โดย…ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

          เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีเปิด "อุทยานไอซีทีแห่งพม่า" ( Myanmar ICT Park )
ที่เมืองย่างกุ้ง ใกล้ ๆ เรานี่เอง

          อุทยานไอซีที ( Information & Communications Technology ) แห่งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากผู้นำพม่า
คือ นายพลขิ่นยุ้น ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 30 เอเคอร์ ในใจกลางมหาวิทยาลัยย่างกุ้งที่น่าอัศจรรย์ 2 ประการ คือ สร้างเสร็จภายใน
10 เดือน และมีวิธีลงทุนแบบแยบยลเสียด้วย คือ รัฐบาลให้ที่ดินโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนการก่อสร้างเป็นการ "ลงขัน" กัน
ในหมู่เอกชนพม่า 50 บริษัท ด้วยกัน

         ในบริเวณมีอยู่ 4-5 ตึก ๆ ละ ประมาณ 2-3 ชั้น ซึ่งใช้ทั้งเป็นพื้นที่ให้เอกชนผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้เช่า มีพื้นที่
รองรับบริษัทหน้าใหม่ที่มักเรียกกันว่า "ศูนย์บ่มเพาะ" มีสถานที่ฝึกอบรม ที่ประชุม ห้องสมุด ฯลฯ ตึกใหญ่ข้าง ๆ ยังมี
ศูนย์โทรคมนาคม ( Teleport ) ที่มีให้บริการสื่อสารข้อมูล, เครือข่าย VSAT, ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ข้าใจว่ากำลัง
ใช้บริการดาวเทียมไทยคมดวงใดดวงหนึ่งอยู่ด้วย Teleport แห่งนี้ รัฐและเอกชนหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยง
โทรศัพท์ชนบท การแพทย์ อี-คอมเมิร์ซ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ กลไกสำคัญที่ทำให้ทั้งหมดเกิดขึ้นก็คือ การจัดตั้งคณะ
กรรมการไอทีของพม่า ( Myanmar e-National Task Force ) ซึ่งก็เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาประมาณปลายปี พ.ศ. 2543
โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโทรคมนาคมเป็นประธาน แต่ผู้ที่ทำให้รัฐบาลหันมาสนใจก็คือ ภาคเอกชน ในนามของ
สมาพันธ์คอมพิวเตอร์แห่งพม่า ซึ่งประกอบด้วยสมาคมย่อย 3 สมาคม คือ สมาคมนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ สมาคม
อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และ สมาคมผู้สนใจคอมพิวเตอร์ นายพลขิ่นยุ้น ยังดำรงตำแหน่งประธานของสภาพัฒนา
คอมพิวเตอร์แห่งพม่าอีกส่วนหนึ่ง แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวครั้งนี้มาจากการที่ผู้นำพม่าได้ร่วมลงนามใน
ข้อตกลงอี-อาเซี่ยน ( e-ASEAN Framework Agreement ) เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543

         ปัจจุบันพม่ามีประชากร 50.12 ล้านคน มีเมืองอยู่ 324 แห่ง มีโทรศัพท์ 0.6 เครื่อง ต่อประชากร 100 คน โดยที่
ส่วนใหญ่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ ย่างกุ้ง 3.57 และ มัณฑะเลย์ 2.25 เป็นต้น พม่ามีกำลังคนด้านไอทีอยู่บ้าง และกำลังมีแผน
แผนผลิตคนสองสามหมื่นคน ภายใน 2-3 ปี ข้างหน้า จุดเด่นของแรงงานไอทีพม่า คือ ค่าแรงที่ไม่แพง และ ทักษะภาษา
อังกฤษ ความจริงก็เริ่มมีบริษัทไทยหลายบริษัทเข้ามาร่วมกิจการไอทีในพม่า แต่ชาติอื่นๆ โดยเฉพาะมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น
ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มาเลเซียโดยบริษัทที่ดำเนินการ Multimedia Super Corridor เป็นสัญญาให้ความช่วยเหลือพม่า
ด้านไอทีอย่างเป็นกิจลักษณะอยู่ในขณะนี้

        เมื่อพม่ามาแล้ว ไทยจะเดินต่อจากที่มีอยู่แล้วอย่างไร...........

-------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ "ทางด่วนสายไอที"
                  เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2545