รู้เฟื่องเรื่องดนตรีไทย
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตี
เครื่องดนตรีประเภทนี้จะต้องมีการกระทบกันจึงจะเกิดเสียงดังออกมาและการกระทบกันที่ว่านี้ก็มีด้วยกันหลายวิธีเช่นใช้มือตี ได้แก่ กลองแขก ตะโพนไทย ตัวเองกระทบกัน ได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ ใช้ไม้ที่ทำเฉพาะตี ได้แก่ ฆ้องวง โหม่ง ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ขิม ใช้การกระแทก ได้แก่ อังกะลุง
เครื่องตีสามารถแยกได้เป็น ๓ ประเภทตามหน้าที่ในการบรรเลงคือ
๑. เครื่องตีที่ทำจังหวะ
หมายถึงเครื่องตีที่เมื่อตีแล้วจะเป็นเสียงที่คุมจังหวะการบรรเลงของเพลงนั้นๆตลอดทั้งเพลงซึ่งได้แก่ ฉิ่ง และถือเป็นหัวใจของการบรรเลง
ด้วยเหตุที่ว่าเครื่องดนตรีทุกชิ้นจะต้องยึดถือเอาจังหวะเสียงของฉิ่งเป็นหลักในการบรรเลงเพื่อความพร้อมเพรียง
๒. เครื่องตีที่ประกอบจังหวะ
หมายถึงเครื่องดนตรีที่ใช้ตีเพื่อประกอบจังหวะของฉิ่งและทำนองเพลงเพื่อให้เกิดความไพเราะสนุกสนานได้อรรถรสของบทเพลงมากขึ้นซึ่งก็มีหลายอย่างเช่น กลองแขก กลองทัด ตะโพนไทย ตะโพนมอญ ฉาบใหญ่ ฉาบเล็ก กรับ โหม่ง เปิงมางคอก กลองตุ๊ก ฯลฯ โดยเครื่องตีในแต่ละชิ้นนี้จะมีลีลาการบรรเลงที่แตกต่างกันและเสียงก็แตกต่างกันจึงทำให้บทเพลงมีความน่าตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อยทีเดียว
๓. เครื่องตีที่ทำให้เกิดทำนอง
หมายถึงเครื่องตีที่ใช้ตีแล้วเสียงที่ดังออกมาเป็นทำนองเพลงโดยตรงซึ่งก็ได้แก่ ฆ้องไทยวงใหญ่ ฆ้องไทยวงเล็ก ฆ้องมอญวงใหญ่ ฆ้องมอญวงเล็ก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ขิม อังกะลุง(บรรเลงเป็นวง)
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีนี้มีลักษณะและวิธีในการตีที่เป็นเอกลักษณะเฉพาะตัวในแต่ละชิ้นมากมายซึ่งผู้เรียนจะต้องศึกษาและฝึกปฎิบัติจริงโดยใช้เวลานานพอสมควร ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างรายละเอียดของเครื่องดนตรีประเภทนี้
ระนาด
ระนาดมีอยู่ด้วยกัน ๔ ชนิดคือ
๑. ระนาดเอกไม้
ลูกระนาดทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่บง มีจำนวน ๒๑ - ๒๒ ลูกเจาะรูร้อยด้วยเชือก แขวนอยู่บนรางระนาด เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงสูงชัดเจนถือเป็นเครื่องนำ ในการบรรเลงวงปี่พาทย์
๒. ระนาดเอกเหล็ก
ลูกระนาดทำด้วยโลหะเช่นเหล็ก ทองเหลือง มีจำนวน ๒๑ ลูกแบบเดียวกันกับระนาดเอกไม้ แต่ว่าวางอยู่บนรางเรียบไม่เจาะรูแขวนส่วนวิธีการตีก็คล้ายคลึงกันกับระนาดเอกไม้ แต่มีเสียงดังกังวานกว่าระนาดไม้
๓. ระนาดทุ้มไม้
ลูกมีขนาดใหญ่กว่าลูกระนาดเอก ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่บง มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๖ - ๑๗ ลูก เจาะรูร้อยด้วยเชือกแขวนอยู่บนรางระนาดทุ้มเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มต่ำ บรรเลงหยอกล้อกับระนาดเอก เหมือนตัวตลก เป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงยากชนิดหนึ่ง
๔. ระนาดทุ้มเหล็ก
ลูกระนาดทำด้วยโลหะเช่นเหล็ก ทองเหลือง มีจำนวน ๑๘ ลูกแบบเดียวกันกับระนาดทุ่มไม้ วางอยู่บนรางเรียบๆไม่เจาะรูแขวน เหมือนระนาดไม้ เสียงของระนาดทุ้มเหล็กนั้น มีลักษณะทุ้มต่ำกังวานกว่าระนาดเอกเหล็ก วิธีการตีโดยปรกติจะบรรเลงเฉพาะทำนองหลักไม่เหมือนระนาดทุ้มไม้ ที่ตีหยอกล้อกับระนาดเอกไม้
ฆ้องวง (ทำทำนอง)
ฆ้องวงมีอยู่ ๒ แบบคือ ฆ้องวงไทยและฆ้องวงมอญ
ฆ้องวงไทย มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ฆ้องนางหงส์ และมีอยู่ด้วยกัน ๒ ชนิดคือ ฆ้องไทยวงใหญ่ และฆ้องไทยวงเล็ก
ฆ้องไทยวงใหญ่
มีลูกฆ้องทั้งหมด ๑๖ ลูก เรียงกันจากใหญ่ไปหาเล็ก โดยเรียงจากซ้ายมือไปทาง
ขวามือภายในวงฆ้องที่ทำด้วยหวาย เรียกว่า "ร้านฆ้อง" ลูกใหญ่เรียกว่า " ลูกทวน"อยู่ทางซ้ายมือ ลูกเล็กเรียกว่า " ลูกยอด " อยู่ทางขวามือ ลูกฆ้องทำด้วยโลหะผสมที่เรียกว่า"ทองม้าล่อ" ซึ่งมีคุณสมบัติ คือมีเสียงดังกังวาน
ฆ้องไทยวงเล็ก
ลูกฆ้องไทยวงเล็กทั้งหมด ๑๘ ลูก เรียงจากใหญ่ไปหาเล็ก จากซ้ายมือไปทาง
ขวามืออยู่ภายในวงฆ้องที่ทำด้วยหวาย เรียกว่า "ร้านฆ้อง" ลูกฆ้องทำจากโลหะผสมที่เรียกว่า "ทองม้าล่อ" ลูกของฆ้องเล็กมีขนาดเล็กกว่าลูกของฆ้องใหญ่และมีเสียงเล็กแหลมกว่าฆ้องใหญ่ ตีเป็นทำนองถี่ๆตามลีลาของเพลงโดยนำเอาทำนองของฆ้องวงใหญ่มาขยายเป็นทำนองของตัวเองเรียกว่า "แปรทำนอง"
ฆ้องมอญ
ฆ้องมอญมีทั้งฆ้องวงใหญ่และฆ้องวงเล็กเช่นเดียวกับฆ้องไทย กับทั้งมีลักษณะของการเรียงลูกฆ้อง และจำนวนลูกฆ้องเหมือนกัน แต่การเรียงของเรื่องเสียงสำหรับฆ้องใหญ่ ต่างกันเล็กน้อย ส่วนหน้าที่ในการบรรเลงของฆ้องแต่ละวงก็ไม่ต่างกัน ลูกฆ้องมอญนั้นวางเรียงอยู่ในร้านฆ้องที่แกะสลักเป็นรูปกินรี ปิดทองสวยงาม วางตั้งฉากกับพื้นด้วยเหตุนี้ทำให้คนทั่วไปเรียกฆ้องมอญผิดว่า "ฆ้องนางหงส์" แต่เดิมนั้นใช้ในงานทั่วไปแต่ปัจจุบันนิยมใช้ในงานศพและการแสดงลิเกเสียเป็นส่วนใหญ่
กลอง ( เครื่องประกอบจังหวะ)
กลองทัด
เป็นกลองขนาดใหญ่มีเสียงดังมากเวลาตี ใช้ตีประกอบในวงปี่พาทย์ไทย
ในการแสดงโขนละคร และบรรเลงทั่วไป เดิมใช้ร่วมกัน 3 ลูก แต่ปัจจุบันใช้เพียง
2 ลูก กลองทัดมีเสียงสูงและเสียงต่ำ ลูกที่เสียงสูงดัง "ตุ๊ม" เรียกว่า"ตัวผู้" ลูกเสียงต่ำดัง "ต้อม" เรียกว่า"ตัวเมีย" เมื่อตีสลับกันจึงดังเป็น"ตุ๊มตุ๊มต้อมต้อม"
ตะโพนไทย
เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีที่ขึงด้วยหนัง มีขนาดไม่ใหญ่นัก รูปร่างยาว ปล่องกลาง หัวท้ายมนไม่เท่ากัน มีสองหน้า หน้าใหญ่และหน้าเล็ก เสียงปกติ หน้าใหญ่ดัง "เท่ง" หน้าเล็กดัง "ติง" การตีใช้ทั้งมือซ้ายและมือขวาไม่นิยมใช้อุปกรณ์ใดๆตี ส่วนประกอบหลักมีสองส่วนคือ ตัวตะโพน (หรือหุ่น)และเท้าตะโพน เท้าตะโพนนั้นทำด้วยไม้ ซึ่งอาจแกะสลักลวดลายลงรักปิดทองหรือแกะลายแล้วฝังมุก หรือไม่แกะลายก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของเจ้าของตะโพนมักตีคู่กับกลองทัดเช่น ติง ถะ/ ตุ๊บติงต้อม/ เท่ง ถะ/ ตุ๊บติงต้อม/ ตุ๊บติงตุ๊บเท่ง/ติง ต้อม/
ตะโพนมอญ
มีลักษณะเหมือนตะโพนไทยแต่มีขนาดที่ใหญ่กว่ามากและเสียงของแต่ละหน้านั้นก็ยังต่างกัน เสียงของหน้าใหญ่ดัง "ทิ้ง" หรือ "ทึ้ง"หน้าเล็กดัง "เท่ง" เมื่อตีสลับกันจึงเป็น "เท่งทิ้งเท่งทิ้ง" หรือ "เท่งทึ้งเท่งทึ้ง"นิยมใช้กับวงปี่พาทย์มอญ ประกอบพิธีศพ
กลองแขก
เป็นเครื่องดนตรีที่ขึงด้วยหนังอีกชนิดหนึ่ง ใช้ตีร่วมกับวงปี่พาทย์ วิธีการตีใช้มือหรืออุปกรณ์ที่เรียกว่าไม้ตีซึ่งมีลักษณะเฉพาะ กลองแขกมีสองหน้าใหญ่หน้าหนึ่ง และเล็กหน้าหนึ่งและมีด้วยกัน2ใบคือ ตัวผู้ กับ ตัวเมีย เสียงปกติของกลองแขกเป็นดังนี้
ตัวเมีย เสียงต่ำ หน้าใหญ่ดัง "ทั่ม" หน้าเล็กดัง "จ๊ะ"
ตัวผู้ เสียงสูง หน้าใหญ่ดัง "ติง" หน้าเล็กดัง "โจ๊ะ"
เมื่อตีสลับกันดังเป็น ติงโจ๊ะทั่มจ๊ะ ในการตีมีเทคนิคมากมายหลายเสียง

โดย : นาย ประสงค์ สกุลบัวบาง, ร.ร.วัดราชบพิธ, วันที่ 15 พฤษภาคม 2545