โดย.....ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

          ระบบโทรศัพท์ชาวบ้านที่เรียกว่า "กรามีนโฟน" ของบังคลาเทศมีจุดเริ่มต้นมาจากกระทาชายผู้มีนามว่านายอิคบัล คาเดร์
ซึ่งทำงานอยู่กับบริษัทอเมริกันชื่อ โกโนโฟน ในปี พ.ศ. 2537 นายอิคบัลได้ติดต่อกับธนาคาร กรามีนเพื่อเสนอโครงการ
โทรคมนาคมที่ต้องการก่อประโยชน์ให้กับสังคมแถมมีกำรี้กำไรเกิดขึ้นในระบบด้วย นั่นก็คือการให้บริการโทรศัพท์ในชนบท
ที่ยากจนของบังคลาเทศโดยใช้หลักการและระบบการเงินของธนาคาร กรามีนเองนั่นแหละ คุณอิคบัลเสนอให้ใช้วิธีการส่งเสริม
เถ้าแก่รายย่อยให้ลุกขึ้นมาทำเอง ซึ่งทำให้องค์กรระหว่างประเทศอย่างสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือไอทียูเริ่มให้
ความสนใจโดยการส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยธนาคารกรามีนประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ

          ในปีพ.ศ. 2538 ธนาคารกรามีนกับบริษัทโกโนโฟนก็ร่วมกันจัดตั้งบริษัทพร้อมกับบริษัทเทเลนอร์ของประเทศนอรเวย์
เพื่อพัฒนาโครงการต่อไป อีกหลายเดือนต่อมาบริษัทมารุเบนีของญี่ปุ่นก็ขอเข้ามาแจมอีกคนหนึ่งในฐานะผู้ลงทุน ปีต่อไปรัฐบาล
บังคลาเทศเองก็ประกาศขั้นตอนการประมูลเพื่อขอใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการเซลลูลาร์อีก 3 ราย กลุ่มธนาคารกรามีนก็เลยถือ
โอกาสตั้งบริษัท "กรามีนเทเลคอม" ขึ้นมาซะเลยโดยให้เทเลนอร์เป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยี ปี พ.ศ. 2539 ก็จัดตั้งบริษัท
บริหารโครงการขึ้นมาเรียกว่าบริษัทกรามีนโฟนนั่นเอง ซึ่งท้ายที่สุดก็ได้เป็นหนึ่งในสามของผู้ได้รับสัมปทานให้บริการโทรศัพท์
เซลลูลาร์ ท้องถิ่นแล้วระบบโทรศัพท์ชนบทที่ใช้และให้บริการโดยคนชนบทเองก็เริ่มขึ้น

          ขั้นแรกกรามีนเทเลคอมจะสำรวจข้อมูลหมู่บ้านที่อยู่ในเขตครอบคลุมของเครือข่ายเซลลูลาร์ซึ่งเชื่อมต่อมาจากสายใยแก้ว
ที่พาดตามเส้นทางรางรถไฟคล้ายของบ้านเรา ก่อนจะไปต่อสัญญาณกับสถานีไมโครเวฟจากเมือง คูลนาถึงเมืองจิตตะกอง คือจาก
ตะวันออกเฉียงใต้ไปตะวันตกเฉียงใต้นั่นเอง แล้วบริษัทก็จะส่งคนไปคุยกับสาขาธนาคารกรามีนในท้องที่เพื่อคัดเลือกลูกค้าของ
ธนาคารโดยเลือกแต่ "ผู้หญิง" เท่านั้นภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องมีประวัติการเงินดี มีการค้าขายอยู่แล้วเช่นมีร้านขายของชำของ
ตัวเองเจ้าหล่อนยังต้องอ่านออกเขียนได้หรืออย่างน้อยที่สุดมีลูกหลานในบ้านที่อ่านออกเขียนได้ และตั้งบ้านเรือนอยู่ใจกลางหรือ
ใกล้ใจกลางชุมชน เมื่อได้คัดเลือกสุภาพสตรีเหล่านี้แล้ว บริษัทก็จะซื้อโทรศัพท์มือถือในนามของคุณเธอเหล่านี้จากบริษัท กรามีน
โฟน พร้อมกับจัดฝึกอบรมวิธีใช้ให้ด้วย ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ธนาคารกรามีนจะจ่ายให้กับกรามีนเทเลคอม แล้วชาวบ้านผู้ให้บริการจะ
ผ่อนชำระให้กับธนาคารอีกต่อหนึ่งภายในสองถึงสามปีเป็นประจำทุกสัปดาห์

          ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของการมีบริษัทกรามีนโฟนคือการจัดทำใบเสร็จชำระเงินจากการใช้โทรศัพท์เพื่อเคลียร์กับบริษัท
กรามีนเทเลคอม ในขณะที่ธนาคารก็กระทบยอดการใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวจากรายงานของชาวบ้านผู้ให้บริการเอง ก็เป็นอัน
ลงตัว หรือไม่ก็ตามตรวจสอบหากมีความคลาดเคลื่อนขึ้นมา ชาวบ้านก็รู้จักการทำบัญชีเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้นอุปกรณ์ที่ชาวบ้าน
ได้ไปทั้งชุดเพื่อให้บริการเพื่อนบ้านนั้นประกอบด้วย เครื่องรับโทรศัพท์ยี่ห้อที่คุ้นเคยกันในบ้านเรา, แบตเตอรี่ 1200 มิลลิแอมป์
ชั่วโมง, เครื่องอัดประจุ หรือชาร์จเจอร์, ป้ายโฆษณา, เครื่องคิดเลข, นาฬิกาจับเวลา, หนังสือคู่มือในภาษาบังคลา, และใบราคา
สำหรับการโทรศัพท์ข้ามถิ่น ทั้งหมดนี้ราคาประมาณ 310 เหรียญสหรัฐหรือหนึ่งหมื่นสามพันกว่าบาทไทย ชาวบ้านผู้ให้บริการม
ีหน้าที่ชำระเงินให้ธนาคารเป็นสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการผ่อนชำระเงินกู้ให้ธนาคารกรามีนสัปดาห์ละครั้ง ๆ ละ 4.50
เหรียญหรือในราวสองร้อยบาท ส่วนที่สองเป็นค่าใช้สายเดือนละอย่างน้อย 3.20 เหรียญหรือ 140 บาท ซึ่งรวมค่าเช่าสาย ภาษีมูลค่า
เพิ่ม ค่าบริการของกรามีนเทเลคอม และค่าสัมปทาน รัฐบาล ส่วนที่สามซึ่งรวมเงินเข้าไปในส่วนที่สอง ก็คือค่าแอร์ไทม์หรือการใช้
จริง

          สัปดาห์หน้ามาดูกันว่าชาวบ้านเขาคิดเงินกันเองอย่างไรครับ

---------------------------------------------
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ "ทางด่วนสายไอที"
                  เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 44