ผลการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 4
ที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก
(WTO) ครั้งที่ 4 ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่
โดยกำหนดให้การเจรจาสิ้นสุดในวันที่ 1 มกราคม 2548 และได้มีมติให้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจา การค้าขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการเจรจา
โดยให้มีการประชุมครั้งแรกภายในวันที่ 31 มกราคม 2545
การประชุมครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ
โดยผลการเจรจาเป็นไปตามท่าทีของไทยในเรื่องต่างๆที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
ได้แก่ เกษตร สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กฎระเบียบของ WTO สิ่งแวดล้อม เรื่องใหม่ๆคือ การลงทุน
นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดหาโดยรัฐ และการอำนวยความสะดวกทางการค้า
และปฏิญญารัฐมนตรี เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข
ในเรื่องเกษตรนั้น
ไทยได้ร่วมกับกลุ่มเคร์นส์สามารถผลักดันให้มีเป้าหมายการเจรจาสินค้าเกษตรตามที่ต้องการ
คือ ให้เปิดตลาดสินค้าเกษตรมากขึ้น
ลดการอุดหนุนการผลิตภายในที่บิดเบือนตลาดและลดการอุดหนุน ส่งออกลงต่อไปอีก
โดยการอุดหนุนส่งออกจะต้องยกเลิกในที่สุด
และให้มีการให้แต้มต่อแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้วย
สำหรับเรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
ไทยได้ผลักดันให้ปฏิญญารัฐมนตรีเปิดโอกาสให้สมาชิกเจรจาเพื่อให้
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indications) เพิ่มผลิตภัณฑ์ที่จะให้ความคุ้มครองขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 2 ชนิด คือ สุราและไวน์ ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ด้วย
เช่นในกรณีของประเทศไทย ให้เพิ่ม "ข้าวหอมมะลิไทยและไหมไทย"
ด้วย ซึ่งไทยจะต้องเจรจาต่อไป
ส่วนในเรื่องกฎระเบียบของ
WTO
ไทยได้ผลักดันให้มีการแก้ไขความตกลงเรื่องการทุ่มตลาด (anti-dumping)
และการอุดหนุน (subsidies) ซึ่งในปฏิญญารัฐมนตรีฯ
ได้กำหนดให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขปรับปรุงความตกลงทั้งสองให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม
การแก้ไขความตกลงดังกล่าวจะไม่มีผลถึงการแก้ไขกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก
นอกจากนี้ ยังได้นำเอาเรื่องการอุดหนุนสินค้าประมงมาอยู่ใต้บังคับของความ
ตกลงว่าด้วยการอุดหนุนด้วย
สิ่งแวดล้อม ประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆต่อต้านไม่ให้สหภาพยุโรปนำเอาเรื่องที่จะห้ามนำเข้าโดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
(precautionary principle) ได้เป็นผลสำเร็จ
เรื่องใหม่ๆจากการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่สิงคโปร์
(การลงทุน
นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดหาโดยรัฐและการอำนวยความสะดวกทางการค้า) ไทยและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่สามารถผลักดันให้มีการศึกษาในรายละเอียดในทั้ง
4 เรื่องต่อไปจนถึงการประชุมรัฐมนตรีครั้งที่ 5
นอกจากนี้
ไทยสามารถผลักดันให้มีการยอมรับปฏิญญารัฐมนตรีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข
โดยในเรื่องยาที่จำเป็นต่อชีวิต ไทยได้ร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ผลักดันให้องค์การการค้าโลกยอมรับว่าประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดกำลังประสบปัญหาวิกฤตด้านสาธารณสุข
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคระบาดอื่นๆ
และให้มีการตีความข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในทางที่อะลุ้มอะล่วยเพื่อให้ประเทศเหล่านี้สามารถใช้มาตรการต่างๆ
เพื่อเป็นหลักประกันว่า
ประชาชนโดยทั่วไปจะสามารถซื้อยาที่จำเป็นได้โดยสะดวกและในราคาที่พอควร
และที่สำคัญ
ประเทศสมาชิกตกลงที่จะให้มีการทบทวนบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติเป็นพิเศษและ
แตกต่างทั้งหมดที่ปรากฏในความตกลงต่างๆของ WTO
ให้เข้มแข็งขึ้น
และเพิ่มความชัดเจนรวมทั้งประสิทธิภาพของบทบัญญัติดังกล่าวให้สามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้ดีขึ้น
จึงได้ให้การรับรองแผนงานในเรื่องนี้ที่ระบุอยู่ใน
ข้อตัดสินใจว่าด้วยปัญหาการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลง WTO นอกจากนี้
ประเทศสมาชิกเน้นย้ำว่าความร่วมมือทางวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพเป็นองค์ประกอบหลักของระบบการค้าพหุภาคีและได้ระบุเป็นพันธกรณีในเรื่องนี้ไว้ในหลายหัวข้อของปฏิญญารัฐมนตรี
สำหรับท่าทีของประเทศสมาชิกอื่น
นั้น ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาขนาดเล็กและขนาดกลางมีท่าทีสนับสนุนการเปิดเจรจาการค้าเสรีมากขึ้น
โดยกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หากไม่สามารถเปิดการเจรจาได้
จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในประเทศสหรัฐฯ วันที่ 11 กันยายน 2544 เป็นต้นมา
แม้กระทั่งญี่ปุ่นที่คัดค้านการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตรมา ตั้งแต่ต้น
ก็ได้ผ่อนปรนท่าทีของตนลงอย่างมาก
พร้อมกับประกาศยอมรับร่างปฏิญญารัฐมนตรีทันทีเมื่อคณะผู้แทนได้เดินทางถึงกรุงโดฮา
ในขณะที่สหรัฐฯ ก็แสดงความยืดหยุ่นยอมรับเรื่องให้มีการเจรจาเรื่องการทุ่มตลาดได้
ซึ่งแต่เดิมรัฐบาลสหรัฐฯ
ถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองในประเทศไม่ให้มีการเจรจาเรื่องนี้
ปฏิญญารัฐมนตรีที่กรุงโดฮานี้
มีทั้งประเทศสมาชิกที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ในบางเรื่อง
ไม่มีสมาชิกใดจะได้ประโยชน์ในทุกเรื่อง ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความสมดุลของผลประโยชน์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม การเปิดการเจรจาการค้าเสรีครั้งนี้
จะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การเปิดการเจรจาการค้าเสรี
ครั้งนี้
จะเป็นผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่ซบเซามานานให้ฟื้นตัวดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
โดยที่ปฏิญญารัฐมนตรีเป็นเพียงกรอบและทิศทางการเจรจาเท่านั้น
จากนี้ไปจนถึงปลายปี 2547 สมาชิก WTO รวมทั้งไทยจะต้องเริ่มเข้าสู่การเจรจาในรายละเอียดที่จะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
ไทยจึงต้องผลักดันในสิ่งที่ไทยต้องการให้บรรลุผลสำเร็จ เช่น
เรื่องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิและไหมไทย
และการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร เป็นต้น
เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจการค้า และสังคมไทย
กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์
12 ธันวาคม 2544
|