ฟุตบอล(ตอนที่ 2)
ในวันที่ 11 กันยายน - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 ทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการ ฟุตบอลถ้วยทองของหลวง เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรหรือทัวร์นาเม้นต์ (TOUR NAMENT) แรกของสยาม พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยทองเป็นรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศ จึงเรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอล สำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง" ณ สนามฟุตบอลสโมสรเสือป่าหรือสนามม้าสวนดุสิต ถนนหน้าพระลาน (กรป.กลาง) มีสโมสรเข้าร่วมการแข่งขันแบบพบกันหมด จำนวน 12 ทีม โดยคณะกรรมการฯ ออกประกาศเปลี่ยนเรียกคำว่า "โกล์" มาเป็น "ประตู" แทน และจัดพิมพ์หนังสือ ระเบียบการแข่งขันทั้งแบบภาษาไทยและอังกฤษ ในขณะที่ผู้เข้าชมจะต้องเสียเงินค่าผ่านประตู คือชั้นหนึ่งนั่งเก้าอี้ ราคา 1 บาท, ชั้นสองนั่งอัฒจันทร์ ราคา 50 สตางค์ และชั้นสามเส้นข้างสนาม ถึงเส้นประตู ราคา 10 สตางค์ ทีมที่ได้รับพระราชทานถ้วยทองและแหนบสายนาฬิกาลงยา มีตราพระมหามงกุฎ คือ "ทีมนักเรียนนายเรือ" ส่วนรายได้ค่าผ่านประตูรวมทั้งสิ้น 6,049.95 บาทนั้น คณะกรรมการฯ มอบให้ราชนาวีสมาคม และสภากาชาดสยาม ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริจัดตั้ง "กรรมการคณะฟุตบอลแห่งสยาม" เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 เพื่อคัดเลือกผู้เล่นจากรายการชิงโล่ของกระทรวงธรรมการและถ้วยทองของหลวง เป็นตัวแทน ของชาติในนาม "คณะฟุตบอลสำหรับชาติสยาม" ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานการแข่งขันฟุตบอลระหว่างชาติ ทีมชาติสยาม กับทีมสปอร์ตคลับ ณ สนามราชกรีฑาสโมสร สระปทุมวัน การลงสนามแข่งขันนัดแรกของทีมชาติสยาม ชนะทีมฝ่ายยุโรป 2 - 1 (0 - 0) ทีมสยามจึงได้ครองถ้วยของราชกรีฑาสโมสร และเหรียญที่ระลึกเป็นรางวัล
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้ทรงสถาปนา "สมาคมฟุตบอลแห่ง ประเทศสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์" เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 สภากรรมการฯ ชุดแรก ประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รวม 7 ท่าน โดยมีพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เป็นสภานายก และพระราชดรุณรักษ์ (เสริญ ปันยารชุน) เป็นเลขาธิการ ในปลายปีจึงเริ่ม จัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย ขึ้นเป็นครั้งแรก ทีมชนะเลิศถ้วยใหญ่ คือสโมสรกรม มหรสพ และทีมชนะเลิศถ้วยน้อย คือสโมสรทหารบกราชวัลลภ
สงครามโลก ครั้งที่ 1 "ธงไตรรงค์" ได้โบกสะบัดแสดงความเป็นประเทศสยาม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต่อมา รัชกาลที่ 6 จึงทรงประกาศให้ธงไตรรงค์ คือธงชาติสยามประเทศ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2460 และกลายเป็นสัญญลักษณ์ติดหน้าอกเสื้อของนักฟุตบอลทีมชาติไทย มาตราบเท่า ทุกวันนี้
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2468 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยามฯ จึงสมัครเป็นสมาชิก สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FEDERATION INTERNAIONAL OF FOOTBALL ASSOCIATION) หรือฟีฟ่า (FIFA) องค์กรควบคุมการบริหารงานและรับผิดชอบการแข่งขันระดับชาติทั่วโลก อาทิ ฟุตบอลโลก (WORLD CUP) เป็นต้น
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2468 - 2477) คณะราษฎร์ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) จึงทำให้สมาคมฟุตบอลฯ ต้องหยุดจัดกิจกรรมลงชั่วคราว
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 (พ.ศ. 2477 - 2489) ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ณ สนามหลวง มีการแข่งขันฟุตบอลเพื่อการกุศลและความสามัคคีระหว่าง นักศึกษาย่านท่าพระจันทร์กับสามย่าน ผลเสมอกัน 1 - 1 ในปัจจุบันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ยังคงถูกจัดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปี
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 กรมพลศึกษาดำเนินงานก่อสร้าง "สนามกรีฑาสถาน" โดยใช้ งบประมาณ 170,000 บาท รวมเวลากว่า 4 ปี จึงสามารถสร้างอัฒจันทร์ครบทั้ง 4 ด้าน และมีความจุ ผู้ชม 40,000 คน ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถาน แห่งชาติ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก ผู้ริเริ่มมอบเสื้อสามารถนักฟุตบอลนักเรียนยอดเยี่ยม เมื่อ พ.ศ. 2481 และจัดการแข่งขันฟุตบอล ประชาชนระหว่างอำเภอ จังหวัด ขึ้นใน พ.ศ. 2482 ต่อมา สมาคมฟุตบอลฯ ได้เข้ามาขอเช่าสนาม กีฬาแห่งชาติจากกรมพลศึกษา เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประจำปี พ.ศ. 2488 และ ทำให้สนามศุภชลาศัยฯ แห่งนี้ คือสนามเหย้าของทีมชาติไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2489 - ปัจจุบัน) สมาคม ฟุตบอลฯ จัดการประชุมสภากรรมการฯ เพื่อแก้ไขข้อบังคับลักษณะปกครองฯ ครั้งที่ 3 (พ.ศ. 2499) ให้เหมาะสมกับสมัยนิยมและเปลี่ยนชื่อของสมาคมฯ เป็น "สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ใน พระบรมราชูปถัมภ์" (THE FOOTBALL ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTIC THE KING) หรืออักษรย่อ F.A.T.


แหล่งอ้างอิง : www.siamfootball.com

โดย : นางสาว ชุติมา แน่นหนา, โรงเรียนพนัสพิทยาคาร, วันที่ 16 กันยายน 2545