รายงาน : ออร์แกนิค ไอที การปฏิวัติเทคโนโลยีในดาต้าเซ็นเตอร์
จากข้อจำกัดของการใช้งบประมาณเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบัน
ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้งานไอทีขององค์กรต่างๆ หวังที่จะสร้างประสิทธิภาพให้กับธุรกิจมากขึ้น
ขณะที่ลงทุนไอทีน้อยลง โดยข้อมูลจากการสำรวจของแมคเคนซี่ ระบุว่าในปี 2546 องค์กรธุรกิจใช้งบประมาณลงทุนโครงการใหม่
เหลือเพียง 31% ที่เหลือ 69% ใช้เพื่อบำรุงรักษาระบบ
เทียบกับปี 2541-2543 มีการลงทุนโครงการใหม่ 35% ขณะที่ 65% ใช้เพื่อดูแลระบบเดิม ดังนั้น
ค่ายเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก จึงนำเสนอแนวคิดการสร้างระบบไอทีให้ทำงานเหมือนอวัยวะมนุษย์
หรือ "ออร์แกนิค ไอที (Organic IT)" ที่ทำให้กลไกทุกอย่างในระบบทำงานเป็นไปอัตโนมัติ เหมือนการทำงานของร่างกายมนุษย์
โดยระบบการทำงานอัตโนมัติดังกล่าว จะช่วยให้องค์กรใช้บุคลากรดูแลจัดการบริหารระบบน้อยลง
ซึ่งบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น หรือไอดีซี ระบุว่า 62.2% ของงบประมาณไอที เป็นค่าใช้จ่ายด้านทีมงาน
นายแฟรงค์ กิลเล็ตต์ นักวิเคราะห์ บริษัท
ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช อิงค์ ซึ่งเป็นสำนักวิจัยด้านไอทีระดับโลก ระบุว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มการปฏิวัตินำเทคโนโลยี
"ออร์แกนิค ไอที" เข้ามาสนับสนุนการทำงานของศูนย์ข้อมูล
(ดาต้า เซ็นเตอร์) ให้สามารถจัดการระบบได้ด้วยตนเอง
ทำงานได้อย่างราบรื่นอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม
ในการผลักดันไปถึงเป้าหมายดังกล่าวนั้น องค์กรจำเป็นต้องมีการจัดการเชิงรุก
ใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐานระบบเปิด และมีการรวมเครือข่ายสื่อสารในองค์กรเข้าเป็นระบบเดียวกัน
(เน็ตเวิร์ค ยูนิฟายด์) นักวิจัยผู้นี้ยังเชื่อว่า
องค์กรที่นำแนวคิดการทำระบบศูนย์ข้อมูลในลักษณะนี้มาใช้
จะสามารถลดต้นทุนไอทีลงกว่า 50%
แต่ยอมรับว่าองค์กรต้องใช้เวลากว่า 5 ปี
เพื่อทำระบบให้สมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะการใช้เวลาเพื่อรวมเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่กับแนวคิดใหม่
5 ค่ายชั้นนำโดดร่วม
ปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก
ต่างก็เห็นแนวโน้มดังกล่าว และนำเสนอผลิตภัณฑ์ของตนให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้า
โดยชูจุดขายที่เป็นชื่อเฉพาะทางการค้าที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย ฮิวเลตต์-แพคการ์ด
หรือเอชพี เสนอเทคโนโลยี "อะแดปทีฟ อินฟราสตรัคเจอร์"
ซึ่งหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงตอบสนองธุรกิจ
ขณะที่ เดลล์ คอมพิวเตอร์ ชูแนวคิด "ไดนามิค คอมพิวติ้ง"
ที่เป็นระบบประมวลที่ปรับเปลี่ยนต่อธุรกิจที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว ด้านไอบีเอ็มเอง
ก็มีจุดขาย "อี-บิสซิเนส ออน
ดีมานด์" ที่ช่วยให้การใช้ไอทีตอบสนองการทำธุรกิจที่ยืดหยุ่นได้ตามต้องการ
ส่วนซัน ไมโครซิสเต็มส์ มีจุดขาย "เอ็น 1" หรือเน็ตเวิร์ค วัน สามารถบริหารเครือข่ายดาต้า เซ็นเตอร์
ที่กระจายอยู่ให้เสมือนเป็นระบบเดียว ล่าสุด ไมโครซอฟท์ก็ประกาศระบบปฏิบัติการ (โอเอส) สำหรับเครื่องแม่ข่าย "วินโดว์ส เซิร์ฟเวอร์ 2003" ซึ่งนับเป็นโอเอสตัวแรกที่ตอบสนองการทำงานที่เป็นออร์แกนิค
ไอที ทำให้การบริหารโครงสร้างพื้นฐานไอทีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยการยุบรวมเครื่องแม่ข่าย
และบริหารจัดการระบบอัตโนมัติ
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม 2546
|