เพลงพื้นเมือง

ความหมาย

ธวัช ปุณโณทก ได้อธิบายว่า เพลงพื้นบ้าน คือบทเพลงที่แต่ละท้องถิ่นนำมาร้องกันเพื่อความบันเทิง มักใช้ถ้อยคำเรียบง่าย มีสัมผัสคล้องจองกัน ไม่นิยมใช้เครื่องดนตรีประกอบ มีเพียงการตบมือให้จังหวะ หรืออาจใช้ฉิ่ง ฉาบ กรับ กลอง เป็นเครื่องประกอบจังหวะก็ได้ เพลงพื้นบ้านนิยมเล่นกันในงานเทศกาลหรืองานนักขัตฤกษ์ต่างๆ หรืออาจร้องเล่นเพื่อความเพลิดเพลินเจริญของตนเอง หรือร้องเล่นในกลุ่มของตน เพลงพื้นบ้านจัดเป็นการละเล่นชนิดหนึ่ง เพลงพื้นบ้านเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่เจริญแพร่หลายมากในกลุ่มชาวบ้าน เพราะให้ความบันเทิงใจแก่บุคคล หมู่คณะ ครอบครัว และตัวผู้ร้องเองด้วย เพลงพื้นบ้านแต่ละภูมิภาคย่อมมีความแตกต่างกันและมีฉันทลักษณ์ตามรูปแบบของท้องถิ่นนั้นๆ

( หมายเหตุ การละเล่นแตกต่างกับการแสดง คือ

    • การละเล่นไม่มีเวทีแยกผู้แสดงและผู้ชม

    • การละเล่นไม่ต้องฝึกฝนทักษะ หรือฝึกซ้อมก่อนแสดง ผู้ใดจำได้ก็เล่นได้

    • การละเล่นมีสมาชิกของชุมชนที่อยู่ในที่นั้นเป็นผู้ร่วมกิจกรรม คือสามารถเป็นทั้งผู้ฟังและผู้เล่นได้ทุกคน

    • การละเล่นในสมัยก่อนไม่ต้องมีการว่าจ้าง แต่เป็นการเชิญชวนหรือขอร้อง

    • การละเล่นมุ่งให้ความบันเทิงใจแก่ผู้เล่นหมู่คณะ จึงไม่มีพิธีการเหมือนการแสดง )

มนตรี ตราโมท ให้ความหมายว่า เพลงพื้นบ้าน หมายถึง เพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นประดิษฐ์แบบแผนการร้องเพลงของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดที่เพี้ยนแปร่งแตกต่างกันไป เพลงแบบนี้มักจะนิยมร้องกันในเวลาเทศกาลหรืองานที่มีการชุมนุมผู้คนในหมู่บ้านมาร่วมรื่นเริงกันชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ตรุษสงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ ทอดผ้าป่า และในการลงแขกเอาแรงกันในกิจอันเป็นอาชีพ เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว

ประเทือง คล้ายสุบรรณ์ กล่าวว่า คือเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ คิดรูปแบบการร้องและการเล่นขึ้น เพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน

จารุวรรณ ธรรมวัตร อธิบายว่า คือเพลงที่แพร่หลายในแต่ละชุมชน มีเนื้อร้องทำนองเป็นสมบัติของชุมชนโดยปัจเจกบุคคล หรือสังคมสร้างขึ้น และสมาชิกในชุมชนยอมรับร่วมกันว่าเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตน

พรทิพย์ ซังธาดา กล่าวว่า หมายถึงเพลงที่ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นคิดประดิษฐ์รูปแบบ เนื้อร้อง ทำนองขึ้นเอง ทุกคนยอมรับและนำไปใช้ร่วมกัน

ประคอง เจริญจิตรกรรม อธิบายว่า เพลงพื้นบ้านหมายถึงเพลงของชาวบ้านซึ่งร้องเล่นในสังคมอย่างแพร่หลาย สืบทอดจากปากต่อปากมาหลายชั่วอายุคน อาจเป็นเพลงที่แม่ใช้ร้องกล่อมลูก เด็กร้องเล่นประกอบการละเล่น หนุ่มสาวใช้ร้องเล่นในเทศกาลต่างๆ

ที่มาของเพลงพื้นบ้าน

สันนิษฐานว่าเพลงพื้นบ้านมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังปรากฏข้อความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า “อันราชประเพณีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประพฤติมาแต่ก่อน ถ้าทอดพระเนตรชักโคมลอยแล้ว ก็เสด็จทางเรือพระที่นั่งไปถวายดอกไม้เพลิง บูชาพระรัตนตรัยทุกพระอารามหลวง… แล้วก็ทรงทอดพระเนตรทรงฟังประชาชนชายหญิงร้องรำเล่นนักขัตฤกษ์ เป็นการมหรสพต่างๆ “

วัตถุประสงค์ในการเล่นเพลงพื้นบ้าน

    1. เพื่อความบันเทิงใจ มักเล่นกันในงานเทศกาลหรืองานรื่นเริงต่างๆ เช่น เพลงเรือ เพลงฉ่อย

    2. เพื่อร้องประกอบการทำงาน ในสมัยโบราณสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำงาน เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว ต้องอาศัยแรงคนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับนิสัยคนไทยเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดังนั้นจึงมีการร่วมมือกันทำงานเป็นหมู่คณะ เรียกว่า “ลงแขก” ต่อมาได้คิดร้องเพลงโต้ตอบกันขึ้นเพื่อให้เกิดความเลิดเพลินไปพร้อมกับการทำงาน เช่น เพลงเกี่ยวข้าว

    3. เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เป็นเพลงที่มีจุดมุ่งหมายในการร้องเฉพาะตามที่ชุมชนนั้นๆ ต้องการ อาจเป็นเพลงที่ใช้ร้องในประเพณีทางศาสนาและพิธีกรรมตามความเชื่อเช่น ร้องเพลงแห่นางแมวเพื่อขอฝน เพลงขอทาน เพลงแหล่

ประเภทของเพลงพื้นบ้าน

เพลงพื้นบ้านสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้หลายแบบ เช่น

    • แบ่งตามภูมิภาค เช่น เพลงพื้นบ้านภาคกลาง เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน

    • แบ่งตามวัยของผู้เล่น เช่น เพลงเด็ก เพลงผู้ใหญ่

    • แบ่งตามเทศกาล เช่น เทศกาลสงกรานต์ เทศกาลทำนา

    • แบ่งตามธรรมเนียมการเล่น เช่น เพลงพิธีกรรม เพลงปฏิพากย์

- การแบ่งตามภูมิภาค

    1. เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

      1. เพลงจ๊อย เป็นเพลงที่ขับร้องเพื่อฟังกันเอง โดยจดจำบทร้องและทำนองเพลงสืบต่อกันมาโดยไม่ต้องฝึกหัด บางครั้งก็มีเครื่องดนตรีประกอบ นิยมเล่นกันเองโดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มๆ ระหว่างเดินเล่นในหมู่บ้าน เพื่อไปเยี่ยมบ้านสาวที่ตนหมายปองและเป็นการส่งเสียงสัญญาณให้สาวจำเสียงได้และบรรยายความในใจให้สาวรับรู้

      2. เพลงซอ เป็นเพลงที่ขับร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหญิงชาย มีดนตรีบรรเลงคลอประกอบคือ ปี่ ซึง และสะล้อ ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นวง เป็นคณะ ต้องจ้างหามาเล่นในงานบุญงานกุศลต่างๆ เนื้อร้องจะขึ้นอยู่กับพ่อเพลงแม่เพลงที่จะเลือกให้เข้ากับทำนอง เข้ากับสภาพงาน อาจเป็นนิทานพื้นบ้านตอนใดตอนหนึ่ง เป็นการเกี้ยวกัน เป็นการเรียกขวัญ เป็นต้น นับเป็นมหรสพชนิดหนึ่งของภาคเหนือ

        2. เพลงพื้นบ้านภาคอีสาน ภาคอีสานเป็นแหล่งรวมของกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันถึง 3 กลุ่ม เพลงพื้นบ้านภาคอีสานจึงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามวัฒนธรรมคือ

        2.1 เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ได้แก่กลุ่มที่มีภูมิลำเนาอยู่ทางตอนบนและตอนกลางของภาค เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาถิ่นไทยคือภาษาอีสาน เพลงพื้นบ้านของกลุ่มนี้มี 2 ประเภท คือ

        2.1.1 หมอลำ เป็นเพลงพื้นบ้านที่นิยมมากในภาคอีสาน และได้พัฒนาเป็นการแสดงมากขึ้นคือเล่นเป็นคณะ มีการฝึกหัด และมีการจ้างไปแสดงในงานต่างๆ

        2.1.2 เซิ้ง หรือ ลำเซิ้ง โดยทั่วไปเพลงเซิ้งนั้นเป็นเพลงสนุกสนาน ส่วนใหญ่จะเป็นกระบวนแห่ ฟ้อนรำกันไป มีต้นเสียงร้องนำซึ่งนิยมด้นกลอนสด ผู้ที่อยู่ในกระบวนแห่จะเป็นลูกคู่ร้องรับ

        2.2 เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมเขมร-ส่วย ได้แก่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์บางส่วน มีภาษาของตนเองคือภาษาเขมร และภาษาส่วย เพลงพื้นบ้านของกลุ่มนี้เรียกกันว่า “เจรียง” (แปลว่า ร้อง ขับลำ)

        2.3 เพลงพื้นบ้านกลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช ใช้ภาษาไทยถิ่นภาคกลาง แต่มีเสียงเพี้ยนเหน่อ ได้แก่จังหวัดนครราชสีมา และบางส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ เพลงพื้นบ้านเรียกว่า “เพลงโคราช”

        3. เพลงพื้นบ้านภาคใต้ แม้จะมีน้อยกว่าภาคอื่นๆ แต่เพลงพื้นบ้านภาคใต้ยังรักษารูปแบบพื้นบ้านได้มากกว่า คือเล่นกันเอง ไม่ต้องจ้างหา และเล่นกันตามเทศกาล ไมใช่พ่อเพลงแม่เพลงอาชีพ เช่น เพลงเรือ เพลงนา เพลงบอก เพลงร้องเรือหรือเพลงชาน้อง (เพลงกล่อมเด็ก)

        4. เพลงพื้นบ้านภาคกลาง จากการรวบรวมเพลงพื้นบ้านภาคกลางของอเนก นาวิกมูล ในปีพ.ศ. 2532 พบว่ามีถึง 47 ชนิด เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว (หรือเพลงเต้นกำ) เพลงพิษฐาน เพลงพวงมาลัย เพลงเหย่ย (หรือรำพาดผ้า) เพลงฉ่อย (หรือเพลงฉ่า) เพลงอีแซว เพลงระบำบ้านไร่ เพลงปรบไก่ เพลงขอทาน ลำตัด เพลงเทพทอง เพลงแม่ศรี

        - การแบ่งตามวัยของผู้เล่น แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เพลงเด็ก และ เพลงผู้ใหญ่

        1. เพลงเด็ก หมายถึงเพลงที่เด็กร้องเล่นกันเอง หรือเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องให้เด็กฟังเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพลงเด็กจัดเป็นเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่งเนื่องจากเป็นเพลงที่จดจำสืบต่อกันมาโดยไม่ต้องมีการฝึกหัด เพลงเด็กจะมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ ในด้านความเชื่อ และบทร้อยกรองท้องถิ่น (ฉันทลักษณ์) อีกด้วย แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ เพลงกล่อมเด็ก เพลงปลอบเด็ก เพลงประกอบการเล่น เพลงร้องเล่น

        1.1 เพลงกล่อมเด็ก คือเพลงที่ใช้ร้องกล่อมให้เด็กนอนหลับ มักมีทำนองเนิบนาบ จังหวะลีลาเชื่องช้า เนื้อความอาจแสดงถึงความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก หรือไม่ก็ได้ เราสามารถแบ่งเพลงกล่อมเด็กออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะเนื้อหาได้ดังนี้

        1.1.1 เพลงกล่อมเด็กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็ก มักแสดงหรือเน้นให้เห็นถึงความรักความเอาใจใส่ที่พ่อแม่มีต่อลูก หรือบางครั้งอาจมีเนื้อเพลงขู่เด็กเพื่อไม่ให้เด็กเกเรและยอมนอน

        1.1.2 เพลงกล่อมเด็กที่มีเนื้อหาไม่เกี่ยวกับเด็ก อาจเป็นการบรรยายสภาพความเป็นอยู่ ระบายความรู้สึกของผู้ร้อง หรือเป็นคติสอนใจ

        1.2 เพลงปลอบเด็ก คือเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องขณะที่หยอกล้อกับเด็ก หรือเพื่อปลอบเด็กขณะร้องไห้ มักเป็นบทร้อยกรองสั้นๆ ง่ายๆ มีจังหวะ ลีลากลมกลืนกับอากัปกิริยาของเด็กและผู้ใหญ่ในเหตุการณ์นั้นๆ

      3. เพลงประกอบการละเล่น
      4. เพลงร้องเล่น เป็นเพลงที่ร้องเพื่อความสนุกสนาน ผู้ใหญ่มักจะสอนให้เด็กร้องเพื่อฝึกฝนทักษะการออกเสียง การพูด หรือการร้องเพลง

2. เพลงผู้ใหญ่ เป็นเพลงที่ผู้ใหญ่ร้องเล่นกันในงานเทศกาล ในพิธีกรรม ในการทำงานร่วมกัน หรือเพื่อความบันเทิงใจ


ที่มา : หนังสืออ้างอิง ธวัช ปุณโณทก. วรรณกรรมท้องถิ่น. กรุงเทพฯ. อักษรเจริญทัศน์, ม.ป.ป.ประคอง เจริญจิตรกรรม. วรรณกรรมท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ. ไทยวัฒนาพานิช, 2536.พรทิพย์ ซังธาดา. วรรณกรรมท้องถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 3 แก้ไขปรับปรุง. กรุงเทพฯ. สุวีริยาสาส์

โดย : นาง อัจฉราวดี แสนสุข, โรงเรียนนนทกิจประชาอุปถัมภ์, วันที่ 2 สิงหาคม 2546