IT Digest |
Volume 1
No 7 ( |
A biweekly newsletter from NECTEC to information technology
leaders in |
โทรศัพท์ 3G
รุกตลาด
เมื่อ 5 - 6 ปีที่ผ่านมา โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เราแค่เพียงใช้ในการรับ-ส่งเสียงเท่านั้น แต่ในวันนี้ โทรศัพท์มือถือช่วยให้เราสามารถรับ-ส่งได้ทั้งข้อมูล แสดงภาพ ดาวน์โหลดเพลงหรือหนัง หรือแม้กระทั่งสามารถใช้บอกตำแหน่งต่างๆ ของรถยนต์ หรือสัตว์เลี้ยงของเราได้อีกด้วย
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหนึ่งที่เข้ามารองรับโทรศัพท์มือถือในยุคใหม่นี้ คือเทคโนโลยี 3G (Third Generation) เทคโนโลยีในยุค 3G หรือเทคโนโลยีของบรอดแบนด์ไร้สาย เช่น W-CDMA (Wideband-CDMA) ช่วยให้โทรศัพท์ของเราสามารถรับส่งข้อมูลจำนวนมากและด้วยความเร็วสูงสุดถึง 2 เมกะบิตต่อวินาที
สำหรับโทรศัพท์ในระบบ 3G นั้น เริ่มแพร่หลายครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เมื่อปลายปี 2544 อย่างไรก็ดี และขณะนี้โทรศัพท์ในระบบ 3G กำลังรุกเข้าไปในประเทศแถบยุโรป และประเทศสหรัฐฯ เช่นกัน ล่าสุดบริษัทผู้ให้บริการสื่อสารรายใหญ่ๆ ในประเทศสหรัฐฯ เช่น AT&T, Verizon, Cingular, และ Sprint ได้เริ่มเข้ามาให้บริการโทรศัพท์ระบบ 3G ในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ กันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ FCC (Federal Communications Commission) ของสหรัฐฯ ยังประกาศเมื่อกลางเดือนกันยายน 2547 นี้ว่า มีแผนที่จะจัดสรรคลื่นความถี่เพิ่มอีก 20 เมกะเฮิร์ทสำหรับบริการ 3G
การขยายตัวของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G นับว่าน่าจับตามอง จากการศึกษาของ IDC แสดงให้เห็นแนวโน้มการเติบโตของโทรศัพท์ในระบบ 3G โดยแสดงให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานในระบบ 2.5G และ 3G ทั่วโลกจะเพิ่มจากปีละ 38.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2545 เป็นปีละ 49 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2550 (อ้างอิงจาก: 802.11 vs 3G)
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจของ Deutsche Bank ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อต้นปีนี้ (2547) ผู้ให้บริการเครือข่ายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ในเชิงพาณิชย์ทั่วโลกมีอยู่ 16 ราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 60 รายในปลายปี นอกจากนี้ในการสำรวจเดียวกันยังแสดงให้เห็นสัดส่วนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในระบบ 3G ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยคาดว่าในปี 2551 สัดส่วนของจำนวนโทรศัพท์ในระบบ 2.5G และ 3G ทั่วโลกจะมี่จำนวนกว่า 6 ล้านเครื่อง (ดังรูป) ( อ้างอิงจาก: Vision, meet reality)
อย่างไรก็ดี แรงกดดันบางประการที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ในระบบ 3G ประสบอยู่ในขณะนี้คือ ต้นทุนของการให้บริการยังค่อนข้างแพง เนื่องจากต้องลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สามารถรองรับมาตรฐานที่มีมากกว่า 1 มาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยีวายฟาย (WiFi) และวายแมกซ์ (WiMax) ซึ่งเป็นระบบสื่อสารไร้สายความเร็วสูงอีกแบบซึ่งอ้างอิงระบบมาตรฐาน IEEE 802.11 ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น บริษัทอินเทล และบริษัทนอร์เทล อีกทั้งยังมีการแข่งขันจากผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed line) ที่เริ่มนำเทคโนโลยี VoIP (Voice over IP) เข้ามาใช้ เพื่อตัดราคาการให้บริการให้ถูกลงอีกด้วย
บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ในระบบ 3G ทั้งหลายกำลังหาทางออกโดยเน้นกลยุทธ์การเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มเพื่อให้บริการ ตัวอย่างเช่น ในประเทศเกาหลีใต้ บริษัท KTF เปิดให้บริการที่เรียกว่า Bigi Kiri สำหรับเด็กอายุ 13-18 ปี โดยเน้นบริการรับ-ส่งข้อมูลแบบไม่จำกัดระหว่างผู้ใช้บริการในระบบ ส่วนบริษัท Drama ก็มุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มผู้หญิง เ้ป็นต้น นอกจากกลยุทธ์การเน้นบริการสำหรับกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีกลยุทธ์การเน้นรูปแบบของการบริการที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่น บางบริษัทเน้นให้บริการด้านวีดีโอ เกมส์ หรือ การให้ข้อมูลจราจร เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือถือว่าอยู่ในระบบ 2.5G (2.5 Generation) และกำลังจะก้าวไปสู่ 3G การวิจัยและพัฒนาจากหลายหน่วยงาน รวมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ๆ เช่น AIS ก็เริ่มให้ความสนใจ โดยคาดว่า ถ้ามี กทช. แล้ว ปี 2549 นั้น 3G จะมาแน่ เพราะถ้าปี 2547 ตั้ง กทช. ได้ กทช. คงออกไปอนุญาตใหม่ได้ปี 2548 ปีถัดไปก็จะขึ้น 3G (อ้างอิงจาก: บุญคลี ปลั่งศิริ พูดถึง Next Move ฯ) อย่างไรก็ดี ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากำลังจะก้าวไปสู่ยุค 3G ประเทศผู้นำในด้านนี้ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เริ่มพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีในยุค 4G แล้ว จึงคาดได้ว่าเทคโนโลยีด้านโทรศัพท์มือถือนั้นคงไม่หยุดนิ่งที่ 3G แน่นอน ดังนั้นประเทศไทยคงต้องจับตามองทิศทางในอนาคตด้วยเพื่อประกอบการตัดสินใจสำหรับแนวทางที่จะก้าวต่อไป
ที่มา: Vision, meet reality.(
3G, American Style. (
802.11 vs 3G (
บุญคลี ปลั่งศิริ
พูดถึง Next Move ชินคอร์ป กับ 3G-บรอดแบนด์ และ กทช. ประชาชาติธุรกิจ (19 สค.47)
ค้นพบช่องโหว่ใหม่ในอัลกอริทึ่ม (Algorithm) เกี่ยวกับความปลอดภัย
นักวิจัยจากประเทศจีน และประเทศฝรั่งเศสได้ค้นพบช่องโหว่ หรือจุดอ่อนในวิธีการย่อยข้อมูล (Hash Algorithm) ที่ได้รับนิยมอย่างมาก ได้แก่ MD5 ซึ่งเป็นวิธีการที่สำคัญส่วนหนึ่งในกระบวนการสร้างลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ทั้งนี้ผู้บุกรุก (Intruder) สามารถจะใช้ช่องโหว่ดังกล่าวในการเพิ่ม Back door ของคอมพิวเตอร์โค้ด หรือการปลอมแปลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
นอกจากนี้ Eli Biham และ Rafi Chen นักวิจัยจากประเทศอิสราเอล ยังได้ค้นพบช่องโหว่เพิ่มเติมในวิธีการย่อยข้อมูลแบบ SHA-1 หรือ Secure Hash Algorithm ซึ่งเป็น Algorithm ที่ถือว่ามีความปลอดภัยสูง เนื่องจากผลของการย่อยข้อมูลด้วยวิธีการ SHA-1 นั้นมีความยาว 160 บิต เมื่อเทียบกับความยาว 128 บิต ที่ได้จาก MD5 ปัจจุบัน SHA-1 ถูกนำไปใช้งานในโปรแกรม PGP และโปรโตคอล SSL เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล และได้รับการรับรองจาก National Institute of Standards and Technology ว่าเป็นวิธีการเดียวที่ใช้เป็นมาตรฐานสำหรับลายมือชื่อดิจิทัลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
ทั้ง MD5 และ SHA-1 สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้กับข้อมูลที่ถูกป้อน (Input) ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ข้อความ e-mail ไปจนถึง operating-system kernel source code โดยให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ (output) เป็น fingerprint ที่มีความเป็นพิเศษคือมีความเป็นหนึ่งเดียว (uniqueness) กล่าวคือการเปลี่ยนแปลงอักษรเพียงแค่ 1 อักษรในส่วน Input จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ fingerprint ที่แตกต่างกัน
การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีความปลอดภัย ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับ unique fingerprint เหล่านี้ ดังนั้นหากผู้บุกรุกที่มุ่งร้ายสามารถสร้าง fingerprint ที่เหมือนกันโดยใช้ input ที่แตกต่างกันได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า โคลน fingerprint ได้ จะทำให้เกิดปัญหา hash collision ขึ้น ทำให้วิธีการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่อาศัยความเป็นหนึ่งเดียวของ fingerprint ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ทำให้ไม่สามารถยืนยันความครบถ้วนแท้จริงของซอฟต์แวร์สำหรับ download ด้วย fingerprint ของซอฟต์แวร์นั้นได้ หรือ เป็นการเพิ่มโอกาสให้บุคคลที่ฉ้อโกงสามารถเขียน e-mail เพื่อจะแจ้งความจำนงค์ในการขอปิดบัญชีของเจ้าของบัญชีได้โดยใช้ลายมือชื่อดิจิทัลปลอม (โดยส่วนใหญ่แล้วซอฟต์แวร์แบบ open source จะใช้ MD5 เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนแท้จริงของ source code ที่เก็บไว้ที่ mirror site)
อย่างไรก็ดีช่องโหว่ที่พบใน MD5 น่าจะเป็นสิ่งที่นักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์ทุกท่านน่าจต้องคำนึงถึงในการวิจัยและพัฒนาต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากช่องโหว่ที่พบใน MD5จะทำให้ผู้บุกรุกสามารถสร้าง hash collision ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกันทั่วไป
(ในคราวหน้าเราคงจะมาพูดถึงการทำงานของ Hash Function กันโดยละเอียด)
ที่มา: Crypto researchers abuzz over flaws https://zdnet.com.com/2102-1105_2-5313655.html
Cryptographers Find New Weakness in Common Security Algorithms https://technologyreview.com/blog/blog.asp?blogID=1531&trk=nl
Crypto 2004 Conference https://www.iacr.org/conferences/crypto2004/
ความสำเร็จของเทคโนโลยี DSL ของผู้ใช้บรอดแบนด์โลก
ด้วยกระแสความนิยมในการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ของทั่วโลก จากการรายงานผลสำรวจของ DSL Forum ล่าสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บรอดแบนด์ทั่วโลกอยู่ประมาณ 123 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้ใช้งานด้วยเทคโนโลยี DSL (Digital Subscriber Line) สูงมากถึง 78 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้นจากรอบปีที่ผ่านมาถึง 30 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 62 โดยที่อัตราการเติบโตของบรอดแบนด์รวมอยู่ที่ร้อยละ 55 จึงนับเป็นความสำเร็จอย่างสูงที่ผู้ใช้ทั่วโลกได้ให้ความนิยมในเทคโนโลยีนี้สูงกว่าเทคโนโลยีบรอดแบนด์อื่นๆ เช่น เคเบิ้ล ดาวเทียม หรือเทคโนโลยีอื่นๆ
เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของเทคโนโลยี DSL ตามภูมิภาคแล้ว พบว่า ภูมิภาคเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกนับเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือ ร้อยละ 110 ตามมาด้วยภูมิภาคแอฟริกาและตะวันออกกลาง และภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 107 และร้อยละ 104 ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอัตราการเข้าถึง หรือ DSL Penetration (DSL/100 Phone Lines) แล้ว พบว่า ประเทศเกาหลีใต้มีอัตราการเข้าถึงสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 28.7 ของผู้ใช้โทรศัพท์พื้นฐานที่มีการใช้ DSL รองลงมาคือ ประเทศไต้หวัน ร้อยละ 20.8 และฮ่องกง ร้อยละ 19.6 และในแง่ของการพิจารณาถึงจำนวนผู้ใช้งาน DSL แล้ว ประเทศจีน(ไม่รวมฮ่องกง) มีจำนวนผู้ใช้เทคโนโลยีนี้มากที่สุดถึง 12.7 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 7 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 119.4 โดยรองลงมาได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น 12 ล้านคน สหรัฐอเมริกา 11.4 ล้านคน เกาหลีใต้ 6.7 ล้านคน และเยอรมนี 5 ล้านคน
สถิติการขยายตัวดังกล่าว ทำให้ DSL Forum เชื่อมั่นถึงการเติบโตและความสำเร็จที่งดงามของเทคโนโลยีนี้ เพราะด้วยประสิทธิภาพ ความเชื่อถือได้และประโยชน์ที่ได้รับ ได้ตอกย้ำให้เห็นแล้วว่า โลกกำลังเข้าสู่ทศวรรษแห่ง DSL อย่างไม่ต้องสงสัยเลย
สำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในปัจจุบัน นิยมใช้เทคโนโลยี 3 ประเภทหลัก คือ สายโทรศัพท์ สายเคเบิ้ล และดาวเทียม โดยสายโทรศัพท์จัดเป็นสายสัญญาณที่คนไทยใช้ในการเชื่อมต่อ ทั้งนี้รูปแบบที่นิยมใช้มากสุดคือ ใช้ระบบ DSL ซึ่งเป็นการรับส่งข้อมูลที่มีความเร็วสูง ด้วยย่านความถี่ที่สูงที่ไม่มีการใช้งานอยู่ในระบบโทรศัพท์ ทำให้สามารถใช้โทรศัพท์ไปพร้อมกับเล่นอินเทอร์เน็ตได้ และผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องหมุนโทรศัพท์ในการต่อเข้าไปยังผู้ให้บริการ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา คือ พร้อมใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา: https://www.dslforum.org/PressRoom/news_9.22.2004_US.html
https://news.com.com/China+leads+in+worldwide+DSL+market/2100-1034_3-5171313.html
IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์ https://digest.nectec.or.th/
(อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์ แจ่มชัดใจ,
พรรณี
พนิตประชา, อภิญญา กมลสุข และ จินตนา
พัฒนาธรชัย
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค