กฎระเบียบเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสหภาพยุโรป
(Waste from Electrical and Electronics Equipment : WEEE)
1. ความเป็นมา
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ฝ่ายสภาวะแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2540 (ค.ศ. 1997) โดยมีการหารือภายในคณะกรรมาธิการฯ และประเทศสมาชิก EU รวมทั้งกลุ่มที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม NGO องค์การด้านสภาวะแวดล้อม สมาคมผู้บริโภค ฯลฯ และได้จัดทำร่างฉบับที่สองเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2541 (ค.ศ.1998) จนถึงปัจจุบันกำลังจัดทำร่างฉบับที่สี่ ซึ่งคาดว่าจะเป็น final draft เพื่อนำเสนอต่อคณะมนตรี (Council of Ministers) และรัฐสภายุโรป (European Parliament) พิจารณาก่อนออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
2. วัตถุประสงค์
สหภาพยุโรปได้จัดทำกฎระเบียบดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1.ป้องกันเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม
2.ให้มีการนำเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว (End of Life) นำกลับมาใช้ใหม่ (Re-use and Recycle)
3.ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปริมาณขยะที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม
3. สาระสำคัญ
กฎระเบียบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วซึ่งจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อประสานมาตรการที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และของเสียจากบรรจุภัณฑ์ของแต่ละประเทศในสหภาพยุโรปให้สอดคล้องกัน โดยมีข้อบังคับที่สำคัญ คือ กำหนดระดับการนำของเสียมาปรับสภาพ (Recovery) และนำกลับมาแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ (Recycle) จัดตั้งระบบที่จะรับคืน (Return) เก็บ (Collect) และนำมาปรับสภาพ (Recovery)
4. ขอบเขตการบังคับใช้ของกฎหมาย
กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายภายในของสหภาพยุโรป มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่จำหน่ายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เท่านั้น
5. ขอบเขตของสินค้า
สินค้าที่อยู่ในข่ายของระเบียบดังกล่าว ได้แก่ สินค้าประเภท Electrical and Electronics Equipment ซึ่งประกอบด้วย
11 หมวดใหญ่ คือ
1.ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดใหญ่ (Large household) เช่น ตู้เย็น (Refrigerators) เครื่องทำความเย็น (Freezers) เครื่องซักผ้า (Washing machines) เครื่องอบผ้า (Clothes dryers) เครื่องล้างจาน (Dish-washing machines) เป็นต้น
2.ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในครัวเรือนขนาดเล็ก (Small Household Appliances) เช่น เครื่องดูดฝุ่น (Vacum Cleaners) เตารีด (Irons) เครื่องปิ้งขนมปัง (Toasters) เตาทอดไฟฟ้า (Fryers) เครื่องบดกาแฟ (Coffee grinders) แปรงสีฟันไฟฟ้า (Tooth brushes) มีดโกนหนวดไฟฟ้า (Shavers) เป็นต้น
3.อุปกรณ์ IT (IT-Equipment) เช่น มินิคอมพิวเตอร์ (Minicomputers) เครื่องพิมพ์ (Printer) คอมพิวเตอร์เมนแฟลม (Main frames) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal computers) รวมทั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อ เช่น แป้นพิมพ์ จอภาพ และ เครื่องคิดเลขตั้งโต๊ะหรือตัวต่อเข้า (Pocket and desk calculators) เป็นต้น
4.อุปกรณ์โทรคมนาคม (Telecommunication) เช่น เครื่องโทรสาร (Telex)โทรศัพท์ (Telephones) โทรศัพท์ไร้สาย (Cordless telephone) ระบบโทรศัพท์ตอบรับ (Answering system) เป็นต้น
5.วิทยุ (Radio) โทรทัศน์ (Television) ผลิตภัณฑ์เครื่องเสียง(Electroacoustic) เช่น กล้องวิดีโอ เครื่องบันทึกวิดีโอ และเครื่องดนตรีไฟฟ้า เป็นต้น
6.อุปกรณ์ให้ความสว่าง (Lighting Equipment)
7.อุปกรณ์การแพทย์ (Medical Equipment System) เช่น Radiotherapy Equipment, Cardiology, Dialysis, Pulmonary Ventilators, Nuclear Medicine เป็นต้น
8.อุปกรณ์ตรวจสอบและควบคุม (Monitoring and Control System) เช่น เครื่องตรวจจับควัน (Smoke detector) เครื่องควบคุมอุณหภูมิ(Thermostat) นาฬิกา (Clock) เป็นต้น
9.ของเล่น (Toys) เช่น เกมส์บอย (Game boys) เครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
10.เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่าน หรือเลื่อยไฟฟ้า (Drills, Saving machine) เป็นต้น
11.เครื่องจ่ายอัตโนมัติ (Automatic Disperses) เช่น ตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ เป็นต้น
6. ประเด็นกฎหมายที่สำคัญ
6.1 ภายใต้กฎระเบียบดังกล่าว ผู้ผลิตที่ใช้วัสดุที่เป็นอันตรายประเภทตะกั่ว(Lead) ปรอท (Mercury) แคดเมียม (Cadmium) และ Hexavalent จะต้องยกเลิกและห้ามใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004)
6.2 ผู้ผลิตจะต้องจัดตั้งระบบที่รับคืน (return) เก็บ (collect) สินค้าที่หมดอายุการใช้งานนำมาแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ โดย
- กำหนดเป็นข้อบังคับให้ผู้ผลิตจะต้องจัดตั้งระบบในการแยกรวบรวมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว (Separate Collection of End-of-Life Electrical and Electronic Equipment)
เพื่อให้ผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นรายสุดท้ายหรือผู้กระจายสินค้า (Distributors) สามารถคืนอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งาน
- สำหรับผู้กระจายสินค้าซึ่งจำหน่ายสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด จะต้องยอมรับคืนอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วดังกล่าวจากผู้ใช้ โดยไม่คิดค่าบริการใดๆ
6.3 กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการแยกรวบรวมอุปกรณ์ฯ ที่หมดอายุการใช้งานแล้วจากผู้ใช้ และการดำเนินการเพื่อจัดส่งไปยังสถานที่ที่จะทำการคืนสภาพ(Treatment) รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการคืนสภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกจะต้องตกลงกับผู้นำเข้าให้ชัดเจน
7. ผลกระทบที่เกิดขึ้น
7.1 ผลกระทบภาพรวม
- การกำหนดกฎระเบียบที่มีบางประเด็นที่อาจขัดกับกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศภายใต้ WTO เช่น การห้ามใช้สารตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ในการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีการกำหนดขั้นตอนการตรวจสอบและการอนุญาตนำเข้าอันก่อให้เกิดการสร้างข้อจำกัดทางการค้าจากการใช้มาตรการดังกล่าว
- การที่สหภาพยุโรปห้ามใช้สารหรือวัสดุบางประเภทที่เป็นอันตราย ซึ่งรวมถึงตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ฯลฯ ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กต้องปรับระบบการผลิตและเปลี่ยนแปลงการใช้วัตถุดิบซึ่งจะต้องเพิ่มภาระด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นในการหาวัสดุอื่น ๆ มาใช้ทดแทน
- ผู้ผลิตจะต้องเป็นผู้รับภาระในการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการรวบรวมเศษเหลือใช้จากครัวเรือนผู้บริโภค เพื่อนำไปทำลายและกำจัดเศษเหลือทิ้ง
- ขอบเขตของสินค้าภายใต้ระเบียบดังกล่าว ครอบคลุมผลิตภัณฑ์จำนวนมาก
- ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปจะได้เปรียบกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบบในการแยกรวบรวมอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้หรือการคืนสภาพ นำกลับมาใช้ใหม่ (Re- use and Re-cycle) ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา
มีความสามารถในการแข่งขันลดลง ในตลาดสหภาพยุโรป
7.2 ผลกระทบตลาดภายในสหภาพยุโรป
การออกระเบียบเรื่องการจัดการเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดผลกระทบภายในตลาดสหภาพยุโรป ดังนี้
- ประเทศสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาเทคโนโลยีต่ำ และมีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการกำหนดนโยบายการจัดการเรื่องดังกล่าวจะเสียเปรียบ
และต้องใช้เวลาในการปรับตัว อันจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศ ให้มีความสอดคล้องเป็นมาตรฐานเดียวกันและมีประสิทธิภาพ
- ความแตกต่างของมาตรฐานรูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งการห้ามมีส่วนประกอบของสารตะกั่ว ปรอท และแคดเมียมในการผลิตสินค้า ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีในการกำจัดที่แตกต่างกัน จะทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดการสูงอันจะกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญ สำหรับสินค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นความแตกต่างของกฎระเบียบ และความรับผิดชอบของผู้ผลิตในแต่ละประเทศ จะนำไปสู่ภาระด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ
7.3 ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย
ไทยส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสหภาพยุโรป ปีละเกือบหนึ่งหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในแต่ละปี การใช้มาตรการดังกล่าวของสหภาพยุโรป จึงมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เนื่องจาก
มีผลให้สินค้าไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์มีต้นทุนสูงขึ้นจากการใช้วัสดุทดแทนวัสดุต้องห้าม รวมถึงการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีการผลิตให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนด ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในสหภาพยุโรปลดลง โดยพิจารณาผลกระทบด้านต่างๆ ดังนี้
- ด้านกฎหมาย ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ผู้นำเข้าของสหภาพยุโรป(Professional importer) จะต้องเป็นผู้รับภาระในการจัดการกับเศษเหลือทิ้ง หรือสินค้าที่หมดอายุการใช้งาน ในทางปฏิบัติผู้นำเข้าสามารถผลักภาระให้กับผู้ส่งออกไทยภายใต้เงื่อนไขในสัญญาซื้อขายในรูปของค่าใช้จ่ายในการจัดการกับสินค้าหมดอายุดังกล่าวในสหภาพยุโรป
- ด้านการผลิต ผู้ผลิตของไทยจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือเทคโนโลยีการผลิต ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความสะดวก ประหยัดค่าใช้จ่ายในการถอดทำลายและใช้วัสดุทดแทนวัสดุต้องห้าม ผู้ประกอบการไทยซึ่งอาจได้รับผลกระทบมาก ได้แก่บริษัทไทยหรือบริษัทร่วมทุน และบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม
- ด้านการตลาด ผู้ขายอาจกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้หลายประการ เช่น บวกค่าใช้จ่ายในการจัดการกับสินค้าหมดอายุไว้ในราคาขาย หรือผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบ หากไม่สามารถผลิตสินค้าให้สอดคล้องและได้มาตรฐานตามที่สหภาพยุโรปกำหนด
8. ท่าทีของกลุ่มต่างๆ
8.1 ภาคเอกชนของสหรัฐฯ องค์กรในสหภาพยุโรป เช่น DG ด้านอุตสาหกิจ(DG Enterprise) DG ด้านตลาดภายใน (DG Internal Market) DG ด้านการค้า (DG Trade) และภาคเอกชนญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ มีท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วยกับร่างกฎระเบียบดังกล่าวของสหภาพยุโรป
8.2 กลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้อนุรักษ์สภาวะแวดล้อม มีท่าทีสนับสนุนร่างกฎระเบียบระเบียบของสหภาพยุโรป
9. สถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในสหภาพยุโรป
9.1 ร่างกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบการจัดการเกี่ยวกับเศษเหลือทิ้งของสินค้าอุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สหภาพยุโรปกำหนดขึ้นมีประเทศสมาชิกที่ได้ปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกันไว้แล้ว ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ออสเตรีย เบลเยี่ยม และอิตาลี ในขณะที่ฟินแลนด์และเยอรมันคาดว่าจะเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเร็ว ๆ นี้ ซึ่งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประสบปัญหาในการร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ปัญหาในเรื่องความสอดคล้อง และความเป็นมาตรฐานเดียวกันของประเทศสมาชิก
9.2 ออสเตรียได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการนำกลับมาใช้ ของผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เมื่อกลางปีพ.ศ.2533 (ค.ศ. 1990) และการคืนสภาพของหลอดไฟฟ้า และ white goods โดยเริ่มใช้ระบบคืนสภาพ (Recovery) กับสินค้าที่หมดอายุแล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผนวกราคาไว้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่งผลให้ผู้ขายปลีกของออสเตรียประสบปัญหาการเสียเปรียบด้านการแข่งขัน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในเยอรมันและอิตาลีในเรื่องราคาสินค้า
9.3 เบลเยี่ยมออกกฎระเบียบดังกล่าวในปีพ.ศ.2541 (ค.ศ.1998) โดยครอบคลุมในสินค้า brown and white goods โดยที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และผู้ขายปลีก จะต้องยอมรับสินค้า brown and white goods เช่น อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT equipment) นำกลับมาแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ โดยมีกลุ่มสินค้าเป้าหมาย คือ เหล็ก และพลาสติก รวมในกฎระเบียบดังกล่าว
10. ประเด็นทางการค้าภายใต้บทบัญญัติ GATT
10.1 บทบัญญัติของแกตต์ภายใต้มาตรา 3 ในเรื่อง National Treatment ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะกับมาตรการที่เกี่ยวกับตัวสินค้าเท่านั้นรวมไปถึงการใช้มาตรการทางการค้าที่จะไม่ก่อให้เกิดการเลือกประติบัติ ระหว่างสินค้าในประเทศกับสินค้านำเข้า
10.2 ภายใต้ร่างกฎระเบียบของสหภาพยุโรปดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าไม่มีการกีดกันทางการค้าระหว่างผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในสหภาพยุโรป กับสินค้านำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อโต้แย้งถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสินค้าภายในประเทศ เนื่องจาก
- ผลกระทบจะเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของอุตสาหกรรม (size) และปริมาณการขายในสหภาพยุโรป
- ภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรป จะต้องชัดเจนว่าการใช้มาตรการดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
10.3 ภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรปดังกล่าว เรื่องการห้ามใช้สารตะกั่ว ปรอท และแคดเมียมในการผลิตสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด
อาจทำให้เกิดการตรวจสอบและการอนุญาตนำเข้าอย่างเข้มงวด รวมทั้งการจำกัดการนำเข้า ซึ่งจะขัดกับกฎของแกตต์ภายใต้มาตรา XI : เรื่องมาตรการจำกัดปริมาณ (Quantitative Restrictions) ซึ่งในหลักการไม่อนุญาตให้ใช้มาตรการจำกัดปริมาณ ยกเว้นจำกัดเพื่อดูแลมาตรฐานสินค้า
10.4 สหภาพยุโรปสามารถใช้กฎระเบียบดังกล่าวภายใต้มาตรา XX ของแกตต์ในเรื่องข้อยกเว้นทั่วไป (General Exceptions) ดังนี้
ข้อ XX(b) ใช้เพื่อป้องกันชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ พืช (Necessary to protect human, animal, or plant life or heatlh) โดยอ้างเหตุผลการนำมาตรการห้ามใช้สารต้องห้าม เช่น ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ฯลฯ เนื่องจากเป็นอันตรายต่อชีวิต และสุขภาพมนุษย์
ข้อ XX(g) เพื่อปกป้องทรัพยากรที่สูญสิ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีมาตรการจำกัดการผลิตหรือบริโภคภายในประเทศด้วย ทั้งนี้สหภาพยุโรปอาจอ้างเหตุผลเพื่อรักษาสภาวะแวดล้อม
10.5 ประเด็นสำคัญภายใต้บทบัญญัติของแกตต์ในเรื่อง ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade : TBT) โดยที่ความตกลงนี้กำหนดให้ประเทศต่าง ๆ สามารถออกมาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองมนุษย์ สัตว์ พืช สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อมได้ และไม่ห้ามให้แต่ละประเทศตั้งมาตรฐานการคุ้มครองสิ่งเหล่านี้ตามเห็นสมควร แต่ในกรณีที่มีมาตรฐานระหว่างประเทศอยู่แล้ว ก็ควรใช้มาตรฐานที่เป็นหลักตามความตกลง TBT ทุกประเทศต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติและต้องไม่ออกมาตรการที่เป็นการจำกัดการค้าเกินกว่าความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความตกลง TBT ไม่ได้ครอบคลุมกฎระเบียบของสหภาพยุโรปในเรื่องเศษเหลือทิ้งของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะภายใต้มาตรา 5-12 ไม่สามารถอ้างว่าสอดคล้องกับความตกลง TBT ภายใต้ Annex I ที่เกี่ยวกับกฎระเบียบและมาตรฐานระหว่างประเทศ (Technical Regulations and Standard)
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบในการห้ามการใช้วัสดุที่เป็นอันตรายประเภทตะกั่ว ปรอท แคดเมียม ฯลฯ ภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) ซึ่งสหภาพยุโรปอาจจะกล่าวได้ว่าในการผลิตสินค้าควรใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับสุขภาพชีวิตมนุษย์ หรือสิ่งแวดล้อม แต่ไม่สามารถกล่าวได้ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นกฎระเบียบทางเทคนิค (Technical Regulation) ภายใต้ความตกลง TBT
ถึงแม้ว่า ร่างระเบียบดังกล่าวของสหภาพยุโรป จะไม่สอดคล้องกับสาระสำคัญภายใต้ความตกลง TBT แต่การใช้มาตรการภายใต้กฎระเบียบดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างข้อจำกัดทางการค้าอย่างชัดเจน เนื่องจากไม่ได้เป็นการเลือกประติบัติ นอกจากนี้ภายใต้มาตรา 4.2 และ 4.3 ของร่างกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ยังเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้มาตรการซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
11. ข้อสังเกต
11.1 สหภาพยุโรปออกระเบียบดังกล่าว เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเศษเหลือใช้ของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
และเพื่อประสานให้มาตรการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์และของเสียในแต่ละประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปมีความสอดคล้องกัน นอกจากนี้มาตรการดังกล่าว ยังเป็นการไม่เลือกปฏิบัติระหว่างสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรป และสินค้าที่นำเข้า
11.2 ถึงแม้ว่าระเบียบดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมและตั้งอยู่บนหลักการไม่เลือกประติบัติ (MFN) และ National Treatment ซึ่งไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยในขณะนี้ แต่เมื่อสหภาพยุโรปเริ่มใช้กฎระเบียบดังกล่าวในปี พ.ศ.2547 (ค.ศ.2004) จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย หากผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทย ไม่สามารถปรับผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องและได้มาตรฐานตามที่สหภาพยุโรปกำหนด
การออกระเบียบของสหภาพยุโรป ที่กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำเข้ามาในประเทศ จะต้องมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญบางประการ (Essential Requirement) เท่านั้นที่สามารถวางจำหน่ายได้ จะก่อให้เกิดภาระต่อผู้นำเข้าและอาจต่อเนื่องมาถึงผู้ส่งออกได้ ดังนั้น
ภาครัฐจึงควรเผยแพร่และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ส่งออกของไทยให้ปรับปรุงเทคนิคการผลิต การบรรจุภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการและได้มาตรฐานตามที่กำหนดในระเบียบเพื่อรองรับกับกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต และให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักสำคัญของไทยในสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สำนักวิจัยเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์
มิถุนายน 2543
|