ศิลปแห่งการสร้างสรรค์

ศิลปะงานแห่งการสร้างสรรค์.2545.[ออนไลน์].เข้าถึงไดจาก : http://dnfe5.nfe.go.th/lib-E/infor3/art6.htm.
จุดประสงค์หลักของกิจกรรมศิลปะคือการส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างงานศิลปะที่มาจากความคิดของตนเอง ศิลปะสำหรับเด็ก ไม่ใช่การวาดภาพระบายสี หรือประดิษฐ์ตามคำบอกเล่าของครู ดังนั้น การที่ครูให้เด็กทำงานศิลปะในกรอบ เช่น การใช้สมุดภาพที่มีภาพร่างสำเร็จรูปแล้วให้เด็กระบายสี จัดเป็นศิลปะเทียม สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นคือ การปล่อยให้เด็กได้สร้างสรรค์ชิ้นงานของตัวเองตามจินตนาการอย่างอิสระ กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ เป็นการพัฒนาสมอง ซีกขวา อันเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์งานในระดับที่สูงขึ้นไป ในห้องสมุดสามารถจัดกิจกรรมศิลปะได้ โดยบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดควร จัดอุปกรณ์ เครื่องมือให้บริการในบรรยากาศที่สบาย มีป้ายติดแสดงผลงานเพื่อเป็นแรงจูงใจในการสร้างชิ้นงาน
วัสดุอุปกรณ์สำหรับการจัดมุมศิลปะในห้องสมุด ได้แก่
1. โต๊ะทำงานศิลปะ
2. วัสดุอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมวาดเส้น เช่น ดินสอดำ ดินสอสี สีเทียน สีชอล์ค ปากกา สีเมจิก พู่กัน กระดาษวาดรูป ยางลบ
3. วัสดุอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมระบายสี เช่น เฟรมขึงด้วยผ้าใบ ขาหยั่งเขียนรูป สีฝุ่น สีไม้ สีโปสเตอร์ สีเทียน สีเมจิก สีน้ำ กระดาษ อุปกรณ์สำหรับล้าง
4. วัสดุอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมภาพพิมพ์ เช่น ใบไม้ ขนนก ลูกกุญแจ ก้านไม้ขีด วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้พิมพ์ได้ สีโปสเตอร์ กระดาษ
5. วัสดุอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมประดิษฐ์ตกแต่ง เช่น เศษวัสดุต่างๆ วัสดุจากธรรมชาติ กรรไกร กาว สี มีด กระดาษ
6. อุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น รถเก็บอุปกรณ์ศิลปะ โต๊ะเก้าอี้ที่ทำความสะอาดง่าย (ใช้แผ่นโฟไมก้าหรือผ้ายางปู) อ่างล้างมือ สบู่ ฟองน้ำ ผ้าเช็ดมือ บริเวณเก็บผลงาน บริเวณตากผลงาน แผ่นไม้ขนาดเล็กไม่เกิน 12x18 นิ้วเพื่อใช้ในงานปั้นที่ยังไม่เสร็จ เสื้อคลุมกันเปื้อน เช่น เสื้อเชิ้ตเก่าของผู้ใหญ่
หลักการจัดกิจกรรมศิลปะ
1. เน้นที่กระบวนการขณะที่เด็กได้ลงมือทำงานศิลปะ ไม่ใช่เน้นที่ผลงาน เพราะศิลปะแสดงออกถึงประสบการณ์และความรู้สึกของเด็ก
2. คำนึงถึงอายุ ความสามารถ ความต้องการและความสนใจของเด็ก
3. ส่งเสริมความคิดริเริ่มและความคิดที่เป็นอิสระ
4. ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ การทำงานอย่างอิสระและยืดหยุ่น
5. ยอมรับอัตราพัฒนาการและความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กแต่ละคน ่
บทบาทของบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดในการจัดกิจกรรมศิลปะในห้องสมุด
1. จัดพื้นที่หรือบริเวณให้เด็กปฏิบัติงานศิลปะอย่างเป็นสัดส่วน อุปกรณ์ที่ใช้ต้องแบ่งแยก ไม่รวมกันในตะกร้าเดียว เช่น สีไม้ สีน้ำ สีเทียน แยกออกจากกัน
2. ตกแต่งมุมศิลปะให้ดึงดูดใจเด็กที่จะเข้าร่วมกิจกรรมตามความสมัครใจ
3. จัดหาสื่ออุปกรณ์ให้พร้อมเพียงพอ เช่น สี วัสดุสำหรับตกแต่ง อุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดและบอกให้เด็กทราบว่ามีอะไรวางไว้ที่ไหน
4. ดูแลความปลอดภัยขณะที่เด็กร่วมกิจกรรม
5. จัดมุมหรือป้ายนิเทศแสดงผลงานเด็ก ตลอดจนมุมที่เก็บงานที่ยังไม่แล้วเสร็จที่เด็กสามารถมาสร้างสรรค์ชิ้นงานต่อได้โดยไม่เสียหาย
6. ไม่เร่งรัดเวลาเด็กในการสร้างชิ้นงาน
7. ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง เพื่อให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองทำได้ โดยการแสดงออกทางสีหน้าถึงการยอมรับในผลงาน
8. สนใจในชิ้นงานของเด็ก
9. จัดแสดงผลงานเด็กอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรเลือกเฉพาะผลงานที่มีความเด่นเท่านั้นมาจัดแสดง
10. ให้เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงผลงาน และเก็บชิ้นงานของตนเอง
11. ไม่ควรตัดสินผลงานเด็กตามความเห็นของตนเอง
12. ไม่หัวเราะผลงานของเด็ก ไม่วาดภาพให้เด็ก ไม่ตัดสินใจแทนเด็กว่าควรทำอะไร หรือควรวาดอะไรเพิ่มในรูป เป็นต้น ควรเปิดโอกาสให้เด็กคิดเอง และสร้างชิ้นงานตามจินตนาการของตนเอง กล่าวโดยสรุปก็คือ บรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุดควรทำหน้าที่เพียงจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม จัดพื้นที่ในการแสดงผลงาน และคอยให้กำลังใจในการสร้างชิ้นงาน เท่านี้ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีโอกาสสร้างสรรค์ตามความคิดของเขา โดยที่เราเป็นผู้สนับสนุน









โดย : นางสาว kumrai rungsiyo, student 4/3 klongluang patumtani 13180, วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2545