โครงข่ายสื่อสารไร้สายในอนาคต
โทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ที่เราใช้กันอยู่นั้นจะเป็นยุคที่ 2 (ระบบดิจิทัล) และกำลังจะเข้าสู่ยุคที่ 2.5 (ยุคที่ 2 แต่เพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูลให้มากขึ้น) ในปลายปีนี้ ส่วนยุคที่ 3 (ระบบดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบ ทั้งในแง่ของความเร็วในการรับส่งข้อมูล และความสามารถในการนำเสนอบริการที่หลากหลาย)
ผู้เชี่ยวชาญในวงการท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าสำหรับเมืองไทยนั้นน่าจะมีความพร้อมราวปลายปี 2002 แต่การเปลี่ยนแปลง ของโทรศัพท์มือถือในแต่ละยุค เช่น ยุคที่ 2 ไปยังยุคที่ 2.5 หรือจากยุคที่ 2.5 ไปยังยุคที่ 3 นั้นหัวใจสำคัญจริงๆ ขึ้นอยู่กับ ความสามารถของโครงข่ายสื่อสาร
เรื่องที่ควรทราบ
ปัจจุบันเรามีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย คือ DTAC (https://www.dtac.co.th) และ AIS (https://www.ais900.com) ที่ให้บริการโครงข่ายสื่อสารสำหรับโทรศัพท์มือถือยุคที่ 2 ในนามของ World Phone 1800 และ Digital GSM 2 Watts ซึ่งเป็นระบบดิจิทัลเหมือนกัน เพื่อเป็นการเสริมแนวทางการตลาดสำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่ไม่ต้องการเสียค่าใช้บริการรายเดือนนั้น (ประมาณ 500 บาท) ผู้ให้บริการทั้ง 2 ค่ายจึงได้ออกผลิตภัณฑ์โทรศัพท์มือถือระบบจ่ายเงินก่อนใช้จริง (Prepaid) โดยของ DTAC มีชื่อว่า "Dprompt" ส่วนของทาง AIS มีชื่อว่า "One-2-Call" โดยทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นระบบดิจิทัลเหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญในวงการสื่อสารคาดหมายจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของทั้ง 2 ค่าย (ทุกระบบ) ในปัจจุบันว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน ในอนาคตอันใกล้นี้เราจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มเติมอีก 1 ค่าย ในนามของบริษัทซีพีออเรนจ์ (https://www.cporange.co.th) โดยเกิดจากความร่วมมือของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Orange ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในทวีปยุโรป เพื่อที่จะเข้าไปรับช่วงการบริหารคลื่นความถี่และเครือข่ายของ World Phone 1800 ที่อดีตทางบริษัทไออีซีเคยบริหารอยู่ คาดการณ์กันว่า บริษัทนี้จะเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการราวปลายปีนี้
ขณะนี้ทุกค่ายกำลังซุ่มติดตั้งอุปกรณ์ และทดสอบโครงข่ายสื่อสารไร้สายของตัวเองกับโทรศัพท์ยุคที่ 2.5 กันอยู่ เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงคุณภาพและศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้งานจริงในอนาคต ตลอดจนจัดเตรียมในเรื่องความพร้อมของบริการเสริมอื่นๆ ที่จะมาใช้งาน แม้ว่าปัจจุบันจะมีโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับยุคที่ 2.5 เพียงบางรุ่นและบางยี่ห้อเท่านั้น แต่จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลกแล้ว ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ รายใหญ่ของโลก เช่น Nokia (https://www.nokia.com), Ericsson (https://www.ericsson.com), Siemens (https://www.siemens.com) ได้เริ่มเปิดสายการผลิตสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 2.5 กันแล้ว แต่ไม่ค่อยได้เป็นข่าวเท่าไหร่ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ทั้ง 3 ค่ายนั้นเข้าไปมีส่วนร่วมสำคัญในการผลักดันมาตรฐานต่างๆ ทั้งในเรื่องของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือยุคที่ 2.5 และ 3 ในเวทีระดับโลก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจ หากในอนาคตจะมีโทรศัพท์มือถือ ให้เราเลือกใช้ ในช่วงต้นๆ เพียง 3 ยี่ห้อก่อน ซึ่งเราจะเห็นภาพนี้ได้ชัดเจนขึ้นในช่วงต้นปี 2002
ความแตกต่างของโครงข่าย
โทรศัพท์มือถือในยุคที่ 2 จะใช้โครงข่ายระบบ GSM (Global Standard for Mobile Communication) ซึ่งจะเหมาะสมกับการรับส่งเสียง แต่ไม่เหมาะกับการรับส่งข้อมูล เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องความเร็วต่ำ (ประมาณ 9.6 Kbps.)
โทรศัพท์มือถือในยุคที่ 2.5 จะใช้โครงข่าย GPRS (General Packet Radio Service) จะมีความสามารถมากขึ้น ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดที่ 171.2 Kbps. หรือราวประมาณ 3 เท่าของการใช้ผ่านโมเด็มตามปกติ โทรศัพท์มือถือในยุคที่ 3 จะใช้โครงข่าย UMTS (Universal Mobile Telephony System) จะมีคุณสมบัติและความสามารถ ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ความแม่นยำในการรับส่งข้อมูล ความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงสุดที่ 2 Mbps.
ข้อมูลเพิ่มเติม
แม้ว่าโทรศัพท์มือถือในยุคที่ 2.5 และ 3 จะมีความน่าสนใจกว่า แต่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของโครงข่ายสื่อสารเพื่อให้รองรับโทรศัพท์นั้น จะต้องรอความพร้อมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานที่กำลังหาข้อสรุป ต้นทุนของอุปกรณ์เครือข่ายและลูกข่ายยังมีมูลค่าสูง ความพร้อมของตลาด และความพร้อมของตัวผู้บริโภค อย่างไรก็ตามหากท่านต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมนั้นสำหรับโครงข่าย GPRS อ่านได้จาก https://www.mobilegprs.comและสำหรับโครงข่าย UMTS อ่านได้จาก https://www.mobile3G.com
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2544
|