IT Digest |
Volume 1
No 8 ( |
A biweekly newsletter from NECTEC to information technology
leaders in |
สารสนเทศการแพทย์ ....
เครื่องมือของหมอยุคใหม่
ทุกวันนี้การรักษาพยาบาลมีความก้าวหน้าไปมาก
ความก้าวหน้าทางการรักษาพยาบาลนั้นเกิดขึ้นทั้งเนื่องจากความก้าวหน้าของวิทยาการด้านการแพทย์
รวมไปถึงการผสมผสานการแพทย์กับศาสตร์อื่นๆ
เทคโนโลยีสารสนเทศก็เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ในอดีตดูเหมือนจะเป็นคนละแนวกับการแพทย์
แต่วันนี้มันถูกนำมาผนวกกับการรักษาพยาบาลอย่างกลมกลืน
เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นได้เข้าไปมีบทบาทในด้านการแพทย์ตั้งแต่ระดับง่าย คือ
ช่วยในการบันทึกและจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยและประวัติการรักษา
ไปจนถึงระดับขั้นสูงที่มีความซับซ้อนมากๆ คือ
ช่วยในการวิเคราะห์โรคและเฝ้าสังเกตความผิดปกติของผู้ป่วยและการระบาดของโรค
จุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เข้ามาใช้ในการแพทย์ คือ การบันทึกข้อมูลต่างๆ
เกี่ยวกับการรักษาอยู่ในรูปของไฟล์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และเก็บบันทึกไว้ในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดความผิดพลาดจากการรักษา
จากการสำรวจของ Institute of Medicine ในปี 1993 พบว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของคนอเมริกันราว 7,400 คน
เป็นผลมาจากความผิดพลาดในการรักษา
ซึ่งเกิดจากการที่เภสัชกรไม่สามารถอ่านลายมือของหมอได้ถูกต้อง ทำให้จ่ายยาผิด
ด้วยเหตุนี้ US Department of Health and Human Services จึงพยายามผลักดันให้หมอในสหรัฐฯ
เก็บข้อมูลผู้ป่วยในรูปดิจิทัล
และสั่งจ่ายยาด้วยระบบคอมพิวเตอร์เพื่อลดความผิดพลาดและทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการดีที่ขึ้น
การนำITเข้ามาช่วยในการแพทย์
ทั้งในด้านของการสั่งจ่ายยา เก็บข้อมูลการรักษา และเก็บข้อมูลที่ได้จากห้องแลป
ช่วยให้การผิดพลาดในการักษาพยาบาลลดลงได้มากถึงเกือบร้อยละ 80 ผลดีดังกล่าวเป็นแรงจูงใจประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
(Decision Support System) ระบบช่วยในการตัดสินใจนี้จะช่วยแพทย์ในการวิเคราะห์ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากตัวยาหรือปริมาณของยาที่ผู้ป่วยได้รับ
ด้วยการวิเคราะห์เปรียบเทียบ น้ำหนัก ผลการวิเคราะห์โรค ยารักษาโรคตัวอื่นๆ
ที่ผู้ป่วยได้รับ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับส่วนอื่นๆ เช่น ตับของผู้ป่วย ฯลฯ
นอกจากนั้นระบบนี้ยังมีการเปรียบเทียบข้อมูลการรักษาระหว่างกลุ่มของผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกันได้อีกด้วย
ซึ่งการเปรียบเทียบนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบว่า
ยาชนิดใดมีผลดีที่สุดสำหรับในแต่ละอาการของโรค
ปัจจุบันมีการนำระบบสนับสนุนการตัดสินใจข้างต้นมาช่วยในการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่
(Datamining Technology) เพิ่มขึ้นและในขณะนี้มีบริษัทซอฟต์แวร์หลายแห่งให้ความสนใจและเข้ามาให้บริการในเรื่องนี้
ได้แก่ บริษัท MedMine, Cereplex,
บริษัท Theradoc, และ
บริษัท Vecna Technology เป็นต้น
ซึ่งระบบนี้อาศัยหลักการในการทำงานที่สำคัญ คือ การใช้ datamining
algorithms สำหรับวิเคราะห์หาความผิดปกติ
ซอฟต์แวร์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยในการตัดสินใจของแพทย์แล้ว ยังช่วยในการติดตามผลการรักษาโรคติดต่อ
หรือการก่อการร้ายด้วยชีวภาพได้อีกด้วยสำหรับประเทศไทย การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ
ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computing) หรือระบบฐานข้อมูล
(Database) เข้ามาช่วยในการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ป่วยหรือช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของแพทย์นั้น พบว่ายังมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
หากเปรียบเทียบกับสถานพยาบาลในบางประเทศ อาทิ Mayo Clinic ในสหรัฐฯ, Hadassah
Hospital ในอิสราเอล, หรือ Kobe
General Hospital ในญี่ปุ่น
ส่วนใหญ่ประเทศไทยนำไอทีมาใช้เพื่อการบริหารงานในสถานพยาบาลมากกว่าการนำไอทีมาเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาล
ดังนั้นหากเราต้องการที่จะเป็นศูนย์สุขภาพของเอเชียตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้
หลายฝ่ายคงต้องช่วยกันส่งเสริมและผลักดันอย่างจริงจังในการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในสถานพยาบาลให้มากขึ้น
เพราะนอกจากจะสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของการรักษาของแพทย์ไทยแล้ว
ยังเป็นการปรับปรุงวิธีการให้บริการรักษาพยาบาลที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้โดยตรง
เนื่องจากทุกคนต้องการที่จะได้รับบริการรักษาที่เท่าเทียมกันและได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี
ที่มา: Fighting Inflection with Data. Innovationnews (Oct. 2004). www.technologyreview.com
Diagnosing with Data. www.technologyreview.com/articles/03/12/innovation11203.asp?p=0
"Paperless
Medicine.
(Apr.2003) www.technologyreview.com/articles/03/04/jonietz0403.asp?p=0
เทคโนโลยี RFID: ระบบอัจฉริยะที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
(ตอนที่ 1)
ระบบ Radio Frequency IDentification
: เป็นนวัตกรรมใหม่ที่กำลังเข้ามาแทนที่ระบบบาร์โค้ดแบบเดิมที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี
1970 และเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุเข้ามาช่วยอ่านค่าสินค้าหรือรหัสเฉพาะตัวของสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องนำสินค้านั้นไปแนบติดกับเครื่องอ่านหรืออุปกรณ์อ่านค่าอย่างระบบบาร์โค้ด
และสามารถนำ RFID ไปแปะหรือฝัง (embedded) ไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งของสินค้าได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กมากๆ
จึงสามารถนำไปติดหรือแปะไว้ที่รถขนของ เสื้อผ้า หรืออะไรต่างๆ
ได้สารพัดที่ตามความต้องการของเรา
ในขณะที่ระบบบาร์โค้ดปัจจุบันมีข้อจำกัดที่ต้องเอาสินค้ามาวางที่เครื่องอ่านทีละชิ้นและต้องวางให้ดีๆ
แต่เครื่องอ่านสัญญาณของ RFID สามารถจับการเคลื่อนไหวของสินค้าได้พร้อมๆ
กันหลายๆ ชิ้น รวมทั้งสามารถจับการเคลื่อนไหวนั้นๆ ได้แม้ว่าสินค้าจะอยู่ห่างหรืออยู่ในระยะไกลจากเครื่องอ่านหรือพนักงานของห้าง
ทำให้สามารถอ่านข้อมูลจากตัวป้าย (tag) RFID ได้ครั้งละจำนวนมากๆ
หรืออย่างน้อย 50 ป้ายต่อวินาที
โดยมีระยะที่เหมาะสมในการอ่านป้าย (tag) อยู่ระหว่าง
3 เซนติเมตรถึง 10 เมตร
นอกจากนั้น สามารถนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ทำงานด้านอื่นๆ ได้ เช่น การบริหารคลังสินค้า การควบคุมอุณหภูมิ
การติดตามสินค้าที่หายหรือถูกขโมย การควบคุมอุณหภูมิในช่วงขนส่ง
หรือแม้แต่นำไปใช้ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับมนุษย์ เช่น สถานที่/ห้องที่สกปรกเป็นห้องปิดทึบหรือในอุโมงค์ใต้ดินที่มีอากาศเบาบางหรือไม่มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน
หรือบริเวณ/พื้นที่ที่มีการรั่วของสารเคมีสารพิษในระดับอันตราย
เป็นต้น
RFID เป็นไมโครชิป หรือ
Digital Chip ที่มีขนาดเล็กกว่าเม็ดทรายแต่มีขีดความสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ
ได้จำนวนมาก และมีสายอากาศฝังไว้รอบๆ ชิป
ทำให้สามารถติดต่อประสานงานกับเครือข่ายหรือโอนถ่ายข้อมูลเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลหรือคลังสินค้าได้
ระบบ RFID มีลักษณะคล้ายกับระบบบาร์โค้ดแต่เป็นระบบบาร์โค้ดอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้คลื่นความถี่วิทยุ
ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ ตัวป้าย
(tag) เครื่องอ่านหรืออุปกรณ์อ่านค่า (scanner) เสารับสัญญาณและซอฟต์แวร์ โดยในส่วนข้อมูลของสินค้าจะถูกบันทึกไว้ในชิปขนาดเล็กที่ติดอยู่กับตัวป้าย โดยมีเสารับสัญญาณเล็กๆ
ติดไว้อีกทีหนึ่ง ดังนั้น เมื่อสินค้าที่ติดป้าย
RFID เคลื่อนที่ผ่านเครื่องอ่านหรืออุปกรณ์อ่านค่าในระยะห่างพอประมาณ
ป้ายอัจฉริยะดังกล่าวจะปล่อยสัญญาณที่ระบุข้อมูลที่เป็นรหัสเฉพาะของสินค้านั้นออกมาและเครื่องอ่านหรืออุปกรณ์อ่านค่าจะทำการอ่านและถอดรหัสส่งไปยังหน่วยประมวลผลกลางที่ใช้ในการบริหารระบบควบคุมคลังสินค้า
(supply chain) ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านี้จะปรากฏออกมาให้เห็นได้ทันที
เช่น รหัสสินค้า ราคา สถานที่เก็บสินค้า
จำนวนของสินค้าที่อยู่ในสต็อก เป็นต้น
กระแสความต้องการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในธุรกิจต่างๆ
กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจจำเป็นต้องมองหาโอกาสและริเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ
มาใช้ในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจแบบเก่าๆ ที่ไม่พึ่งเทคโนโลยี
เพื่อเพิ่มโอกาส ตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรักษาและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจด้วย
อาจกล่าวได้ว่า RFID เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาปฏิวัติระบบซัพพลายเชนทั่วโลก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านร้านค้าปลีกและผู้ผลิต และขณะนี้
วอล-มาร์ท ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกรายใหญ่ของโลกได้ริเริ่มนำเทคโนโลยี
RFID มาใช้ และประกาศว่าจะเริ่มใช้จริงในปีหน้า (เดือนมกราคม 2548) ซี่งการเคลื่อนไหวของ วอล-มาร์ท ครั้งนี้มีผลให้ผู้ผลิตที่ต้องส่งสินค้าไปวางขายกับวอล-มาร์ทตื่นตัวและเตรียมตัวพัฒนาเทคโนโลยี RFID เพื่อรองรับการนำระบบอัจฉริยะ
RFID มาใช้มากขึ้น จากปัจจัยที่กล่าวมา คาดการณ์ว่าภายในปี
2551 ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี RFID จะมีมูลค่าการใช้รวมทั่วโลกถึง
124,000 ล้านบาท ส่วนของการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในกลุ่มธุรกิจใด และมีประเทศใดบ้างที่นำเทคโนโลยีนี้มาใช้
จะนำเสนอในโอกาสต่อไป
ที่มา: https://www.rfidinsights.com/opinions/showArticle.ihtml?articleId=46800125
https://en.wikipedia.org/wiki/RFID
https://www.bangkokbiznews.com
ความเคลื่อนไหวของผู้ใช้ที่ต้องการใช้ระบบเครือข่ายไร้สายที่สามารถเชื่อมต่อได้ง่ายขึ้นและมีความเร็วสูง
รวมทั้งรองรับการให้บริการที่หลากหลายและนำไปใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา ก่อให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูง
(3G :Third Generation Mobile Systems)และสร้างวิทยาการใหม่ๆ
ที่รองรับการสื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงกับอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ
ผ่านทางเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งมีการทำงานที่ประสานกันมากขึ้น
ทำให้สื่อสารถึงกันได้อย่างไร้ขอบเขต และใช้เทคโนโลยีมีความเร็วสูง สามารถรองรับการให้บริการ
Multimedia ได้อย่างเต็มรูปแบบผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เช่น
ใช้ถ่ายรูป ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ รับส่งอีเมล์ รับสายหรือโทรออกได้พร้อมกัน
ดังนั้น
ความพร้อมของอุปกรณ์สื่อสารและระบบเครือข่ายที่รองรับการการบริการในยุค 3G นี้จึงมีความสำคัญและควรติดตามความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับโทรศัพท์เร่งพัฒนาระบบการสื่อสารบนเครือข่ายไร้สายให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุค
3G ในส่วนของผู้ผลิตเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็เตรียมความพร้อมด้วยการพัฒนาโทรศัพท์เครื่องที่ให้มีคุณสมบัติพิเศษที่รองรับการทำงานในหลายๆ
ด้านที่มีลักษณะของการบริการที่หลากหลายแบบ Multimedia ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
เริ่มจากต้นปี 2547 ที่ผ่านมา ทางบริษัท
อินเทล คอร์ปอเรชั่น
ได้เคยเปิดตัวโครงการพัฒนาชิปทีวีระบบดิจิทัล
ซึ่งใช้เทคโนโลยี Crystal เหลวบนแผ่นซิลิคอน
หรือ LCoS (Liquid Crystal on Silicon) โดยการผนวกฟังชั่นของการแสดงผลภาพในอุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์เข้ากับระบบอิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์และนำมาติดตั้งลงบนซิลิคอน
อุปกรณ์นี้จะเปลี่ยนโฉมโทรศัพท์เครื่องที่แบบเดิมให้สามารถรับสัญญารภาพทีวีที่มีความคมชัดสูง โดยคาดว่าจะเปิดตัวชิปนี้ได้ในปลายปี 2547 และวางแผนที่จะเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์ไร้สายที่บุกตลาดทีวีดิจิตอล
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัท อินเทลฯ ได้ประกาศยุติโครงการนี้
ด้วยเหตุผลของต้นทุนที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาไม่คุ้มค่ากับรายได้หรือผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนั้น นักวิเคราะห์ยังพบว่า ยังมีปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ
บริษัทขาดความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านเทคนิคในการรวม Crystal และแก้วสีไว้บนตัวทรานซิสเตอร์
แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้ทำให้ความสนใจของผู้ประกอบธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายชะงักการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารบนเครือข่ายไร้สาย
และลดแผนการผลักดันโครงการพัฒนาอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีการสื่อสารความเร็วสูงไป
ผู้ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสารไร้สายหลายรายกลับมองว่า
เทคโนโลยีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดโอกาสและเพิ่มทางเลือกทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งของผู้ใช้และผู้ผลิต
และเป็นเทคโนโลยีที่ท้าทายความสามารถเป็นอย่างมาก เช่น บริษัท เท็กซัส
อินสทรูเมนท์ส หรือ ทีไอ
ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาชิปในชื่อ ฮอลลีวู้ด เพื่อช่วยให้โทรศัพท์เคลื่อนที่สามรถรับสัญญาณภาพจากทีวีระบบดิจิตอลได้นับร้อยสถานี
เช่นเดียวกับสัญญาณทีวีตามบ้านที่รับอยู่ และคาดว่าจะวางตลาดได้ในปี 2550 และบริษัท
ควอลคอมม์ ได้เริ่มพัฒนาชิปที่ช่วยให้โทรศัพท์เคลื่อนที่รับสัญญาณทีวีดิจิตอลได้เช่นกัน
ในขณะที่บริษัท เอสเค เทเลคอม
ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมของเกาหลีใต้ได้เริ่มทดสอบบริการส่งสัญญาณทีวีให้กับมือถือผ่านเครือข่ายที่ใช้งานของบริษัท
ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีการสื่อสารบนเครือข่ายไร้สายความเร็วสูงนี้จะน่าสนใจและมีแนวคิดมาจากความต้องการของผู้ใช้
แต่ก็ไม่ได้มีอะไรยืนยันว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อเพียงใด
รวมทั้งค่าบริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังไม่มีการกำหนดอัตราที่ชัดเจนไว้
และที่สำคัญการพัฒนาอุปกรณ์เสริมบางอย่าง เช่น แบตเตอรี่ ฯลฯ
ก็ต้องพัฒนาคุณภาพให้สามารถรองรับการทำงานที่หลากหลายด้วย จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปถึงความก้าวล้ำในเชิงเทคโนโลยีและความสามารถในการสร้างตลาดและการยอมรับของพฤติกรรมผู้บริโภค
ที่มา:
https://focus.ti.com/docs/pr/pressrelease.jhtml?prelId=sc04226
https://www.reuters.com/newsArticle.jhtml?type=topNews&storyID=6572608
https://www.reuters.com/newsArticle.jhtml?type=topNews&storyID=6576456
IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์ https://digest.nectec.or.th/
(อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์ แจ่มชัดใจ,
พรรณี
พนิตประชา, อภิญญา กมลสุข และ จินตนา
พัฒนาธรชัย
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค