตรีไทยที่จะทำให้นักเรียนสามารถปฏิบัติได้นั้น เป็นเรื่องที่ยากสำหรับโรงเรียนในชนบท  เพราะขาดแคลนทั้งบุคลากร และเครื่องดนตรีไทย ทั้งที่หลายโรงเรียนอยากที่จะพัฒนาการเรียนการสอนเกี่ยวกับกิจกรรมด้านนี้ แต่ไม่สามารถที่จะหางบประมาณมาจัดซื้อเครื่องดนตรีไทยได้  ร่วมทั้งการขอครูผู้ที่มีความชำนาญการสอนทางด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งส่วนมากการเปิดสอบบรรจุครู หรือการสอบครูอัตราจ้างจะเน้นขอครูผู้ที่มีความชำนาญทางด้านทักษะวิชาการเท่านั้น โดยมากจะเห็นว่าการขึ้นตำแหน่งครูดนตรีมีน้อยมากในปัจจุบัน

โดยเฉพาะในชนบทด้วยแล้ว บางที่แทบจะไม่เห็นความสำคัญของครูผู้สอนด้านนี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งที่เราคนไทยทุกคนควรจะช่วยกันอนุรักษ์ และส่งเสริมให้มีในสังคมไทย เพราะดนตรีไทยมีความเกี่ยวพันกับวิถีชิวิตประจำวันของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นการเกิด การบวช การแต่งงาน งานศพ ฯลฯ ล้วนแต่มีดนตรีไทยเข้าไปประกอบทั้งสิ้น แต่ข้อสังเกตที่เราสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจน ระหว่างโรงเรียนในชนบทกับโรงเรียนในเมือง คือ การเรียนการสอนในเมืองนั้น จะมีการเรียนการสอนด้านดนตรีที่ต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จมากกว่าในชนบท ทั้งนี้จะเป็นเพราะในชนบทนั้นบุคลากรทางดนตรีมีน้อยและมีการย้ายอยู่เสมอ จึงขาดการต่อเนื่องในการพัฒนาการสอนในด้านนี้ ส่วนในเมืองโดยเฉพาะโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้วยแล้วบุคลากรด้านนี้มีมากมาย บางโรงเรียนมีมากจนเกินความจำเป็น

ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องในด้านนี้หาทางแก้ไขและพัฒนาต่อไป

หลักสูตรการสอนดนตรีไทย เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรจะละเลยและควรกำหนดให้มีในการสอนของโรงเรียนแต่ละโรงเรียน โดยเน้นให้เด็กสามารถปฏิบัติได้จริงและควรมีการบรรจุบุคลากรด้านนี้ให้มีมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้การเรียนการสอนด้านอื่นๆ การเรียนการสอนดนตรีไทย สามารถจะเอื้อประโยชน์ไปสู่การเรียนการสอนวิชาอื่นได้ เพราะเด็กนักเรียนที่มีความสามารถในการเล่นดนตรี จะต้องมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาด้านการจำ มีความกระตือรือร้นที่จะแสวงหาสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ ซึ่งจะเป็นนิสัยของนักดนตรีไทยทุกคน จึงเห็นได้ว่าการเรียนดนตรีไทยมีประโยชน์ทั้งด้านการพัฒนาตนเอง และการพัฒนาสังคม รวมไปถึงการช่วยอนุรักษ์ดนตรีไทยให้เด็กไทยรุ่นใหม่ได้รู้จักและตระหนักถึงความสำคัญ ไม่ให้หลงใหลเฉพาะดนตรีของชาติตะวันตกอย่างเดียว ถ้าเราคนไทยในปัจจุบันไม่ช่วยกันรักษาอนุรักษ์ดนตรีไทยแล้ว ในอนาคตเด็กไทยคงจะไม่รู้จักศิลปะการแสดงสาขานี้เป็นแน่ ……เราคนไทยลองถามตัวเองว่าเราอยากให้เป็นอย่างนั้นรึเปล่า!


ที่มา : สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอชาติตระการ. สุขุม เทียนสุข . 2546

โดย : นาย สุขุม เทียนสุข, โรงเรียนบ้านนาล้อม, วันที่ 5 มกราคม 2546