ทิศทางไอทีโลก

 

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารระบบไร้สายกำลัง เป็นที่นิยม และไม่มีทีท่าว่าจะเลิกรากันไปได้ง่ายๆ มิหนำซ้ำยังกลายเป็น ของใช้จำเป็นของหลายคน เช่น คนที่อยู่ในละแวกที่ขอโทรศัพท์ลำบาก ในขณะที่เป็นแฟชั่นของคนรุ่นใหม่ เช่น ภาพอันดาษดื่น ของวัยรุ่น ที่นิยมใช้โทรศัพท์มือถือ จนผู้ปกครองหลายคน กระเป๋าแห้งไปตามๆ กัน บางครอบครัวเด็กๆ ใช้มือถือแม้จะใช้โทรศัพท์บ้าน ที่มีราคาถูกกว่าได้ก็ตาม

 

ในทางเทคโนโลยีแล้ว บริษัทการ์ตเนอร์เห็น อนาคต ของมือถือในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง ระบบเครือข่ายไร้สายที่มีคุณภาพสูงขึ้น หรือการสร้าง ระบบไร้สายความเร็วสูง (Broadband Wireless) ที่สามารถให้บริการให้กับลูกค้าในที่ต่างๆ แม้ในชนบท หรือการใช้บริการ ชำระเงินด้วยมือถือ ก็จะเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะความสะดวกนั่นเอง เพียงแต่ต้องระวังกระเป๋าและใบเรียกเก็บเงิน ปลายเดือนให้ดีก็แล้วกัน

 

นอกจากนี้แล้วยังมีการประยุกต์ใช้ระบบไร้สายในอีกหลายมิติ เช่น การติดตามสิ่งของหรือการขนส่งต่างๆ เพื่อให้บริการลูกค้าในการตามของที่รออยู่ หรือการให้บริการกรมธรรม์ประกันภัยต่อลูกค้า โดยมีข้อมูลไร้สาย ให้เลือกตามชอบใจ ไปจนถึงความแพร่หลายของการชำระเงินตามแหล่งใหญ่ๆ เช่น การขึ้นทางด่วน และยังจะมีการใช้ประโยชน์จากระบบไร้สายทั้งในการแพทย์ และโอกาสในการผลิตวัสดุใหม่ๆ ที่ควบคุมโดยระบบไร้สาย

อุปกรณ์อัตโนมัติที่นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีจะผลิตมาให้ผู้บริโภคใช้นั้น มีความน่าสนใจอยู่หลายประเภท อาทิ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ในอนาคตก็จะไม่มีตัวตน แต่จะใช้แสงเลเซอร์ยิงภาพเสมือนในรูปของคีย์บอร์ด ซึ่งเมื่อกดปุ่มพิมพ์ แล้วก็มีค่าเทียบเท่ากับพิมพ์จากของจริง เนื่องจากอุปกรณ์ควบคุมสามารถจำแนก ได้ว่าตำแหน่งสัมผัสนั้น เทียบได้กับการพิมพ์ตัวอักษรแต่ละตัว สิ่งประดิษฐ์นี้จะมีประโยชน์มาก สำหรับผู้ที่ชอบใช้สมุดบันทึก อิเล็กทรอนิกส์จำพวก Organizer หรือบางทีเรียกกันง่ายๆ ว่าปาล์มนั่นเอง

 

อุปกรณ์แสดงผลก็ใช่ว่าจะน้อยหน้า ในอนาคตการตรวจบัตรก็จะกลายเป็นการยื่นตาหรือม่านตา (retina) ไปให้คอมพิวเตอร์ตรวจสอบตัวตนที่ถูกต้องแทน หรือการชอปปิงในห้างสรรพสินค้าก็จะเริ่มมีการใช้อี-คูปองกันมากขึ้น มีการตั้งราคาสินค้าแบบเคลื่อนที่ คือ ราคาเคลื่อนที่ตลอดเวลาได้ รวมไปจนถึงการแนะนำสินค้าด้วยสมองกล ก็อีกละครับที่จะต้องระวังกระเป๋าสตางค์ให้ดี

 

ในแง่ของข้อมูล ปัจจัยสำคัญของข้อมูลไอทีในอนาคตจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกับกองข้อมูลขนาดมหาศาล ที่จะทำให้มนุษย์หันรีหันขวางเนื่องจากข้อมูลท่วมหัวอาจจะเอาตัวไม่รอดได้ ก็จะมีการสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะมาช่วยจัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลให้อย่างน้อยในรอบแรก ไปจนถึงการค้นหาข้อมูลที่มีหลักการโดย ใช้คอมพิวเตอร์ที่เข้าใจภาษามนุษย์ที่ซับซ้อนได้มากขึ้น แต่จะถึงปัญญาประดิษฐ์ที่คอมพิวเตอร์จะช่วยตัดสินใจ ให้มนุษย์ได้มากน้อยแค่ไหนนั้นยังมองกันไม่ออกในปีนี้ เพราะอย่างที่รู้กันว่าใจมนุษย์นั้น "ยากแท้หยั่งถึง" การบริหารจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management กำลังเป็นเรื่องทอปฮิต ตั้งแต่ความพยายามในการค้นหาข้อมูลให้เก่งและตรงเป้ามากยิ่งขึ้น การจัดการกับคำศัพท์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไร ไปจนถึงการใช้ข้อมูลที่มีมาตรฐานเดียวกัน

 

แต่ในสังคมมนุษย์ก็คงต้องยอมรับสภาพว่า มีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษควบคู่กันไป ในกรณีของไอซีทีนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเรากำลังมีปัญหากับ "ขยะข้อมูล" มากขึ้นทุกที จะจัดการกับขยะหน้าบ้านก็เหม็นอยู่แล้ว แต่กับขยะข้อมูลสามารถจะเหม็นเน่าเป็นปีๆ โดยไม่รู้จะจัดการอย่างไร เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไอซีที เพราะสมองและปัญญาของ มนุษย์จะคิดค้น จัดเก็บ และเผยแพร่มากขึ้นทุกวินาทีก็ว่าได้ หากไม่มีกลไกในการคุ้มครอง ในส่วนที่สมควรจะคุ้มครอง ก็จะมีปัญญาหดหายไปอีกมาก เพราะกลัวถูกยึดครอง หรือเอาไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต จะอย่างไรก็ตาม สังคมไอซีทีในอนาคตจะวนเวียนอยู่กับการแพร่กระจายของข้อมูลและความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ซึ่งทุกคนสามารถเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้ การเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า e-Learning ก็จะแพร่หลายในหลากหลายรูปแบบ รัฐบาลต่างๆ ก็จะตกแต่งตัวเองให้เป็น e-Government มหาวิทยาลัยเสมือน Virtual University ก็จะผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แม้กระทั่งความปลอดภัยของมนุษยชาติก็จะถูกรบกวน จากสงครามไอซีที (Cyber Warfare)

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 30 มกราคม 2546

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.