IT Digest |
Volume 1 No 6 ( |
A biweekly newsletter from NECTEC
to information technology leaders in |
ดูอัล-คอร์ อนาคตของ อินเทล
"ดูอัลคอร์" (Dual-core) หรือ "มัลติคอร์" (Multicore)
เป็นเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคู่ขนาน โดยการอาศัยหน่วยประมวลผลอิเล็กทรอนิกส์หลายตัว
มาคำนวณปัญหาที่ซับซ้อนร่วมกัน ซึ่งพัฒนาการล่าสุดของเทคโนโลยีดังกล่าว
คือการสร้างชิปที่มีกำลังประมวลผล เทียบเท่าไมโครโพรเซสเซอร์ 2 ตัวขึ้นไป
อินเทล ได้พยายามที่จะทำให้ แพ็คเก็จชิป มีสมรรถนะในการทำงานดีกว่าทำงานแบบแยกส่วนกัน
รวมทั้งทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
โดยได้เล็งเห็นผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำตลาดแพ็คเก็จชิป
เหมือนอย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในเทคโนโลยีเซนทริโน (Centrino) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในโน้ตบุ๊ค
นายพอล โอเทลลินี
กรรมการผู้จัดการของอินเทล
ได้กล่าวถึงเป้าหมายถัดไปของบริษัทฯ ในงานสัมมนานักพัฒนาของอินเทลซึ่งจัดขึ้นที่เมืองซานตา คลาร่า แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2547 ที่ผ่านมาว่า
เป้าหมายของบริษัทจะอยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปตามบ้าน ซึ่งบริษัทจะเปลี่ยนรูปแบบของคอมพิวเตอร์จากเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตมาสู่ความเป็นศูนย์รวมความบันเทิงภายในบ้าน
ที่มีทั้งความเร็วและรูปแบบการทำงานใหม่ๆ
บริษัทเชื่อว่าในอนาคตชิปดูอัลคอร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการประมวลผลแบบคู่ขนาน
(parallel computing) และมีฟังก์ชันเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย "วายแม็กซ์" (WiMax) จะกลายเป็นกลยุทธ์หลักสำหรับการทำตลาดชิปในอนาคตของบริษัท
โดยที่บริษัทได้ยกเลิกแผนการพัฒนาที่จะเพิ่มความเร็วการประมวลผลรอบเข็มนาฬิกาในชิปรุ่น Pentium 4 ลง พร้อมกันนี้ นายพอล
ได้นำแผ่นเวเฟอร์ที่ประกอบด้วยหน่วยประมวลผลแบบดูอัลคอร์มาโชว์ภายในงานด้วย
ในช่วงปี 2548 อินเทลจะเปิดตัวและวางจำหน่ายชิปดูอัลคอร์ สำหรับคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) เดสก์ทอป และโน๊ตบุ๊ค โดยคาดว่าในปี 2549 จะมีชิปประเภทนี้ในตลาด 50% ของชิปทั้งหมด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะถูกออกแบบมาเพื่อรองรับชิปประเภทนี้มากขึ้น โดย ดูอัลคอร์
จะเป็นเครื่องเพิ่มสมรรถนะของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยทำให้สามารถทำงานหลายๆ
อย่างได้ในเวลาเดียวกัน เช่น ดูวีดีโอไปพร้อมๆ กับการท่องเว็ปไซต์ ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2549 ชิปเดสก์ทอปที่บริษัทจะนำออกวางจำหน่าย จะเป็นผลิตภัณฑ์ดูอัลคอร์อย่างน้อย
40% ขณะที่ชิปสำหรับคอมพิวเตอร์แม่ข่ายจะใช้เทคโนโลยีดังกล่าวประมาณ 85% และชิปสำหรับโน๊ตบุ๊คประมาณ
70% นอกจากนี้
บริษัทได้วางแผนเอาไว้ว่าในปี 2549
เป็นต้นไปจะติดตั้งฟังก์ชันเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สาย "วายแม็กซ์" ลงในชิปโน้ตบุ๊ค
ซึ่งปัจจุบันวางจำหน่ายภายใต้ชื่อ Centrino
โดยเชื่อว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการติดตั้งจุดเชื่อมต่อวายแม็กซ์ครอบคลุมมากขึ้นแล้ว
ที่มา : https://news.com.com/For+Intel%2C+the+future+has+two+cores/2100-1006_3-5349121.html?tag=default
สปายแวร์เป็นโปรแกรมประเภทหนึ่งที่เกาะติดไปกับโปรแกรม ข้อมูล
เพลงที่ดาวน์โหลดฟรีตามเว็บไซต์ต่างๆ และแถมมากับโปรแกรมอื่นๆ ซึ่งหากมีพฤติกรรมในการลงโปรแกรมโดยไม่ได้อ่านรายละเอียดให้ดีก็จะมีโปรแกรมพวกนี้แถมลงไปด้วย
บางครั้งการค้นหาข้อมูลผ่านทางอินเทอร์เน็ตอาจทำให้เกิดช่องทางหรือทิ้งร่องรอยให้สปายแวร์ถูกติดตั้งลงเครื่องทันทีโดยผู้ใช้หรือเจ้าของไม่รู้ตัว
เช่น ขณะค้นหาข้อมูลอยู่เกิดการเปิดหน้าเว็บไซต์ที่โฆษณาขึ้นมา ทั้งๆ ที่ไม่ได้ต้องการดูโฆษณานั้นๆ
และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาที่เกิดกับคอมพิวเตอร์ที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สปายแวร์ที่ถูกติดตั้งลงไปในเครื่องนอกจากจะเป็นสาเหตุให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานช้าลงหรือหยุดชะงักแล้ว
บางครั้งยังทำหน้าที่เฝ้าดูการทำงานของเครื่อง
ล้วงข้อมูลส่วนบุคคลและสามารถดึงเอาพฤติกรรมการใช้งานของผู้เป็นเจ้าของเครื่องหรือผู้ใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
เช่น ขโมยรหัสผ่านบัญชีเงินฝาก
หมายเลขบัตรเครดิตหรือหมายเลขบัตรประชาชนของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ออกไปยังคนภายนอก สปายแวร์ไม่เหมือนกับไวรัสคอมพิวเตอร์
ดังนั้น แม้เครื่องคอมพิวเตอร์จะถูกติดตั้งโปรแกรมสปายแวร์ไปแล้ว ผู้ใช้หรือเจ้าของก็จะไม่ทราบ เนื่องจากสปายแวร์ไม่ได้ทำให้ระบบปฏิบัติการหรือแอพพลิเคชั่นเสียหายแต่สามารถทำให้เกิดความรำคาญและสร้างปัญหาได้หากสปายแวร์เข้าไปล้วงความลับและนำข้อมูลต่างๆ
ของผู้ใช้ออกไปยังคนนอก
จากการสำรวจในกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศสหรัฐอเมริกา
พบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ประมาณร้อยละ 91
ถูกติดตั้งโปรแกรมสปายแวร์โดยไม่รู้ตัว และจากการสำรวจเรื่องสปายแวร์ของเอ็นซีซีกรุ๊ป
ประเทศอังกฤษ พบว่ามีโบรกเกอร์ด้านการลงทุนแห่งหนึ่งต้องสูญเสียเงินมากกว่า
22,700 ยูโรเมื่อได้ติดตั้งโปรแกรมด้านการวิเคราะห์การตลาด
ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสบายแวร์ที่นำรายละเอียดบัญชีของเขาออกไปให้กับบุคคลภายนอก
ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ด้านการรักษาความปลอดภัย ระบุว่ามีโปรแกรมมากกว่า 75,000
โปรแกรมที่เป็นสปายแวร์
โดยโปรแกรมเหล่านี้สามารถดึงข้อมูลส่วนบุคคลออกไปให้บุคคลภายนอกได้ สำหรับผลเสียหายของสปายแวร์อาจจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับโปรแกรมสปายแวร์ที่ถูกติดตั้งมาไว้ในเครื่อง
ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีใครสามารถระบุความเสียหายที่มาจากสปายแวร์ได้อย่างชัดเจน
วิธีตรวจสอบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้รับการติดตั้งสปายแวร์หรือไม่นั้น
ผู้ใช้สามารถสังเกตได้จากบราวเซอร์อินเทอร์เน็ตว่ามีเมนูคำสั่งต่างๆ
เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
หรือสังเกตจากขณะเข้าเว็บไซต์ที่ต้องการแต่กลับไปอีกเว็บไซต์หนึ่งซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายสินค้า
หรือมีเว็บไซต์ที่เป็นโฆษณาขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา
ส่วนวิธีการป้องกันโปรแกรมดังกล่าวนั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ควรดาวน์โหลดโปรแกรมจากอินเทอร์เน็ตแปลกๆ
มาลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้น
ยังควรติดตั้งเครื่องมือในการตรวจสอบหรือค้นหาและกำจัดสปายแวร์
เช่น Ad-Aware, Spybot Search & Destroy และ SpySweeper สำหรับโปรแกรม Ad-Aware สามารถดาวน์โหลดได้ที่ URL: https://www.lavasoft.de
สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Microsoft ก็เริ่มสนใจที่จะเข้าสู่ตลาดซอฟต์แวร์ที่ป้องกันการโจมตีหรือคุกคามจากหนอนคอมพิวเตอร์ ไวรัส และสปายแวร์แล้วเช่นกัน โดยล่าสุดเมื่อเดือนสิิงหาคม
2547 ไมโครซอฟท์ออกผลิตภัณฑ์แอนตี้ไวรัส Windows
XP Service Pack 2 หรือ SP 2 โดยมุ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงและเตือนภัยก่อนที่ระบบคอมพิวเตอร์จะถูกโจมตีหรือถูกคุกคาม แต่อย่างไรก็ตาม SP 2
นี้ยังมีข้อบกพร่องบางประการ (Bugs) เนื่องจาก
SP 2 นั้นอาจไม่สามารถทำงานร่วมกับโปรแกรมบางประเภทได้
(Compatibility problems)
ที่มา : https://www.informationweek.com/story/showArticle.jhtml?articleID=46800035
https://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9470000029503
https://washingtonpost.com
ความน่าสนใจของ ENUM
นับจากที่นาย Patrik Falstorm
วิศวกรชาวสวีเดนจากบริษัท Cisco Systems, Inc ได้นำเสนอระบบมาตรฐานใหม่ของเทคโนโลยีการสื่อสารในชื่อ
Electronic Numbering System หรือ ENUM
โดยพัฒนาโปรโทคอลที่นำหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันมาผสานเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
และได้รับการอนุมัติจาก IETF หรือ Internet
Engineering Task Force เมื่อปี 2000
ขณะนี้ หลายๆ ประเทศได้มีการเคลื่อนไหวและเริ่มทดลองใช้
โดยประเทศที่จริงจังกับเรื่องนี้ที่เด่นชัด คือ ญี่ปุ่น ซึ่งได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ ETJP
(ENUM Trial Japan) ขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2546
เพื่อศึกษาและทดลองการนำเทคโนโลยี ENUM มาใช้ในประเทศ โดยทาง ETJP
ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้น 2 ชุด คือ คณะทำงานด้าน Domain Name System
(DNS) และคณะทำงานด้านสิทธิและความปลอดภัย ทั้งนี้ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3
ระยะ โดยคาดจะใช้เวลาทั้งสิ้น 1 ปี
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ได้มีการเปิดตัวโครงการความร่วมมือในชื่อ
ENUM เป็นการรวมหมายเลขโทรศัพท์กับไอพีแอดเดรส
โดยอาศัยหลักเกณฑ์สถาปัตยกรรมเดียวกันกับระบบชื่อโดเมนเนม
(Domain Name System- DNS) ในการเชื่อมโยงหมายเลขโทรศัพท์ให้เป็นโดเมนเนมแอดเดรส
ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น
และหากโครงการนี้ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ ENUM ก็จะรวมเครือข่ายไอที หรือ IP
Network และเครือข่ายโทรศัพท์ PSTN (Public Switched Telephone Network) เข้าด้วยกัน
ซึ่งส่งผลให้ผู้ใช้สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นบนอินเทอร์เน็ตผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ได้
ทั้งนี้ หมายเลขโทรศัพท์จะถูกแปลงออกเป็นไอพีแอดเดรสในขั้นตอนต่างๆ คือ การเพิ่มรหัสพื้นที่และรหัสประเทศลงไป จากนั้นจะลบเครื่องหมายอื่นๆ
และช่องว่างออก
และจัดเรียงตัวเลขใหม่จากหลังมาหน้า
และใส่เครื่องหมายจุดระหว่างตัวเลขแต่ละตัว และสุดท้ายคือ เติมคำว่า e164.arpa
ลงในตอนท้าย ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือหมายเลข (+44)07879
999999 จะถูกแปลงเป็น
9.9.9.9.9.9.9.7.8.7.4.4.e164.arpa
ซึ่งผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสามารถติดต่อมายังหมายเลข ENUM นี้ ในหลายหลากวิธี คือ สามารถใช้ได้ทั้งบริการอีเมล์ บริการส่งข้อความอื่นๆ หรือส่งเป็นเสียง การเข้าสู่เว็บเพจ
หรือจะใช้เป็นโทรศัพท์ธรรมดา
รวมไปถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตแอพพลิเคชั่นในการฟังเพลงออนไลน์ด้วยโทรศัพท์
อย่างไรก็ดี
ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาในแง่ของผู้บริโภค คือ ความสามารถในการอัปเดทหมายเลข
ENUM ของตัวเองหรือปัญหาของการส่งสแปมเมล์ซึ่งอาจใช้ช่องทางหมายเลข
ENUM โดยยังไม่มีมาตรการป้องกันที่ชัดเจนในเรื่องนี้
แต่ทั้งนี้ บริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ทางด้านโทรคมนาคม เช่น AT&T, Nortel, Cisco และ Lucent ต่างขานรับเทคโนโลยีนี้โดยพัฒนาอุปกรณ์และบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ENUM
ออกสู่ตลาดโดยทั่วหน้าแล้ว และจากการที่หลายๆ
ประเทศให้ความสนใจและตื่นตัวโดยมีการผลักดันเรื่องนี้ออกมาอย่างชัดเจน
จึงนับเป็นอีกเทคโนโลยีที่เราควรติดตามและให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด
ที่มา : https://neasia.nikkeibp.com/wcs/leaf/CID/onair/asabt/intvw/326011
https://news.zdnet.co.uk/communications/networks/0,39020345,39164222,00.htm
IT Digest เป็นวารสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำขึ้นเผยแพร่โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
หากท่านสนใจเป็นสมาชิก หรืออ่านบทความย้อนหลัง โปรดติดต่อเราได้ที่เว็บไซต์ https://digest.nectec.or.th/
(อยู่ระหว่างจัดทำ)
ที่ปรึกษา: ทวีศักดิ์ กออนันตกูล
และ ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล บรรณาธิการบริหาร: กัลยา อุดมวิทิต
กองบรรณาธิการ: ถวิดา มิตรพันธ์, รัชราพร นีรนาทรังสรรค์, จิราภรณ์
แจ่มชัดใจ, พรรณี
พนิตประชา, อภิญญา กมลสุข และ จินตนา พัฒนาธรชัย
สงวนลิขสิทธิ์ (c) 2547 โดยเนคเทค