ไวแม็กซ์...เริ่มนับถอยหลัง

คอลัมน์ ไอทีทะลุโลก

"ไวแม็กซ์" เป็นมาตรฐานเครือข่ายความเร็วสูงแบบใหม่อีกแบบหนึ่งซึ่งมีรัศมีของสัญญาณไปได้ไกลสูงสุดถึง 35 ไมล์ แต่ระยะหวังผลได้จริงอยู่ที่ประมาณ 2-3 ไมล์ ซึ่งก็ถือว่าไกลมากเมื่อเทียบกับเครือข่ายไร้สายในปัจจุบัน เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อว่าจะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง เพราะสามารถทะลวงข้อจำกัดเดิมๆ ในเรื่องสายโทรศัพท์ไปได้ โดยผู้ให้บริการเองก็ใช้เงินลงทุนต่ำลงมาก

หากดูจากกำหนดการของอินเทล ซึ่งเป็นหัวหอกในการพัฒนาไวแม็กซ์ ในครึ่งแรกของปีหน้าก็จะมีผลิตภัณฑ์ออกมาขายกันแล้ว โดยเริ่มจากไวแม็กซ์ เบสสเตชั่น สำหรับเป็นตัวกลางในการเชื่อมเครือข่ายภายในสำนักงาน, ฮอตสปอต หรือในพื้นที่พิเศษอื่นๆ ขั้นต้นนี้ต้องติดตั้งเสาสัญญาณภายนอกอาคาร น่าจะใช้สำหรับการเชื่อมเครือข่ายระหว่างอาคาร หรือแม้กระทั่งใช้เป็นตัวเชื่อมสัญญาณโทรศัพท์มือถือระหว่างที่กำลังเคลื่อนที่ ทดแทนรูปแบบเดิม เพื่อประหยัดแบนด์วิดท์ของสัญญาณโทรศัพท์ก็ได้

ขั้นสองอยู่ในราวครึ่งปีหลังของปี 2548 ขั้นนี้จะออกมาสำหรับการติดตั้งภายในบ้านหรือสำนักงานที่สะดวกและประหยัดมากขึ้น สามารถติดตั้งเองได้ในการเชื่อมเครือข่าย โดยเป็นการใช้งานร่วมกับไวไฟ อุปกรณ์ไวแม็กซ์ในขั้นที่สองนี้ จะว่าไปแล้วก็คือตัวแอ็กเซสพอยต์นั่นเอง ข้อดีอยู่ตรงที่ความเร็วสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น 75 เมกะไบต์ต่อวินาที และระยะทางไปได้ไกลโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ไมล์ เครื่องลูกข่ายยังคงใช้ไวไฟเหมือนเดิม ในขั้นสองนี่เองที่เราจะเห็นความเป็นไปได้ของการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งมีรัศมีครอบคลุมได้กว้างขวางกว่ามาตรฐานไวไฟไปมาก เบสสเตชั่น หรือแอ็กเซส พอยต์ อาจจะเชื่อมอินเทอร์เน็ตผ่านเอดีเอสแอลโมเด็ม หรือรูปแบบอื่นๆ แต่สามารถกระจาย สัญญาณให้เครื่องลูกข่ายสามารถใช้จากระยะไกลได้

และในขั้นที่สามก็คือครึ่งแรกของปีถัดไป อินเทลตั้งเป้าว่าไวแม็กซ์จะเข้าไปอยู่ในอุปกรณ์ไอทีที่เราใช้กันไม่ว่าจะเป็นโน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ พีดีเอ เป็น ต้น โดยผนวกเอาไวแม็กซ์และไวไฟเข้าไว้ด้วยกัน และประเมินกันว่าราคาก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกับเทคโนโลยีไวไฟที่สามารถเข้าถึงกันได้ในปัจจุบันนี้

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 กันยายน 2547

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.