งิ้ว

คำว่า “งิ้ว” ซึ่งมีความหมายว่า “ละครจีน” นั้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน แต่การละเล่นชนิดนี้เป็นที่คุ้นเคย
ของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังปรากฏในบันทึกรายวันของบาทหลวงเดอชัวสี คราวติดตามมองซิเออร์ เอ เชอวาเลีย เดอโซมองต์
เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ในบันทึกนั้น เรียกการแสดงของชาวจีน ซึ่งจัดขึ้นในทำเนียบของ
มองซิเออร์กองสตังซ์ว่า Commedie a la Chinoife และ Une tragedie Chinoife ซึ่งแปลรวมความว่า “ละครจีน” นั่นเอง
ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาสมัยพระนารายณ์เช่นกันได้มีโอกาสชม “งิ้ว” และลาลูแบร์เรียกการละเล่น
ชนิดนี้ว่า A Chinefe Comedy ซึ่งก็แปลได้ความว่าละครจีนเช่นกัน ในสมัยอยุธยานั้น ชาวไทยจะเรียกการแสดงของจีนชนิดนี้
ว่าอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน ตราบจนถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เนื่องจากพระองค์มีเชื้อสายจีน ชาวจีนได้อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากขึ้น
ทั้งความใกล้ชิดระหว่างชาวไทยและชาวจีนก็คงจะเริ่มมีขึ้นในสมัยนี้ดังปรากฏหลักฐานว่า คราวที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดให้จัดขบวน
แห่อย่างใหญ่โต เพื่ออัญเชิญพระแก้วมรกต ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 (คราวดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ) ทรงยกทัพไปตีเวียงจันทน์
และได้ทรงอัญเชิญลงมาด้วยนั้น ในขบวนแห่ดังกล่าวนอกจากจะมี โขน ละคร ดนตรี ปี่พาทย์แล้ว ในหมายรับสั่งยังปรากฏว่ามี “งิ้ว” ไปแสดง
ในเรือด้วย 2 ลำ ดังข้อความว่า .งิ้วลงสามป้าน พระยาราชาเศรษฐีหนึ่ง หลวงรักษาสมบัติหนึ่ง (รวมงิ้ว) 2 ลำ “ ในสมัยพระบาทสมเด็จ
พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระนิพนธ์เรื่อง อิเหนาของพระองค์ตอนอภิเษกพระราชบุตรและพระราชธิดาสี่พระนครนั้น หลังเสร็จพิธีอภิเษก
แล้วได้มีมหรสพฉลองเป็นงานเอิกเกริก และคำว่า “งิ้ว” ซึ่งหมายถึงละครจีนก็ปรากฏขึ้นอีกเช่นกัน


แหล่งที่มา : งิ้ว. 2545. (online).เข้าถึงได้จาก
http://www.thai-d.com/siam-china.


โดย : นางสาว malee pinkes, ripw klongluang patumtani 13180, วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545