กระสวนจังหวะหน้าทับ เครื่องตี

tapol21x1.jpg (16012 bytes)

ตะโพน

 

klong_kae1x1.jpg (11814 bytes)

กลองแขก

 

klong_tud1x1.jpg (10780 bytes)

กลองทัด


 

จังหวะหน้าทับ หมายถึง กระสวนการตีจังหวะกลอง กระสวนจังหวะหน้าทับใช้หลักเกณฑ์สำเนียงภาษาดนตรีและโครงสร้างรูปลักษณ์ของเพลง เช่น เพลงหน้าพาทย์ก็ใช้จังหวะหน้าทับของตะโพนและกลองทัด เพลงตับ เพลงเถา เพลงเรื่อง เพลงเบ็ดเตล็ด เพลงภาษา เพลงหางเครื่อง เพลงลูกหมด ก็จะใช้กระสวนจังหวะตามลักษณะ และประเภทของเพลนั้นๆ และที่สำคัญที่สุด กระสวนจังหวะหน้าทับเป็นตัวบอก หรือกำหนดความสั้นยาวของเพลง ว่าเพลงนั้นมีความสั้นยาวเท่ากับกี่ประโยค ทำนองวัดความสั้นยาวของเพลง

อัตราจังหวะหน้าทับ ได้แก่

1. หน้าทับปรบไก่ ใช้ประกอบจังหวะในเพลงประเภทที่มีสำเนียงไทย และเพลงสำเนียงมอญ สำเนียงเขมร สำเนียงแขก ที่เป็นเพลงเถาที่เกิดจากการขยายจากเพลงเดิมในอัตรา 2 ชั้น และขั้นเดียว ขยายขึ้นเป็น 3 ชั้น เพื่อให้ครบเป็นเพลงเถา หลายเพลงใช้หน้าทับปรบไก่ในอัตรา 3 ชั้น ส่วนอัตรา 2 ชั้น หรือชั้นเดียว อาจจะใช้หน้าทับปรบไก่ หรือหน้าทับสำเนียงนั้นๆ จนคบเถาก็ได้

* เพลงลาวดวงเดือน ขยายให้ครบเถา เป็นเพลงโสมส่องแสง

อัตรา 3 ชั้น ใช้หน้าทับสองไม้

อัตรา 2 ชั้น ใช้หน้าทับลาว

อัตราชั้นเดียว ใช้หน้าทับสองไม้

2. หน้าทับสองไม้ ใช้บรรเลงประกอบเพลงที่มีสำเนียงลาว และสำเนียงพิเศษ เช่น เพลงทยอย เพลงสองไม้ รวมทั้งเพลงะไทยบางเพลง อาจมีประเภทสำเนียงแขกอยู่บ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประพันธ์เพลง จะกำหนดให้ใช้หน้าทับอะไร

3. หน้าทับเขมร ใช้ประกอบเพลงที่มีสำเนียงเขมรเท่านั้น ทั้งเพลงเถา เพลงตับ เพลงเรื่อง เพลงเกร็ด เพลงเบ็ดเตล็ด เช่นเพลงเขมรเอวบาง เพลงเขมรละออองค์ ฯลฯ แต่มีเพลงสำเนียงเขมรหลายเพลงที่ใช้หน้าทับอื่น ได้แก่หน้าทับปรบไก่ เช่น เพลงเขมรไทรโยค ถึงจะใช้บันไดเสียงเขมร หรือบันไดเสียง ฟ ก็ตาม แต่เป็นเพลงที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงค์ ทรงนำเพลงขอมกล่อมลูกที่มีลักษณะสำเนียงไทยนำทำนองมาแต่งเป็นเขมรไทรโยค ดังนั้นนักดนตรีจึงนิยมใช้หน้าทับปรบไก่ประกอบจังหวะ แต่จะใช้หน้าทับเขมรก็ได้ ( ที่เป็นเช่นนี้ขึ้นอยู่กับที่มาของเพลงว่าผู้ประพันธ์นำต้นแบบมาจากสำเนียงอะไร )

4. หน้าทับแขก ใช้บรรเลงประกอบเพลงที่มีสำเนียงแขก ทั้งเพลงตับ เพลงเรื่อง เพลงภาษา เพลงเบ็ดเตล็ด ฯลฯ แต่เพลงสำเนียงแขกบางเพลงนำทำนองต้นแบบ ที่มีสำเนียงอื่นมาประพันธ์ใหม่ให้เป็นสำเนียงแขก แต่ผู้ประพันธ์เพลงอาจจะใช้หน้าทับสำเนียงต้นแบบเดิมแทนสำเนียงแขกก็ได้ เช่น เพลงแขกต่อยหม้อ อ.มนตรี ตราโมท ได้นึกทำนองต้นแบบที่มีสำเนียงโครงสร้างเพลงสองไม้หรือลาว แต่ไม่ทราบชื่อเพลงอะไร ดังนั้นจังใช้หน้าทับสองไม้บรรเลงจังหวะเพลงแขกต่อยหม้อ นอกจากนี้ยังมีการนำสำเนียงเพลง 2 สำเนียงขึ้นไปมาแต่งให้เป็นเพลงเดียวกัน เพื่อแสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของผู้ประพันธ์ เช่น เพลงแขกมอญ เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เป็นต้น ทั้ง 2 เพลงนี้จะใช้หน้าทับปรบไก่บรรเลงประกอบจังหวะยืนพื้น แต่ในช่วงลูกโยนของเพลงที่ทำนองเพลงมีลักษณะเด่นทางสำเนียงภาษา ได้แก่ ลูกโยนภาษามอญ และลูกโยนภาษาแขกก็จะใช้หน้าทับแขก หรือหน้าทับมอญบรรเลงประกอบจังหวะ

นอกจากนี้ยังมีเพลงแขกลพบุรี เถา ซึ่งเป็นเพลงประเภทเพลงทยอย ใช้จังหวะหน้าทับสองไม้ยืนพื้น แต่ในช่วงลูกโยนซึ่งมีทำนองสำเนียงแขกเป็นลักษณะเด่น ก็จะใช้หน้าทับแขกประกอบจังหวะ

5. หน้าทับลาว มอญ จัน ญวน ซึ่งทำนองเดิมมักอยู่ในอัตราจังหวะ 2 ชั้น ก็จะใช้กระสวนอัตราจังหวะสำเนียงนั้นๆ แต่หากมีการขยายให้เป็นเพลงเถา ก็จะใช้หน้าทับอื่นๆ ในช่วงอัตรา 3 ชั้นและอัตราชั้นเดียว เนื่องจากหน้าทับลาวมีเพียงอัตรา 2 ชั้น และชั้นเดียว แต่ชั้นเยวจะไม่ใช้มือบรรเลงเป็นเพลงเถา เหตุผลเพราะต้องการให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม และไพเราะ แต่ถ้ามีเพลงหางเครื่องก็จะนำอัตราจังหวะชั้นเดียวของลาวมาตีแทน

สำเนียงจีน หน้าทับจีนมีแค่อัตรา 2 ชั้น เมื่อขยายเป็นเถา จะใช้หน้าทับอื่น ได้แก่ หน้าทับสองไม้มาตีในช่วง 2 ชั้นและชั้นเดียว หรือบางเพลงอาจใช้สองไม้ตีทั้งหมดเลยก็ได้ เช่น เพลงจีนขิมเล็ก จะใช้หน้าทับสองไม้ทั้งหมด

6. หน้าทับญวน เพลงที่มีสำเนียงญวนในเพลงไทยมีน้อยมาก เช่น ญวนเย้า ญวนญี่โห่ มักเป็นเพลงในอัตรา 2 ชั้น แต่ถ้าเป็นเพลงเถาจะใช้หน้าทับสองไม้บรรเลงประกอบจังหวะ เนื่องจากหน้าทับสองไม้มีโครงสร้างกระสวนจังหวะในช่วง 2 ชั้นเท่ากับหน้าทับญวน และมีความกลมกลืนใกล้เคียงกับหน้าทับญวนมากที่สุด

7. หน้าทับพิเศษ ได้แก่ หน้าทับที่ใช้เพลงหน้าพาทย์ หน้าทับที่ใช้เพลงออกภาษา หน้าทับเหล่านี้จะมีการสร้างกระสวนจังหวะเฉพาะเพลงนั้นๆ เช่น หน้าทับเพลงเชิด เพลงกลม เพลงสาธุการ เพลงกราว เพลงลา รวมถึงหน้าทับเพลงออกภาษาต่างๆ ในชุด 12 ภาษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเพลงพิเศษที่มีการประพันธ์ขึ้นในรูปแบบลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่ใช้จังหวะหน้าทับบรรเลงประกอบก็มีความไพเราะสมบูรณ์แล้วดังนั้นจะเห็นได้ว่าเพลงเหล่านี้จะมีไม่ค่อยมากนัก



แหล่งอ้างอิง : อาจารย์อำนาจ บุญอนนท์ , http://www.dontrithai.com/history/point.htm

โดย : นางสาว รติพรรณ น้อยหัวหาด, สถาบันราชภัฏอุตรดิตถ์, วันที่ 8 กันยายน 2546