โดย..... ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
วันนี้จะขอหยิบยกตัวอย่างของประเทศบังคลาเทศในการบริหารจัดการให้
"ภาคชนบท" ของเขามีโทรศัพท์ใช้ ซึ่ง
ตัวอย่างของโครงการ "โทรศัพท์กรามีน" (GrameenPhone) มักจะได้รับการกล่าวขวัญและหยิบยกเป็นกรณีตัวอย่างของ
องค์กรระหว่างประเทศอยู่เนือง ๆ และก็ต้องกล่าวไว้เสียตั้งแต่ตอนนี้ว่า
มิได้ต้องการให้เราลอกเลียนแบบวิธีการของเขามา
หรือเขียนล่าให้ฟังเพื่อจะโปรโมทธุรกิจโทรคมนาคมอะไร เพราะจริง ๆ คนใน
วงการโทรคมเก่ง ๆ กันอยู่แล้ว
โครงการโทรศัพท์กรามีน
เป็นโครงการเชิงพาณิชย์ที่จัดให้ชาวบ้านทั้งในกรุงและโดยเฉพาะในชนบทได้มีโทรศัพท์
เซลลูลาร์ใช้ โดยประมาณในปี พ.ศ. 2543 ก็มีผู้ใช้ในราวสี่หมื่นคน โดยใช้โครงการนำร่องผ่านหน่วยงานสองแห่ง
คือ
ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) และ บริษัท กรามีนเทเลคอม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคาร
โครงการนี้ตั้งใจให้สมาชิกที่เป็นสุภาพสตรีสามารถใช้เงินกู้เพื่อทำธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ประเภทเซลลูลาร์
โดยสุภาพสตรีในหมู่บ้านเกือบพันแห่งเหล่านี้ได้เครดิตจากธนาคารเพื่อนำไปซื้อโทรศัพท์
มือถือ แล้วไปขายบริการโทรศัพท์
ให้กับคนในหมู่บ้านอีกต่อหนึ่ง เจ้าหน้าที่โครงการคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโปรแกรมแล้วจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวกว่าสี่หมื่น
ราย และอาจทำให้เกิดรายได้กว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ที่คิดเช่นนี้เพราะในชนบทของประเทศกำลังพัฒนานั้น
ส่วนใหญ่โครงสร้างพื้นฐานมักจะไม่ค่อยจะทั่วถึงและไม่
ค่อยดีอีกทั้งความเชื่อที่ว่า "ที่ไหนมีโทรศัพท์ ที่นั่นมีความเจริญ"
โครงการโทรศัพท์กรามีนยังให้โอกาสกับชาวบ้าน ในการ
เรียนรู้วิธีพัฒนาธุรกิจเพื่อลดความยากจนของ ตนเอง และของหมู่บ้าน โดยที่ไม่ต้องสร้างอภิมหาโครงการระดับชาติ
แต่
ตรงกันข้าม ให้โอกาสผู้เล่นรายย่อย คือ ชาวบ้านนั่นเอง เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง
เจ้าของโครงการเขาคุยว่าโครงการนี้ช่วย
ลดความยากจนของประชาชนได้ เพราะไปทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนที่วัดได้
และคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน
จากการที่มีโทรศัพท์ที่วัดไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น
การที่ชาวบ้านมีโทรศัพท์ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเช่นหมู่บ้านของตนเองเข้าเมืองหลวง
คือเมืองดัคคา (Dhaka) ซึ่งเป็นการประหยัดได้ถึง 2.64% - 9.8% ของรายได้ประจำเดือนของครัวเรือน
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ
ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าเมืองแพงกว่าค่าโทรศัพท์สองถึงแปดเท่าตัว เท่ากับเป็นการประหยัดรายจ่ายของชาวบ้านยากจน
ไปได้ 132 ถึง 490 ทาคา (สกุลเงินของบังคลาเทศ : Taka) หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ
116-430 บาท
รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า
หลังจากสอบถามผู้ใช้คือชาวบ้านถึงวัตถุประสงค์ของการยกหูแต่ละครั้งก็พบว่า
ชาวบ้าน
ใช้เพื่อสนทนาเรื่องการเงินของครอบครัว 42% ในขณะที่ใช้เพื่อการสังคม คือโทรไปหาคนโน้นคนนี้ที่เป็นญาติและเพื่อน
44% สองอย่างนี้รวมกันก็ปาเข้าไป 86%แล้ว ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งของการใช้โทรศัพท์ของชาวบ้านบังคลาเทศ
คือ
ประเทศบังคลาเทศเองส่งออกคนงานโดยเฉพาะคนงานชายไปทำงานที่ประเทศตะวันออกกลางที่เรียกว่า
Gulf States
เสียเยอะ เพราะฉะนั้นหากมีโทรศัพท์สักเครื่อง ครอบครัวก็ได้คุยกันเรื่องชำระดอกเบี้ยบ้าง
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราบ้าง
นอกเหนือจากถามสารทุกข์สุกดิบ และควบคุมความประพฤติกันทางโทรศัพท์ อันหลังนี้ผมพูดเอง
สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
คือ การลดความเสี่ยงในการโอนเงินจากต่างประเทศมาให้ครอบครัวในประเทศ กลุ่มชาวบ้านที่ลงมาเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์
ไร้สายเองก็มีกำไรเหนาะ ๆ พอสมควร ประมาณว่าเป็นรายได้เข้าครัวเรือนถึง
24% ของรายได้ครอบครัว และในรายที่ขาย
เก่ง ๆ ก็สามารถทำเงินได้ถึง 40% ของ รายได้ ครอบครัวทั้งหมดก็มีที่แถมมาโดยไม่รู้ตัว
คือ ชาวบ้านผู้ให้บริการเหล่านี้
เริ่มมีพลังทางสังคมในชุมชนของตนเอง จากการที่เป็นคนกว้างขวางขึ้น มีเอี่ยวทางธุรกิจกันมากขึ้น
และเสมือนหนึ่งเป็น
ผู้ให้เครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกค้าอีกชั้นหนึ่ง ส่วนคนไหนจะดังถึงขนาดกลายเป็นนักการเมืองผู้ทรงพลัง
อันนี้รายงานไม่ได้กล่าวไว้
ข่าวยังบอกต่อไปอีกว่า
เผลอ ๆ การให้บริการโทรศัพท์ชนบททำกำไรงามกว่าโทรศัพท์เมืองกรุงเสียอีก
จะเชื่อหรือไม่
ก็ได้ แต่รายงานกล่าวไว้ว่า เนื่องจากกฎหมายไม่เอื้ออำนวยให้โทรศัพท์ชนบทเฟื่องฟูก็กลายเป็นโอกาสให้โทรศัพท์ชนบท
ที่ชาวบ้านทำธุรกิจเอง สามารถทำกำไรให้ได้มากกว่าโทรศัพท์เมืองกรุงถึง
3 เท่าตัว
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง
คือโครงการนี้ตอกย้ำว่าระบบโทรคมนาคมปกตินั้นมีปัญหาทางเพศ หมายความว่า
เพศสตรี
เสียเปรียบอีกเพศหนึ่ง หากใช้สโลแกน "ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน"
ที่เขียนโดยผู้ชาย ยกตัวอย่างเช่น หากเจ้าของบ้านผู้ให้บริการ
โทรศัพท์เป็นผู้หญิง โอกาสที่ลูกค้าผู้หญิงจะมาใช้บริการจะมีมากกว่า
มีต่อสัปดาห์หน้าครับ........
-----------------------------------
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ "ทางด่วนสายไอที"
เมื่อวันที่
13 ธันวาคม 2544
|