สุจิตร ลีสงวนสุข
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ทั่วโลกเติบโตสูง หากไทยยังมีอุปสรรคจากการใช้วงเงินลงทุนสูง
จึงจะครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วประเทศ ด้านเจ้าของเทคโนโลยีสบช่องเสนอเทคโนโลยีใหม่ลงทุนต่ำกว่าเดิม
3-4 เท่า ผลักดันโอเปอเรเตอร์ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ
300 ล้านครัวเรือน
คือตัวเลขการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใน 20 ประเทศชั้นนำทั่วโลก
ที่มีผู้ใช้บรอดแบนด์ในช่วง 36 เดือนที่ผ่านมา โดยกว่า 40
ล้านครัวเรือน และธุรกิจต่างเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และกว่า 100 ล้านคน เป็นสมาชิกบริการความเร็วสูง ซึ่งแน่นอนว่า บรอดแบนด์ เป็นเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูงที่สุด
โดยเฉพาะในบางประเทศ เช่น สหรัฐที่มีผู้ใช้บรอดแบนด์ 25%
ของประชากร อันเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วกว่าพีซีและการใช้โทรศัพท์มือถือ
ข้อมูลจากแม็คคินซี่ ระบุว่า
ผู้ใช้ทั่วไปบรอดแบนด์ในประเทศแคนาดา เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐ คิดเป็น 84% ของจำนวนผู้ใช้บรอดแบนด์ทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าการใช้งานยังจำกัดเฉพาะในบางประเทศเท่านั้น
โดยเกาหลีใต้มาเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนผู้ใช้บรอดแบนด์มากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่เบลเยียม แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และสหรัฐ มีสัดส่วนประชากรออนไลน์สัดส่วนตั้งแต่
10-25% แม็คคินซี่
ยังได้แบ่งลักษณะการพัฒนาการใช้บรอดแบนด์ออกเป็น 3 ช่วง
ประกอบด้วย ระยะเปิดตัว (Launch) ระยะขยายตัว (Expansion)
และระยะอิ่มตัว (Saturation) ทั้งนี้ประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะการเปิดตัว
ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นการพัฒนา โดยมีครัวเรือนใช้บรอดแบนด์เพียง 10% ของประชากรรวม กลุ่มผู้ใช้จำกัดเฉพาะผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีความเร็วสูงที่เน้นความสะดวกสบายของการเชื่อมต่อเครือข่าย
ส่วนผู้ให้บริการเองก็มีข้อจำกัดในการให้บริการบรอดแบนด์
ที่ต้องใช้เวลาขยายเครือข่ายไปให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด และกำหนดราคาให้ผู้บริโภคยอมรับได้
ขณะที่ภาคธุรกิจที่มีการใช้บรอดแบนด์จะยังจำกัดเฉพาะในธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต
ซึ่งช่วงเวลาเริ่มต้นส่วนใหญ่อยู่ที่ 3 ปี ส่วนระยะขยายตัว
จะเป็นประเทศที่มีการใช้งานบรอดแบนด์สัดส่วน 10-40%
ของประชากร เช่น เบลเยียม แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และสหรัฐ ผู้ใช้ทั่วไปจะไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี
และเป็นกลุ่มที่หวั่นไหวกับราคา
ขณะที่ผู้ให้บริการเอง
จะหาลูกค้าง่ายขึ้น เพราะประชากรหนึ่งคนจะเป็นสมาชิกบรอดแบนด์อย่างน้อย 1 ผู้ให้บริการ โดยผู้ให้บริการเองต้องทำตลาดเจาะกลุ่มมากขึ้น
การขายและการตลาด และผู้ใช้วงกว้าง ซึ่งจะต้องกำหนด ราคา ตามกลุ่มผู้ใช้-ความต้องการ ขณะที่ภาคธุรกิจเริ่มปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ใช้งานบรอดแบนด์
เช่น ธุรกิจอาจเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการเครือข่าย หรือการทำตลาดร่วมกันเฉพาะอุตสาหกรรม
แม็คคินซี่
ยังระบุลักษณะระยะอิ่มตัวว่า เป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานกว่า 40% ของประชากร เช่น เกาหลีใต้ และบางพื้นที่ในสหรัฐ และตลาดเล็กๆ
ในเอเชียแปซิฟิก รวมถึงฮ่องกง และสิงคโปร์ ส่วนของผู้ให้บริการเครือข่ายจะเริ่มรวมเครือข่ายการเข้าถึงบริการเป็นหนึ่งเดียว
(ยูบิควิสตัส) ผู้ใช้จะใช้บริการผ่านโทรศัพท์พื้นฐาน
หรือโทรศัพท์มือถือ หรือผ่านอุปกรณ์ใดๆ ก็ได้ และผู้ใช้จะใช้บริการจากผู้ให้บริการอย่างน้อย
2 ราย ขณะที่ภาคธุรกิจทั่วไปจะสร้างโอกาสใหม่ได้ในวงกว้างด้วย
ช่วงเวลาที่จะถึงจุดอิ่มตัวนั้นขึ้นกับข้อจำกัดของแต่ละประเทศ ทั้งสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต
การแข่งขัน ความสามารถผู้ให้บริการเครือข่ายการจัดการด้านการขายและตลาด อัตราการย้ายบริการของลูกค้า
และกลยุทธ์บริการและเนื้อหา กระนั้นโดยมากจะอยู่ในช่วงเวลา 3
ปี
ชี้ 2 ปัญหาหลักบรอดแบนด์ไทย
นายพงษ์ชัย ศิรินฤมิตร
รองประธาน แผนกลูกค้าภาครัฐ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหลักของการขยายบริการบรอดแบนด์ในไทย ที่ทำให้มีผู้ใช้บริการเพียง
10,000 -15,000 ราย อยู่ที่ผู้ให้บริการเครือข่ายเองมีข้อจำกัดการลงทุนสูงเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วประเทศ
ทำให้ต้องทยอยขยายการให้บริการเฉพาะบางพื้นที่ ขณะที่ผู้ใช้จะไม่ใช้บริการที่ไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการ (โอเปอเรเตอร์)
ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่จะลงทุนให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
หรือ บรอดแบนด์ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่ลงทุนต่ำกว่าเดิม 3-4
เท่า เพื่อผลักดันโอเปอเรเตอร์ให้สามารถบริการบรอดแบรด์ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยนำเสนออุปกรณ์
"อีเธอร์เน็ต ดาต้า แอ็คเซส" (EDA) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อเครือข่ายโอเปอเรเตอร์ให้บริการบรอดแบนด์ไปยังบ้าน
ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบเดิมที่ใช้เทคโนโลยีเอทีเอ็ม ทำให้อุปสรรคการให้บริการบรอดแบนด์ลดลง
ผู้ใช้สามารถใช้บริการทั่วประเทศ ขณะที่ผู้ให้บริการสามารถลงทุนต่ำลงและมีพื้นที่ให้บริการได้ครอบคลุมด้วย
เทคโนโลยีอีเธอร์เน็ตนั้นมีการส่งข้อมูลที่ใช้อินเทอร์เน็ต
โปรโตคอล หรือเป็น ไอพี แพ็คเกจ อยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องแปลงข้อมูลข้ามเครือข่าย
ตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็ก ติดตั้งง่าย โดย 1
อุปกรณ์สามารถรองรับผู้ใช้บริการ 10 ราย และมีระบบที่สามารถตรวจสอบคุณภาพสาย
(loop qualification) ของเลขหมายที่ต้องการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ได้โดยไม่ต้องส่งคนไปตรวจสอบด้วย
ทำให้โอเปอเรเตอร์ลงทุนต่ำลงและง่ายต่อการบำรุงรักษาระบบ นายพงษ์ชัย กล่าว ต่อไป ในอนาคตอันใกล้จะมีผู้ให้บริการรูปแบบใหม่
เซอร์วิส โพรไวเดอร์ ที่จะประสานโครงข่ายของผู้ให้บริการทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือ
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ผู้พัฒนาเนื้อหา นำเสนอบริการบรอดแบนด์ให้ลูกค้า เชื่อมต่อเป็นแวลลูเชน
และแบ่งส่วนแบ่งรายได้ระหว่างกัน ซึ่ง อีริคสัน อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้มีแนวโน้มเป็นเซอร์วิส
โพรไวเดอร์ ในรูปแบบใหม่ 2-3 ราย
แนะธุรกิจสร้างโอกาสใหม่
แม็คคินซี่ ได้แนะภาคธุรกิจว่า
สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีบรอดแบนด์
ในธุรกิจด้านสุขภาพ (เฮลธ์แคร์) โดยอาจให้บริการปรึกษาสุขภาพออนไลน์,
ธุรกิจการศึกษา อาจให้บริการหลักสูตรออนไลน์ การเรียนทางไกล,
ธุรกิจการเงิน ให้บริการอินเตอร์แอคทีฟวิดีโอ ให้บริการปรึกษาทางการเงิน
ส่วนธุรกิจมีเดียและบันเทิงนั้น จะเป็นสองกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบจากบรอดแบนด์ที่จะสามารถให้บริการด้านภาพเคลื่อนไหวและบริการโต้ตอบได้
(อินเตอร์แอคทีฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เซอร์วิส) เช่น
อินเตอร์แอคทีฟ ทีวี
รัฐดันไทยให้บริการบรอดแบนด์เท่าสิงคโปร์
ด้าน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(ไอซีที) กล่าวว่า กระทรวงอยู่ระหว่างการเรียกการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) มาพูดคุยถึงความเป็นไปได้ผลักดันค่าบริการบรอดแบนด์ของไทยต่ำลง
ให้อยู่ในอัตราเทียบเท่ากับสิงคโปร์ภายใน 1 ปี ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายเชื่อมต่อของไทยสูงกว่าสิงคโปร์
2.5 เท่า "ยอมรับว่าปัจจุบัน
มีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ในไทยเพียง 15,000 รายนับว่าน้อยมากเทียบกับประชากร
แต่หากราคาลดต่ำได้ก็จะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อหาความรู้และเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ
กระนั้น กสท.เอง ก็ยังติดต้นทุนวงจรต่างประเทศที่ยังราคาสูง
เพราะปริมาณการใช้ไม่มาก ทำให้ต่อราคาลงมาได้" น.พ.สุรพงษ์ กล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2546