รู้เฟื่องเรื่องดนตรีไทย
เครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าที่จะกล่าวต่อไปนี้นั้นเป็นเครื่องดนตรีไทยนะครับ
๑. ขลุ่ย
ขลุ่ยเป็นเครื่องเป่าที่ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ใดๆเข้ามาเสริมในการให้เกิดเสียงเพราะเพียงเราเป่าลมให้ผ่านเข้าไปในเลาขลุ่ยและเปิด - ปิดนิ้วก็สามารถมีเสียงได้แล้ว ส่วนประกอบของขลุ่ยนั้นมีไม่มากและไม่สลับซับซ้อนคือ
๑. ตัวขลุ่ยที่เรียกว่า"เลาขลุ่ย"ทำจากไม้ไผ่หรือไม้อื่นๆเช่นไม้ผยุง ไม้ชิงชัน หรือในปัจจุบันทำจากพลาสติกก็มี
๒. ไม้เสี้ยมที่เรียกว่า"ดาก"ทำจากไม้ เสี้ยมปลายให้บางพอเหมาะเป็นตัวทำให้เกิดเสียง
๓. ปากนกแก้ว เป็นส่วนที่ทำให้เกิดเสียงประกอบกับดากและขลุ่ยจะกินลมมากน้อยเช่นไรขึ้นอยู่กับปากนกแก้วนี้
๔. รูปิดเปิดนิ้ว มีทั้งหมด ๘ รู ทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างกันโดยเรียงร้อยเป็นทำนองเพลงที่ไพเราะ
๕. รูแต่งเสียงสูงต่ำ มี๔รูอยู่ที่ด้านล่างสุดของเลาขลุ่ย(ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ร้อยเชือกเอาไว้แขวน)
ขลุ่ยที่ใช้กันอยู่มี ๓ ชนิดคือ
- ขลุ่ยเพียงออ มีเสียงอยู่ในระดับปานกลางนุ่มนวลนิยมใช้ในวงเครื่องสาย มโหรี ปี่พาทย์ไม้นวม
- ขลุ่ยหลิบหรือขลุ่ยหลีก มีเสียงสูงหนึ่งเท่าตัวของขลุ่ยเพียงออ นิยมใช้คู่กับขลุ่ยเพียงออ
- ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยที่มีขนาดใหญ่และมีเสียงทุ้มต่ำ เคยพบเห็นใช้ในวงเครื่องสายปี่ชวาที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(เมื่อครั้งยังไม่เปลี่ยนชื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ - พ.ศ. ๒๕๒๗)
๒. ปี่
ปี่เป็นเครื่องเป่าที่ต้องอาศัยอุปกรณ์ช่วยในการเกิดเสียง ส่วนประกอบเฉพาะตัวเลาปี่ทุกชนิดเหมือนกันคือ
๑. ตัวปี่ที่เรียกว่า"เลาปี่"ทำจากไม้ชนิดต่างๆเช่นไม้สัก ไม้ชิงชัน ไม้พยุงฯลฯหรืองาช้างก็มี
๒. รูเปิด - ปิดให้เกิดเสียงที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละชนิดมีไม่เท่ากัน
๓. ลำโพงปี่ชวา ทำจากไม้กลึงกลวงปลายบานนำเล่าปี่สอดเข้าไปในลำโพงแล้วเป่าเสียงจะดังก้องกังวานขึ้น
๔. ลำโพงปี่มอญ ทำจากโลหะโค้งต่อเชื่อมปลายบาน นำเล่าปี่สอดเข้าไปในลำโพงแล้วเป่าเสียงจะดังก้องกังวานขึ้น
อุปกรณ์ช่วยในการเกิดเสียง ซึ่งสำคัญมากเพราะถ้าไม่มีก็ไม่สามารถเป่าปี่ให้เกิดเสียงได้ เราเรียกว่า"ลิ้นปี่"
ส่วนประกอบของลิ้นปี่ที่สำคัญก็มี
๑. กำพรวด ทำจากโลหะ เช่นเงิน ทองเหลือง นำมาม้วนกลมเป็นหลอดแล้วเชื่อมให้ติดกันด้วยวิธีการเป่าแล่น
๒. ลิ้นปี่ ทำจากใบตาลพับสี่ทบ(มีวิธีพับเฉพาะ)ตัดให้มนคล้ายรูปเล็บมือ
๓. เชือกรัดลิ้นปี่ให้ติดกับกำพรวดเรียกว่า"สายอ้อ"เป็นเชือกที่ควั่นขึ้นเองจากด้ายดิบ
ปี่มีหลายชนิดแต่ที่นิยมในวงปี่พาทย์ภาคกลางมีอยู่ ๔ ชนิดคือ
- ปี่ใน มีเสียงที่ดังนุ่มนวล นิยมใช้บรรเลงในสถานที่ไม่ใหญ่นัก และบรรเลงร่วมกับวงปี่พาทย์ไทยไม้แข็ง
- ปี่นอก มีเสียงที่ดังจ้ามาก นิยมใช้บรรเลงในสถานที่กว้างๆหรือกลางแจ้ง และบรรเลงร่วมกับวงปี่พาทย์ไทยไม้แข็ง
- ปี่ชวา มีเสียงที่เล็กแหลมดังจ้ามากกว่าปี่นอก นิยมใช้บรรเลงในวงปี่ชวากลองแขก ประกอบการแสดงศิลปะการต่อสู้ เช่น กระบี่กระบอง หรือ การชกมวยไทย และวงปี่พาทย์นางหงส์ในการประโคมศพ และวงบัวลอยในการประชุมเพลิง
- ปี่มอญ มีเสียงที่ทุ้มต่ำ โหยหวนมาก นิยมใช้ในวงปี่พาทย์มอญ


โดย : นาย ประสงค์ สกุลบัวบาง, ร.ร.วัดราชบพิธ, วันที่ 17 มีนาคม 2545