ยนตรกรรม ธรรมชาติ ลมหายใจสีเขียว ... (เหลือง)
น้ำค้าง ไชยพุฒ
"โชติช่วงชัชวาล"
วลีที่ติดปากคนไทยในสมัยที่ "ป๋า"
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
และเป็นยุคที่มีการสำรวจพบแหล่งพลังงานธรรมชาติในอ่าวไทย จนจุดประกายความหวังที่จะนำเอาก๊าซธรรมชาติมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศที่ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราต่างประเทศ
มาถึงวันนี้ ก๊าซธรรมชาติที่อยู่ใต้ท้องทะเลไทย ไม่ได้มีแค่บทบาทในการผลิตกระแสไฟฟ้าเท่านั้น
แต่ยังได้นำพลังงานก๊าซธรรมชาติ NGV มาใส่ถังน้ำมันรถยนต์เป็นเชื้อเพลิงพิสุทธิ์
ช่วยลดการแพร่กระจายมลพิษสู่ธรรมชาติ แต่ถนนสำหรับยานยนต์ NVG ยังเต็มไปด้วยขวากหนาม
ใครที่ยังติดภาพเก่าๆ
อยู่ว่ารถยนต์จะวิ่งได้ต้องมีน้ำมันหล่อเลี้ยงอยู่ในถัง อาจจะต้องลบภาพหรือล้างความคิดนี้ออกจากสมองกันสักนิด
ในเมื่อทุกวันนี้ไม่ได้มีน้ำมันเท่านั้นมีช่วยให้วิ่งไปยังจุดหมายได้ แต่กลับมีพลังงานเชื้อเพลิงทางเลือกหลากรูปแบบแตกต่างกันออกไป
โดยเฉพาะพลังงานสะอาดที่ได้จากแสงอาทิตย์, แต่ในบรรดาพลังงานทางเลือกที่รู้จักและได้ยินชื่อกันดี
จะมีใครสักคนที่รู้ว่า "ก๊าซธรรมชาติ" ก็มีความสามารถช่วยให้รถยนต์วิ่งได้เช่นกัน แถมประสิทธิภาพก็แทบไม่ต่างกัน
ที่สำคัญไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผลิตได้เองในประเทศ
จากใต้ท้องทะเลสู่ยานยนต์
NGV ของบริษัท
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.ได้ก้าวเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเงียบๆ
โดยเฉพาะตลาดสำหรับผู้ขับขี่ตามบ้าน และแม้จะเป็นแฝดคนละกับก๊าซหุงต้มที่คุ้นเคยกันดีของบรรดาโชเฟอร์รถแท็กซี่
และเป็นสมาชิกใหม่ของพลังงานทางเลือกต่างๆ ที่ถูกปั้นฝันเป็นโครงการที่รอวันเกิด ไม่ว่าจะเป็น
ไฮโดรเจน, เอธานอล, ไบโอดีเซล ดีโซฮอล์
จะยกเว้นก็แต่แก๊สโซฮอล์ที่บริษัท บางจาก ได้นำมาให้บริการตามสถานีแล้วบางแห่ง นายจิตรพงษ์
สุขกว้างสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด หน่วยงานซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในโครงการใช้ก๊าซเอ็นจีวี กับยานยนต์มาตั้งแต่เริ่มแรกเปิดเผยว่า
"เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศถึงประมาณร้อยละ
95 ของปริมาณการใช้ทั้งหมดภายในประเทศ
เฉพาะภาคขนส่งที่ต้องใช้น้ำมันมากกว่าส่วนอื่นๆ จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของต่างประเทศมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก
และแน่นอนทำให้รัฐบาลต้องแบกรับภาระเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบจากการเข้าไปชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม
ดังนั้น หากสามารถนำก๊าซธรรมชาติที่สามารถจัดหาได้ในประเทศ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันและก๊าซหุงต้ม
ทั้งในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมได้ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญสุดก็คือช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศอันเนื่องมาจากฝุ่นละอองและคาร์บอนมอนนอกไซด์สูงเกินมาตรฐานที่จะยอมรับได้
เพราะก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานที่สะอาด"
"ปกติแล้วก๊าซธรรมชาติที่ใช้สำหรับยานยนต์
เราเรียกกันว่า "ก๊าซเอ็นจีวี" (Natural
Gas for Vehicle) เป็นก๊าซชนิดเดียวกันกับก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
เอ็นจีวีเป็นก๊าซน้ำหนักเบา เก็บกักค่อนข้างยาก จึงไม่ค่อยมีใครนิยมใช้ เมื่อเทียบกับก๊าซแอลพีจี
หรือก๊าซหุงต้ม ซึ่งใช้ประกอบอาหารปกติทั่วไปตามบ้าน ซึ่งเป็นก๊าซธรรมชาติที่น้ำหนักมากทำให้สามารถกักเก็บได้ง่าย
ทำให้นิยมมาใช้กับรถยนต์มากกว่าเอ็นจีวี
เห็นได้จากการใช้งานในรถแท็กซี่และตุ๊กตุ๊ก มานานหลายสิบปีแล้ว" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพล บุญจันต๊ะ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกผู้หนึ่งซึ่งคร่ำหวอดในวงการก๊าซเอ็นจีวีมานานหลายปี
เล่าให้ฟัง ถึงแม้จะก๊าซเอ็นจีวี จะเก็บกักยากกว่าแอลพีจีแต่เมื่อเทียบราคาแล้ว ราคาต่ำกว่ามาก
และปล่อยมลพิษได้น้อย ที่สำคัญคือสามารถผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งเป็นข้อดีที่ ดร.พิพล หวังว่า จะทำให้บ้านเราหันมาใช้เอ็นจีวีกับรถยนต์ในภายหลัง
ก๊าซเอ็นจีวี
ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับยานยนต์ในไทยตั้งแต่ประมาณปี 2536 พร้อมๆ กับประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นมีความประสงค์ให้ประชาชนหันมาใช้เชื้อเพลิงซึ่งไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งมีปริมาณการปล่อยมลพิษน้อยมาก เมื่อเทียบกับรถยนต์ซึ่งใช้น้ำมันดีเซล
หรือเบนซิน หากใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์แบบเดียวกันแล้ว โครงการแรกที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี
กับยานยนต์ เริ่มจากที่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการจัดซื้อรถโดยสารประจำทางจำนวน
82 คัน ให้กับองค์การขนส่งมวลชน
โดยเลือกรถโดยสารที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ในการขับเคลื่อนรถ โดยไม่อาศัยเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน
โดยได้จัดสรรงบประมาณถึง 400 ล้านบาท โดยงบส่วนหนึ่งถูกนำไปสร้างสถานีเติมก๊าซเอ็นจีวี
ในอู่ของ ขสมก.
เพื่อพี่น้องเขียว-เหลือง
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไทยริเริ่มใช้ก๊าซเอ็นจีวี
กับรถยนต์ก็เพราะว่า ช่วงนั้นเกิดวิกฤติราคาน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้นมาก
ขณะที่ก๊าซหุงต้ม ซึ่งเดิมใช้กันในรถยนต์กันอยู่บ้างแล้ว ก็มีราคาสูงตามขึ้นไปด้วย
เนื่องจากใช้ฐานในการคำนวณราคาแบบเดียวกัน ราคาสูงน้ำมันและก๊าซหุงต้มสูงขึ้นกว่าเดิมนี้เอง
ได้เพิ่มภาระอย่างหนักให้ผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้มีอาชีพขับแท็กซี่ ซึ่งได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเป็นการด่วน
ซึ่งทางหนึ่งก็คือการสนับสนุนให้รถแท็กซี่หันมาปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ให้สามารถเลือกใช้งานระหว่างน้ำมันเบนซิน
หรือก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาถูกกว่าหลายบาทก็ได้
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เล่าถึงเหตุการณ์นี้ว่า "เมื่อปี พ.ศ.2543
คนขับแท็กซี่หลายชีวิต ซึ่งเดือดร้อนจากเหตุการณ์ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นรัฐบาลจึงเริ่ม
โครงการรณรงค์ช่วยเหลือคนขับแท็กซี่ให้หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทน การใช้น้ำมันและก๊าซหุงต้ม
เริ่มด้วยการช่วยเหลือระยะแรกกับแท็กซี่จำนวน 100 คัน โดยมีกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนดัดแปลงสภาพรถเป็นเงินจำนวนประมาณ 40,000-60,000
บาทต่อ 1 คัน เมื่อมีการประเมินผลแล้ว พบว่า
แท็กซี่พึงพอใจกับโครงการดังกล่าว รัฐจึงเริ่มโครงการต่อเนื่องเมื่อต้นปี 2545
โดยเพิ่มจำนวนแท็กซี่ในโครงการดังกล่าวเป็น 10,000 คัน โดยแบ่งระยะของการดำเนินการเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะเพิ่มแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีอย่างเดียวจำนวน
3 พันคัน โดยทาง ปตท.จะออกค่าถังให้ 15,000 บาท และให้กองทุน ช่วยจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่แท็กซี่กู้จากธนาคารออมสิน
หลังจากนั้นจะเริ่มระยะที่ 2 จะเพิ่มเป็นอีก 7 พันคัน โดย ปตท.จะไม่ออกค่าถังให้แล้ว
แต่กองทุนยังออกค่าดอกเบี้ยให้เช่นเดิม
โครงการยังเตรียมขยายจำนวนรถแท็กซี่ซึ่งหันมาใช้พลังงานเอ็นจีวีแทนน้ำมันแบบ
100
เปอร์เซ็นต์ เป็น 40,000 คัน
จากแท็กซี่ทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 69,000 คัน ภายในปี
2551 และยังสนับสนุนให้รถประเภทที่วิ่งตามเส้นทางเป็นประจำเข้าร่วมโครงการเอ็นจีวีด้วย
เช่น รถขยะรุ่นใหม่ของ กทม.ซึ่งทางกองทุนได้ให้เงินสนับสนุน กทม.ไปกว่าร้อยล้านบาทเพื่อจัดซื้อรถรุ่นใหม่ที่ใช้เอ็นจีวีแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภายในปีนี้จะเสร็จสิ้นกระบวนการประมูลหาผู้จัดส่งรถและสามารถนำออกมาวิ่งตามเส้นทางเก็บขยะได้
69 คัน เช่นเดียวกันกับรถเมล์จาก ขสมก.ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นรถประเภทแรกที่เริ่มต้นการใช้เอ็นจีวีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
จากเมื่อก่อนมีจำนวน 82 คัน แต่สึกหรอไปตามอายุ
ทางกองทุนจึงมอบเงินสนับสนุนกับ ขสมก.จำนวน 44 คันๆ ละ 1
ล้านบาทเพื่อทำการปรับปรุงจนรถสามารถใช้งานได้ปกติ และเตรียมหาทางเจรจาให้ทาง ขสมก.สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ต่อไปในอนาคต
นายจิตรพงษ์ ชี้ว่า หากสามารถรณรงค์ให้คนขับแท็กซี่หันมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีได้ทั้งหมดจะสามารถนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เพิ่มมากขึ้น 2,670 ล้านลูกบาศก์ฟุต ลดปริมาณการใช้ดีเซลลงได้ประมาณ 759,000 ลิตรต่อปี ทดแทนการใช้เบนซิน 76 ล้านลิตรต่อปี
หรือทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มได้ 55,220 ตันต่อปี อีกทั้งยังช่วยแท็กซี่ประหยัดค่าน้ำมันเบนซินได้
43,861 บาท/คัน/ปี
ช่วย กทม.ประหยัดได้ 3.6 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ช่วยลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์
เมื่อเทียบกับเบนซิน โดยสามารถลดปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ ได้ 78,000 กิโลกรัมตัน/ปี ลดปริมาณคาร์บอนมอนออกไซด์ได้ 480,000 กิโลกรัมต่อปี และ ลดปริมาณฝุ่นละอองได้ 3,416
กิโลกรัมต่อปีเลยทีเดียว"
ปัจจุบันทาง ปตท.เตรียมขยายสถานีบริการรองรับปริมาณรถแท็กซี่ที่หันมาใช้เอ็นจีวีมากขึ้น โดยขณะนี้เปิดให้บริการไปแล้ว
21 แห่ง ใน กทม.19 แห่ง
และในต่างจังหวัด 2 แห่ง คือ ที่ชลบุรี และระยอง
แต่จะทยอยเปิดให้ครบ 115 สถานี ภายในปี 2551 ขณะเดียวกัน ปตท.ยังจับมือกับกระทรวงพลังงาน
และธนาคารกรุงไทย ในการจัดทำโครงการแท็กซี่เอื้ออาทร จำนวน 100,000 คัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องของเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ
พลัง (งาน) ไทยช่วยไทย
ถึงแม้ไทยกับสหรัฐจะเริ่มการใช้ก๊าซเอ็นจีวี
ในระยะเดียวกัน แต่เมื่อเทียบปริมาณรถที่ใช้จนถึงตอนนี้แล้ว กลับห่างกันลิบลับ ขณะที่บ้านเรามีไม่ถึง
1,000 คัน สหรัฐมีมากถึง 800,000 คัน เช่นเดียวกันกับในประเทศที่เริ่มใช้มานานอย่างอิตาลี
ซึ่งเริ่มมากว่า 60 ปีแล้วนั้น มีปริมาณรถยนต์มากถึงล้านกว่าคัน
เยอรมนีมีมากถึง 1 หมื่นกว่าคัน อาร์เจนตินาก็ 1 ล้านกว่าคัน
แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียก็มีรถใช้ก๊าซเอ็นจีวี ปาเข้าไปกว่า 10,000 กว่าคันเข้าไปแล้ว "เหตุที่ประเทศเรามีจำนวนรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี
น้อยกว่าใครเพื่อน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ต้นทุนในการดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้มาใช้ก๊าซเอ็นจีวี
ได้ด้วยนั้นสูงมาก โดยการปรับสภาพรถหนึ่งครั้งจะต้องใช้ต้นทุนสูงถึงกว่า 5 หมื่นบาท โดยทีมงานจะทำการติดตั้งระบบก๊าซเพิ่มเติมขนาดไปกับอุปกรณ์ หรือระบบของน้ำมันเบนซิน
และดีเซล ติดหัวฉีด, ตัวลดความดัน, ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการสั่งจ่ายก๊าซ
และติดตั้งถังก๊าซไว้ด้านในกระโปรงรถ ซึ่งทำให้สูญเสียพื้นที่เก็บของไปบางส่วน แต่ในกรณีที่เป็นรถเมล์จะติดตั้งถังไว้ที่ใต้ท้องรถแทน
ทำให้ไม่เสียพื้นที่ใช้สอย โดยถังกักเก็บจะออกแบบให้หนาและหนัก
เพื่อรองรับการอัดก๊าซด้วยความดันสูง ซึ่งช่วยให้เกิดความปลอดภัย ทำให้ราคาสูงตามไปด้วย"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพล กล่าว
การทำงานของรถเมล์ซึ่งใช้ก๊าซเอ็นจีวีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
จะใช้ก๊าซเอ็นจีวี ในระบบการเดินรถทั้งหมด แต่หากเป็นรถแท็กซี่ ซึ่งติดตั้งระบบก๊าซคู่ขนานไปกับระบบการจ่ายน้ำมันแล้ว
รถจะอาศัยการจุดสตาร์ทด้วยน้ำมันในตัวรถก่อน แล้ววิ่งไปสักระยะ คนขับถึงกดปุ่มเลือกว่าจะใช้การเดินรถด้วยก๊าซเอ็นจีวี
หรือน้ำมันก็ได้ เช่น ในกรณีเลือกการเดินรถแบบก๊าซเอ็นจีวี
แล้วระบบจะทำการปิดระบบการจ่ายน้ำมัน มาจ่ายก๊าซเข้าสู่ระบบขับเคลื่อนแทน ปัจจัยเรื่องการคุ้มทุน
ก็เป็นปัญหาหลักอีกอย่างหนึ่ง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพล ชี้ว่า เหตุที่จำนวนของรถที่ใช้เอ็นจีวี มีจำนวนน้อยเพราะว่า การที่จะให้รถบ้าน
หรือรถยนต์ซึ่งใช้งานปกติไม่ใช้แท็กซี่มาดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้รองรับการใช้เอ็นจีวี
ด้วยคงเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อคิดถึงความคุ้มทุนแล้วใช้เวลานานมาก กับการลงทุนต่อคันในการดัดแปลงสภาพรถ
"ในกรณีของแท็กซี่นั้นต้องวิ่งไประยะทางต่อวันเยอะมาก
บางทีเกือบ 5 ร้อยกิโลเมตรต่อวัน ดังนั้น
เมื่อคิดสัดส่วนระหว่างการเสียเงินในการเติมน้ำมัน และการเติมก๊าซเอ็นจีวี
ทดแทนแล้ว บางครั้งช่วยประหยัดเงินได้มากถึง 2-3 ร้อยบาทต่อวัน
การลงทุนดัดแปลงสภาพรถยนต์ก็สามารถคืนทุนได้เพียง 6-7
เดือนเท่านั้น ขณะที่รถบ้านวิ่งเพียงวันไม่กี่กิโลเมตร
เทียบแล้วกว่าจะคืนทุนแล้วนานเป็น 10 ปี ซึ่งก็ไม่น่าจะคุ้ม"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพล กล่าว
ประการสำคัญ
หากแท็กซี่เปลี่ยนมาใช้ เอ็นจีวี ได้แทบทั้งหมดที่มีอยู่ ก็ช่วยลดปริมาณมลพิษในเมืองหลวงได้ระดับหนึ่ง
และยิ่ง ขสมก.เข้าร่วม ด้วยการปรับปรุงสภาพของรถเมล์ให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี
ทั้งหมดด้วยแล้ว ก็ยิ่งช่วยได้มากอีกหลายเท่าตัว
เนื่องจากว่ารถเมล์นั้นวิ่งตลอดทั้งวัน และก่อมลพิษไม่น้อยเช่นกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์
ดร.พิพล ทิ้งท้ายว่า "หากให้ถามว่าคุ้มทุนไหมกับการปรับปรุงสภาพรถเมล์ซึ่งต้องใช้เงินมากถึง
3 แสนบาทต่อคัน ก็อาจจะได้คำตอบว่าไม่คุ้มทุน
ถึงจะคุ้มทุนก็นานหลายปี แต่เราไม่ได้หวังทางการเงิน
สิ่งที่ได้ก็คือลดมลพิษในมหาวิทยาลัยได้มาก ทั้งคนขับและคนโดยสารสบายใจ
และหายใจโล่ง นั่นคือหัวใจสำคัญสุดของความพยายามที่มีค่ากว่าตัวเงินเสียด้วยซ้ำ"
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2547
|