"ซอฟต์แวร์พลวัต" ทางเลือกใหม่อุตสาหกรรมไทย
"มนู" แนะผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย ใช้แนวคิด "ซอฟต์แวร์พลวัต" เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ พร้อมเกาะติดเทคโนโลยีที่กำลังเปิดกว้างไปสู่อุปกรณ์สื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
นายมนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบใหม่นี้เรียกว่า สถาปัตยกรรมระบบประมวลผลกระจายพลวัต (Dynamic Distributed system Architecture) ซึ่งตัวโปรแกรมนั้นจะสามารถไปทำงานกับเครื่องลูกข่ายอะไรก็ได้ที่ต่อเข้ามา ไม่ได้มีลักษณะเป็นระบบ "แม่ข่าย-ลูกข่าย" เหมือนเดิมอีกแล้ว โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนในระบบนี้ จะอยู่ในรูปของ "โมบาย โค๊ด" ในภาษาจาวา ซึ่งผ่านการแปลงให้เป็น "ไบต์โค๊ด" เพื่อให้โปรแกรมนั้นสามารถไปทำงานกับอุปกรณ์ใดก็ตามที่รู้จักไบต์โค๊ดดังกล่าว ทำให้โปรแกรมดังกล่าวไม่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะอุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่ง
จำเป็นต่ออุปกรณ์สื่อสาร
แนวคิดดังกล่าว เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในสภาพแวดล้อมการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่, คอมพิวเตอร์มือถือ และปาล์ม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก และไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส หรือยูนิกซ์อีกแล้ว ดังนั้น เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริง วงการพัฒนาซอฟต์แวร์จำเป็นจะต้องสร้างภาษากลาง (Universal Language) ขึ้นมา เพื่อให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถติดต่อสื่อสารกับเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ตามมาตรฐาน "อินเทอร์เน็ต โปรโตคอล" ซึ่งถือเป็นมาตรฐานสื่อสารของอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน
เทคโนโลยีใหม่นี้ จะช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสารกันได้ รับ-ส่งข้อมูลกันได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกัน โปรแกรมใช้งานต่างๆ ก็จะมีสภาพเป็น "บริการอิเล็กทรอนิกส์" ที่ไร้พรมแดน (dynamic) มากขึ้น เพราะผู้ใช้สามารถดึงโปรแกรมไปใช้งานกับอุปกรณ์ของตัวเองได้
ตัวอย่างธุรกิจที่จะได้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดจากแนวคิดเรื่องโปรแกรม สถานีบริการน้ำมันแบบใหม่ ที่เน้นการเขียนโปรแกรมให้ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ในปั๊ม ให้สามารถสื่อสารข้อมูลร่วมกันได้ ตั้งแต่หัวจ่ายน้ำมัน ถังเก็บน้ำมัน และระบบชำระเงิน จากปัจจุบันทุกระบบแยกกันทำงานเป็นอิสระ ด้วยโปรแกรมที่สื่อสารถึงกันได้นี้ จะทำให้เจ้าของปั๊มสามารถทราบข้อมูลผู้ใช้บริการได้ สร้างรายการสะสมแต้มการใช้บริการ บริการระบุยืนยันรถที่มาใช้บริการได้ และตรวจสอบสถานะของหัวจ่ายกับน้ำมันที่เหลือได้ นอกจากนั้น โรงพยาบาลต่างๆ หากนำแนวคิดนี้ไปใช้ จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และลดความผิดพลาดลงได้ เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสารกันได้ เช่น เครื่องมือแพทย์กับคอมพิวเตอร์ติดต่อกันได้ หรือห้องจ่ายยา กับการลงใบสั่งยาของแพทย์ โดยแต่เดิมแพทย์จะเขียนใบสั่งยาบนกระดาษ แล้วคนไข้นำกระดาษนั้นไปให้ห้องจ่ายยา เภสัชกร จะจ่ายยาตามใบสั่ง ซึ่งมีโอกาสที่เภสัชกรจะอ่านผิด แต่ด้วยระบบใหม่ แพทย์สามารถระบุยา และปริมาณ ตลอดจนวิธีการรับประทานได้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และส่งตรงไปยังห้องจ่ายยา โอกาสผิดพลาดก็จะลดน้อยลง
นายมนู กล่าวว่า แนวคิดนี้ จะสามารถทำได้โดยใช้ "จินนี (Jini)" ซึ่งเป็นทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นเครื่องมือในการเขียนโปรแกรม (โปรแกรมมิ่ง ทูลส์) เพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์แบบพลวัต โดยผู้พัฒนาเองสามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่ ชุดเครื่องมือพัฒนาจาวา (JDK:Java Development Kit) ทั้งเวอร์ชั่น 1.2 และ 1.3 มาเขียนเป็นบริการได้ง่ายขึ้น
โครงสร้างการทำงาน
การมีเครื่องแม่ข่ายที่ทำหน้าที่เป็น "จินิเซิร์ฟเวอร์" บริหารการทำงานบริการที่ลงทะเบียนไว้กับเครื่อง โดยจินิเซิร์ฟเวอร์นี้ต้องมีคุณสมบัติ ลุค อัพเซอร์วิส (Look-Up Service) สามารถค้นหาบริการที่มีอยู่ในระบบเครือข่ายได้ โดยใช้หลักการค้นหาด้วยความหมาย (Synmatic) โดยเมื่อมีลูกค้าที่ต้องการเรียกใช้บริการใดๆ จากเครื่องลูกข่ายปลายทางใดๆ (ดีไวซ์) สามารถค้นหาบริการที่ต้องการโดยผ่านบริการลุ๊คอัพเซอร์วิสได้เมื่อค้นหาตรงกับบริการที่ต้องการแล้ว ลุ๊ค อัพเซอร์วิสจะส่ง "พร็อกซี่" ไปยังอุปกรณ์ปลายทางที่ขอใช้บริการ เพื่อทำให้อุปกรณ์นั้นสื่อสาร (อินเตอร์เฟซ) กับบริการที่ต้องการได้ทันที โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมเพิ่มเติมใดๆ ลงไปในอุปกรณ์
ทั้งนี้บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ไทย สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะที่เป็นบริการ (เซอร์วิส) ของตนเอง โดยบริษัทต้องสร้างบุคลากรระดับวิศวกรออกแบบระบบ ( Architecture Designer) ที่เข้าใจสถาปัตยกรรมแบบใหม่ และสร้างสรรค์งานให้บริการใหม่ๆ ได้ รวมทั้งต้องเร่งพัฒนาทักษะบุคลากรระดับนักพัฒนาโปรแกรม (โปรแกรมเมอร์) ที่มีฐานความรู้ด้านจาวาและจินี (Jini) ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบริการได้
"คาดว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ จะเห็นในประเทศไทยได้ในราวต้นปีหน้า โดยดาต้าแมทเองก็อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมบุคลากรและเจรจากับลูกค้าที่จะสร้างบริการบนเทคโนโลยีนี้ได้"นายมนู กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2544
|