"เวอริชิพ" ตามติดทุกการเคลื่อนไหวมนุษย์
เวอริชิพ" ปฏิมากรรมเทคโนโลยียุคใหม่ที่น่าจับตาใกล้ชิด
เหตุเป็นสิ่งหนึ่งที่จะเข้าไปมีส่วนช่วย ในการดำรงชีวิต มนุษย์อย่างแท้จริง ที่สำคัญเป็นอีกเทคโนโลยี
ที่เข้าไปมีส่วนผลักดัน เปลี่ยนแปลงการดำเนินการ ในหลายวงการต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นวงการแพทย์, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตลอดจนองค์กรอุตสาหกรรมอื่นๆ
ทั้งนี้หากใครเคยชมภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์สมมติ
หรือไซ-ไฟ อย่าง Sixth day มาบ้าง คงพอคุ้นตา
กับฉากการฝังชิพไว้ในตัวมนุษย์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ และดูเหมือนภาพยนตร์แห่งจินตนาการเหล่านั้นกำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาบ้างแล้ว
เมื่อมีความพยายามในการคิดค้นชิพสำหรับฝังไว้ภายในร่างกายมนุษย์
เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ อาทิ สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉิน และขอความช่วยเหลือ กรณีเด็กเกิดอุบัติเหตุ
หรือบอกถึงยามที่ผู้ขับขี่เมาสุรามีอาการแพ้ รวมถึงประวัติการรักษา
เพื่อประกอบการวินิจฉัยของแพทย์ที่รับตัวผู้ประสบเหตุดังกล่าว
เข้ารักษาในโรงพยาบาล นอกจากนี้ เมื่อพ่อแม่เด็กเดินทางถึงโรงพยาบาล พวกเขาก็เพียงยื่นมือข้างที่ฝังชิพไว้ของตัวเอง
เพื่อจัดการกับค่าใช้จ่าย ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะมีข้อมูลเชื่อมต่อประกันสุขภาพที่พวกเขาทำไว้แล้วนั่นเอง
แม้ขณะนี้ ภาพเหตุการณ์ตัวอย่างเหล่านั้น จะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ทุกอย่างที่กล่าวถึง
ก็สามารถเป็นไปได้ ด้วยเทคโนโลยีชิพดังกล่าว ซึ่งอาจมีประโยชน์อื่นอีกมากมายนอกเหนือจากที่กล่าวถึง
ไม่ว่าจะเป็นการชี้ตำแหน่งกรณีเด็กหลงทาง หรือกระทั่งผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
นายคริส ฮาเบิลส์ เกรย์ ศาสตราจารย์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเกรท
ฟอลล์ ในมอนแทนา กล่าวถึงชิพดังกล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว ชิพจะเป็นเสมือนบัตรเครดิต
ที่ทำให้เราไม่จำเป็นพกพาเงินสดติดตัวอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม นายลี เตียน
ทนายความอาวุโสแห่งมูลนิธิอิเล็กทริค ฟรอนเทีย ให้ข้อคิดไว้ว่า เทคโนโลยีใด ก็ตาม
ในทำนองนี้ ย่อมเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้ง่าย พร้อมชี้ว่า
หากสามารถเฝ้าติดตาม ความเคลื่อนไหวของเด็กได้ พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นจะยอมให้ผู้อื่นติดตามด้วยได้หรือไม่
ซึ่งกรณีนี้ ไม่ต่างอะไรกับการเป็นดาบสองคมนั่นเอง การวิจัยและถกเถียงเกี่ยวกับไมโครชิพแบบฝัง
ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว โดยหากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2541 มีการทดลอง ฝังชิพไว้ภายในแขนของนายเควิน วอร์วิค ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยรีดดิง
นอกกรุงลอนดอน เพื่อติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของคอมพิวเตอร์ว่า
สามารถสื่อสารไร้สายสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ของนายวอร์วิค ภายในบริเวณ
มหาวิทยาลัยหรือไม่
ไฟเขียวทดลองฝังชิพในมนุษย์
จากนั้นบริษัท แอพพลายส์ ดิจิทัล โซลูชั่นส์
อิงค์. (เอดีเอส) ในรัฐฟลอริดา กลายเป็นอีกหนึ่งความพยายามล่าสุด
ที่ต้องการผลักดันให้การทดลองต่างๆ เกิดขึ้นนอกเหนือจากงานวิจัยในสถาบันการศึกษาเท่านั้น
ซึ่งรวมถึงความ พยายาม ในการฝังชิพตามร่างกายและมือของมนุษย์ ตัวแทนของบริษัท
เผยว่า เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอาหารและยาอนุญาตให้มีการทดลองอุปกรณ์ "เวอริชิพ" (VeriChip) กับมนุษย์ได้แล้ว
โดยชิพดังกล่าว จะมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวและสามารถใส่รหัสเพื่อป้อนข้อมูลต่างๆ จากนั้นจึงทำการฝังไว้ภายใต้ชั้นผิวหนังของมนุษย์
เมื่อชิพที่ถูกฝัง ได้รับการตรวจจับจากเครื่องอ่านข้อมูลขนาดพกพา จะทำให้ทราบถึงหมายเลขส่วนบุคคล
(ID) ซึ่งเชื่อมต่อกับไฟล์ฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่บรรจุไปด้วยข้อมูลรายละเอียดต่างๆ
ของเจ้าของหมายเลข
กระนั้นนายเคธ โบลตัน
หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของเอดีเอส กล่าวว่า เวอริชิพยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น
พร้อมเผยว่า ก่อนหน้านี้บริษัทเริ่มทดลองนำเวอริชิพ ติดตั้งไว้ในผลิตภัณฑ์อีกชิ้นของบริษัท
ที่เรียกว่า "ดิจิทัล แองเจิล" (Digital Angel) ซึ่งมีขนาดเท่ากระดาษ
เพื่อให้สถานดูแลและพ่อแม่ สามารถเฝ้าติดตามอาการและความเคลื่อนไหวของผู้ป่วย และเด็กได้ตลอดเวลาผ่านทางดาวเทียมระบบค้นหาตำแหน่งทั่วโลก
(จีพีเอส) นายโบลตัน เผยต่อว่า
หากนำทั้งสองชิ้นมารวมกัน ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้น จะมีขนาด ราวหนึ่ง ในสี่ ของเหรียญ
ที่ใช้กันอยู่ ในสหรัฐ และยังสามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นสำหรับเฝ้าติดตามผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย
ปัญหาก่อการร้ายเร่งพัฒนาเร็ว
ขณะเดียวกัน การทดลองฝังชิพดังกล่าว
กำลังได้รับการจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจาก เกิดเหตุก่อการร้าย
ในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน นายริชาร์ด ซีลิก อดีตศัลยแพทย์ ซึ่งปัจจุบันรับเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ให้กับเอดีเอส
กลายเป็นมนุษย์ คนแรกที่ ได้รับการฝังเวอริชิพไว้ในแขนและสะโพกเมื่อวันที่ 16 กันยายน โดยเขากล่าวถึงการตัดสินใจเป็นหนูลองยาของตัวเองว่า เกิดขึ้นจากการที่เขาเห็นภาพหน่วยกู้ภัยในเหตุการณ์ตึกเวิลด์เทรด
เซ็นเตอร์ ถล่ม เขียนข้อมูลบนผิวหนังของพวกเขา เพื่อใช้เป็น
เครื่องหมายชี้ตัวบุคคล หากเกิดกรณีที่พวกเขาได้รับบาดเจ็บจากการกู้ซากตึกถล่มดังกล่าว
นายซีลิก ระบุว่า นั่นเป็นสิ่งชี้ชัดถึงความจำเป็นที่ต้องมีรูปแบบของระบบรักษาความปลอดภัยส่วนบุคคลที่พัฒนาขึ้น
และทำให้เขาตัดสินใจทดลองฝังชิพไว้ในตัวเอง ยิ่งกว่านั้น
ไม่เพียงแต่นายซีลิกเท่านั้น ที่อาสาเข้าร่วมการทดลองครั้งนี้ แต่ผู้สนใจอีกราว 50 คน ก็ตัดสินใจเข้าร่วมลงทะเบียน กับบริษัท เพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองเวอริชิพแล้วเช่นกัน
กระนั้น ความพยายามต่างๆ ที่คาดหวังไว้ อาทิ
การค้นหาเด็กพลัดหลงกับพ่อแม่ หรือการแจ้งขอช่วยเหลือในเหตุฉุกเฉิน
อาจไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยนอกเหนือจากการต้องรอให้องค์การอาหารและยาอนุมัติการฝังชิพ
ในมนุษย์แล้ว ซึ่งอาจกินเวลานานหลายปี ผู้เชี่ยวชาญบางราย ชี้ว่า ยังมีอุปสรรคอื่นอีกหลายอย่างรอให้แก้ไขอยู่ด้วยเช่นกัน
ที่มา : เอบีซีนิวส์.คอม
|