Washington DC เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2548 เวลา 8.30 น. ธนาคารโลก ร่วมกับ Berkman Center for Internet and Society ซึ่งอยู่ที่ Harvard Law School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้จัดแถลงข่าวผลการศึกษาเรื่อง "แผนที่นำทางสำหรับการเข้าสู่ระบบ ICT แบบเปิด" ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ชาวโลก เกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้มาตรฐานเปิด (open standard) และกระบวนการของการพัฒนาด้วยโอเพนซอร์ส ซึ่งการใช้มาตรฐานเปิด จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ นวัตกรรม และการเติบโต ในงานของภาครัฐ ธุรกิจ และผู้ใช้ ICT ทั่วไป ทั้งนี้ วิธีการเข้าสู่ระบบเปิด จะทำให้เรามีทางเลือกที่มากขึ้น เกิดการแข่งขันที่มอบคุณค่าให้แก่ผู้บริโภค และทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ของธุรกิจขแงเราได้ ทั้งนี้ ในรายงานได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่ง ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการเนคเทค เป็นผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทย ที่ได้รับเชิญไปร่วมโครงการกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในครั้งนี้ และได้เข้าร่วมในการแถลงข่าวครั้งนี้ ผ่านทางจอโทรทัศน์ ศาสตราจารย์ชารลส์ เนสสัน ประธานของ Berkman Center ได้กล่าวบรรยายสรุปเกี่ยวกับรายงานนี้ว่า ไม่มีใครสามารถอยู่ได้ในโลกที่เปิดหมด หรืออยู่ในห้องปิดที่อุดอู้ออกไปไหนไม่ได้ แต่โลกที่มีความพอดี ระหว่างการมีอิสระเสรีในโลกเปิด กับการมีบ้าน มีรถ มีพื้นที่ปิดเป็นของส่วนตัว น่าจะเหมาะสมกว่า ดังนั้น สิ่งที่เราควรระมัดระวัง ก็คือ การมีทางเลือกและอิสระ โดยการทราบถึงคุณค่าของระบบเปิด และวิธีการซึ่งจะทำให้เราได้มาซึ่งทางเลือกและอิสรภาพนั่นก็คือ การเข้าใจคุณค่าของระบบเปิด มาตรฐานเปิด และการเลือกใช้ซอฟต์แวร์แลฮาร์ดแวร์จากผู้ใดก็ได้ ที่ตรงตามมาตรฐานเปิด ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ 6 ด้าน กล่าวคือ
1) ต้องไม่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือผูกขาดโดยผู้หนึ่งผู้ใด
2) มีกระบวนการสร้างมาตรฐานที่เปิดเผย โปร่งใส
3) ทำงานได้อิสระบนหลายระบบได้
4) เป็นมาตรฐานที่สามารถหาสเป็คมาอ่านได้ทั่วไป
5) นำมาพัฒนาใช้งานโดยไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาต หรือมีค่าใช้จ่ายน้อยมากๆ และ
6) เป็นมาตรฐานที่ผู้มส่วนร่วมส่วนใหญ่ให้การรับรอง ทั้งนี้ ไม่จำเป็นใดๆที่จะต้องเป็นมาตรฐานที่รัฐบาลรับรอง
รายงานระดับโลกฉบับนี้เน้นว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่เป็น "ระบบนิเวศน์" หรือ Ecosystem ซึ่งรวมถึงผู้ใช้ บริการ ข้อมูล ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และการจัดการ ซึ่งจะต้องติดเป็นระบบ โดยมุ่งเป้าความสำเร็จอยู่ที่ การทำงานร่วมกับระบบอื่นๆได้ การยึดความต้องการของผู้ใช้เป็นหลัก (ไม่ได้ยึดเทคโนโลยี) การทำให้ผู้ใช้ระบบ ICT สามารถสื่อสารถึงกันและทำงานด้วยกันได้สะดวก ความยั่งยืนของระบบงาน และความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน หรือขยายระบบให้รับสถานการณ์ใหม่ๆได้
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล กล่าวว่า แผนที่นำทางเล่มนี้ จะเป็นประโยชน์กับการวางนโยบาย ICT ของหลายประเทศทั่วโลก ที่ต้องการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง และกระบวนการกำหนดนโยบายใช้มาตรฐานเปิด กำหนดโครงสร้างการทำงานร่วมกันระหว่างระบบ (interoperability framework) และจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้ข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานเปิด ซึ่งผู้ชายไม่ "ล๊อค" ลูกค้า และประเทศนั้นๆ สามารถพัฒนาตนเอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งเคล็ดลับต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐานเปิด จากแหล่ง Open Source จนเชี่ยวชาญ แม้แต่ประเทศผู้นำเช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก เยอรมนี หรือจีน ล้วนแล้วแต่ป้องกันค่าโง่โดยมีนโยบายเรื่องมาตรฐานเปิดเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เนคเทค เป็นหน่วยงานที่มีนโยบายสนับสนุนทั้ง Open Standard และ Open Source มาโดยตลอด
รายงานฉบับนี้ จะเผยแพร่ให้กับหลายประเทศ ดังเช่นที่เคยทำมาแล้วกับรายงานที่ผ่านมา ที่ชื่อ "Roadmap for eGovernment in Developing Countries" โดยผู้จัดการโครงการคนเดียวกัน คือคุณเจฟ คาแพลน ซึ่งได้ทำขึ้นเมือปี 2545 โดยมีประเทศไทยเข้าร่วม และเนคเทคก็ได้จัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในโอกาสต่อมา
ทั้งนี้ คาดว่าเนคเทคจะได้รับอนุญาตในการจัดแปลและพิมพ์เป็นภาษาไทย ในโอกาสต่อไป ท่านที่สนใจจะได้รับเอกสารแปลเป็นภาษาไทย โปรดสั่งจองล่วงหน้าได้ที่
สงวนลิขสิทธิ์ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
112 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120
โทร.02-564-6900 ต่อ 2346 - 2355