นาโนเทคโนโลยี โอกาสทองของธุรกิจ

 

สมสกุล เผ่าจินดามุข

 

ในการประชุมซีอีโอ ซัมมิต ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก ที่กรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนที่แล้ว หนึ่งในผู้ร่วมบรรยาย และแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีอนาคต คือ คริสโตเฟอร์ ไมเยอร์ ผู้เขียนหนังสือ "It's Alive : The Coming Convergence of Information, Biology and Business" กุญแจสำคัญตัวหนึ่งที่ไมเยอร์ต้องการนำเสนอ ก็คือ เทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีที่ว่านี้คือ "นาโนเทคโนโลยี" และเป็นเทคโนโลยีที่นำมาซึ่งระบบเศรษฐกิจจากโมเลกุล (Molecular Economy)

เทคโนโลยีระดับโมเลกุล

 

คนทั่วไปอาจจะคุ้นกับหน่วยวัดเมตร หรือเซนติเมตร และกิโลเมตรมากกว่า และคงพอจำกันได้กับการท่องจำมาตราวัดที่เป็นกิโล เฮกโต เดคะ เดซิ เซนติ หรือเล็กระดับมิลลิเมตร แต่อาจจะนึกภาพไม่ออก แม้แต่จินตนาการยังไม่ได้สำหรับหน่วยนาโนเมตร ซึ่งเป็นหน่วยที่มีขนาดเล็กเท่ากับโมเลกุล หรือเท่ากับ 1 ในพันล้านเมตร ซึ่งเล็กมากแม้แต่กล้องจุลทรรศน์ธรรมดายังมองไม่เห็น แต่ต้องใช้กล้องชนิดพิเศษที่เรียกว่า อิเล็กตรอนไมโครสโคป

แม้แต่คำว่า เมตร (m) คนทั่วไปอาจใช้เรียกถึงระยะทางจนคุ้น แต่คงไม่ทราบลึกไปอีกว่า 1 เมตรมีความยาวเท่ากับระยะทางของแสงที่เดินทางในสุญญากาศในเสี้ยวเวลา 1 ใน 299,729,458 วินาที ขณะที่หนึ่งวินาที เท่ากับช่วงของการแกว่ง 9,192,631,770 ครั้งของซีเซียมอะตอมที่วัดได้ด้วยนาฬิกาปรมาณู เช่นเดียวกับนาโนเทคโนโลยี ที่คนใช้กันด้วยความคุ้นเคยและใช้งานจนชินนี้

 

"คำว่านาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของระดับนาโนเมตร ที่จริงของระดับนาโนเมตร มันเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรามาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่เพิ่งมาเป็นเทคโนโลยี ในปัจจุบันเพราะเรามีความสามารถสี่อย่าง ได้แก่ ความสามารถเข้าใจและออกแบบของที่อยู่ในสเกลนาโนเมตร คือ เรารู้ทฤษฎีมันมากขึ้น พวกนี้ได้แก่ กลศาสตร์ควอนตัม ฟิสิกส์ของคลัสเตอร์ของอะตอม เป็นวิชาการที่เราเข้าใจมาตั้งแต่สมัยไอน์สไตน์ เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 แต่ยังไม่เคยเอามาใช้ในชีวิตประจำวันมาก" ดร.อิทธิ ฤทธาภรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center) เล่าถึงความเป็นมาและความหมายของนาโนเทคโนโลยี

 

คุณสมบัติข้างต้นเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เข้าใจมา 100 ปีแล้ว แต่เพิ่งถูกนำมาออกแบบ และนำมาใช้งานในเชิงวิศวกรรมได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ไอบีเอ็ม บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่สีฟ้าแห่งสหรัฐสามารถใช้ปลายอุปกรณ์ขนาดเล็กไปวัดผิวหน้าของอะตอม หรือทำการย้าย หรือเรียงอะตอม ซึ่งต่อมาอุปกรณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Scannin Tunneling Microscope หรือ STM

 

องค์ประกอบที่สอง ที่ ดร.อิทธิ มองว่า เป็นตัวผลักดันให้นาโนเทคโนโลยีขยับไปข้างหน้าได้ คือ ความสามารถในการผลิตของเล็กๆ ในระดับนาโนเมตรได้ ด้วยวิธีที่ทำซ้ำได้ "สมมติเราทำรถยนต์หรือคอมพิวเตอร์ เราต้องมีวิธีที่ออกแบบและทำซ้ำได้ มันถึงจะนำมาใช้ได้ ไม่ใช่ทำแต่ละครั้ง เดาไม่ถูกว่าทำออกมาอย่างไร มันไม่เหมือนงานหัตถกรรม เราไม่เรียกว่าเป็นเทคโนโลยี ปั้นถ้วยก็เป็นถ้วย แต่ว่าทุกอันไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว จึงจัดอยู่ในประเภทของงานศิลปะ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์" ผู้อำนวยการศูนย์ทีเม็กซ์ขยายความ และประการต่อมา คือ นักวิทยาศาสตร์สามารถประดิษฐ์เครื่องมือที่วัดของระดับนาโนได้ ทำให้นักวิจัยสามารถวัดรูปร่างหน้าตา คุณสมบัติทางไฟฟ้า และเคมีได้ โดยเครื่องมือ STM ที่สามารถมองเห็นอะตอมบนพื้นผิวได้ สามารถเคลื่อนย้ายและเรียงอะตอมได้ ด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า กล้องอิเล็กตรอนไมโครสโคป ซึ่งสามารถส่องดูอะตอมได้ และเป็นความสามารถที่พัฒนาในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา

 

ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีทุกอย่างย้ายจากสิ่งที่วิจัยกันอยู่ในห้องแล็บมาสู่ตลาด ก็คือ ความสามารถในการนำไปใช้งานได้ "ปัจจุบันเรามาถึงขั้นนี้แล้ว อย่างเมื่อก่อน ไอนสไตน์รู้ว่า E=mc2 แต่ก็ยังไม่ออกมาเป็นโรงงานนิวเคลียร์ จนกว่าเราจะสามารถใช้งานมันได้"

 

ทางด้าน ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึงทิศทางของการพัฒนาเทคโนโลยีซูเปอร์จิ๋วนี้ ว่า มีการพัฒนาหลักๆ อยู่สามทิศทางด้วยกัน ได้แก่ ทางด้านวัสดุศาสตร์ ด้านชีวภาพ และด้านอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นทิศทางที่ประเทศพัฒนาหลายประเทศกำลังแข่งขันกัน

ตัวอย่างที่เข้าใจง่ายและเห็นชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ การพัฒนาด้านไบโอนาโนเทคโนโลยี ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถนำเอาความรู้เกี่ยวกับยีน หรือดีเอ็นเอของมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย โมเลกุลสี่ตัวเรียงกัน มาทำการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

 

ดร.อิทธิ ยกตัวอย่างว่า สมัยก่อนต้องใช้เครื่องเอกซเรย์และเดาว่ามันเป็นเกลียวคู่ แต่ปัจจุบัน สามารถใช้เข็ม STM ส่องดูได้และเห็นว่าเป็นเกลียวคู่จริง และสามารถย้ายดีเอ็นเอ พวกตัดต่อยีน และออกแบบได้โดยสลับดีเอ็นเอเพื่อไม่ให้เป็นโรคได้ เปลี่ยนหนูให้เรืองแสงได้ แม้แต่เชื้อเพลิงเบนซินที่ใช้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์ที่ใช้กันอยู่เป็นปกติวิสัย จำเป็นต้องจำพวกแคตาลิกส์ หรือพวกสารเร่งปฏิกิริยา ในยุคหนึ่งได้มีการนำเอาสารตะกั่วมาใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในห้องเครื่อง ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของคุณสมบัติระดับโมเลกุลที่ถูกนำมาใช้งานเชิงในชีวิตประจำวันในเชิงวัสดุศาสตร์ "นี่คือ การเอาคุณสมบัติระดับโมเลกุลมาใช้ในชีวิตประจำวัน เราใช้มานาน แต่เราไม่เข้าใจว่าระดับโมเลกุลเป็นอย่างไร" ดร.อิทธิ กล่าว

 

อะตอม : ชิพแห่งศตวรรษที่ 21

ความสามารถในการผลิตอุปกรณ์ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถนำอะตอมมาจัดเรียงได้ดังใจนี่เองทำให้เกิดแนวคิดในแวดวงอุตสาหกรรมที่จะนำเอาเทคโนโลยีอะตอมมาใช้งาน โดยขนาดที่เล็กจิ๋วช่วยให้ประหยัดพลังงาน และช่วยให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง เอื้อประโยชน์ให้กับการใช้งานในหลายลักษณะ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีโมเลกุลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตชิพคอมพิวเตอร์อย่างอินเทลจากสหรัฐ และผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากญี่ปุ่น เนื่องจากชิพที่มีขนาดเล็กลงนอกจากบริโภคกระแสไฟฟ้าน้อยแล้ว ยังช่วยเพิ่มสมรรถนะในการประมวลผลให้สูงขึ้นเพิ่มหลายร้อยเท่าตัว

 

ในสมัยก่อนการทำทรานซิสเตอร์จะใช้ซิลิกอน ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำ และนำมาทำให้มีสามขา ได้แก่ source, gate และ drain เป็นแบบ field effect transistor หรือที่เรียกว่า FET ซึ่งสมัยก่อนทำด้วยซิลิกอนตัวใหญ่ๆ แต่ทรานซิสเตอร์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำหน้าที่เปิดปิดสัญญาณไฟฟ้าในชิพคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง จนเรียกว่า ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ "ปัจจุบันเราสามารถทำทรานซิสเตอร์ในระดับอะตอมได้ หมายความสามารถนำอะตอมมาเรียงกัน เพื่อทำหน้าที่เป็นทรานซิสเตอร์ที่มีสามขาได้ ซึ่งเรียกว่า ควอนตัม ดอท ทรานซิสเตอร์" ดร.อิทธิกล่าว

 

ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือทีเม็กซ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในสังกัดของ สวทช.นับเป็นหน่วยงานบุกเบิกของไทยที่มีโอกาสกรุยทางให้ไทยร่วมขบวนเดินทางไปกับรถไฟสายนาโนเทคโนโลยีร่วมกับประเทศพัฒนาอื่นๆ ได้ หากไม่นับแผนการสร้างโรงงานผลิตไมโครชิพของบริษัท ซับไมครอน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นความหวังที่จะพาประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศอิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดอุบัติเหตุทางธุรกิจกลางคันเสียก่อน ทีเม็กซ์มีทีมงานอยู่ 31 คน มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่ต้นน้ำ โดยเริ่มจากการทำซิลิกอนไมโครชิพ ด้วยเทคโนโลยี CMOS ปัจจุบัน นักวิจัยทีเม็กซ์ได้ใช้เครื่องมือที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ทำไมโครชิพขนาด 3 ไมครอนได้แล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างจัดหาเครื่องจักรเพื่อผลิตไมโครชิพที่มีขนาดต่ำกว่า 1 ไมครอน

 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในเดือนมกราคมปีหน้าจะเริ่มโครงการสมาร์ทการ์ด หรือบัตรอัจฉริยะมาใช้แทนบัตรประชาชน โดยจะเป็นบัตรที่รวบรวมข้อมูล ทุกอย่างที่จำเป็นในการใช้งานเกี่ยวข้องกับราชการไว้ในบัตรใบเดียวกัน โครงการสมาร์ทการ์ดเป็นโครงการหนึ่งที่ศูนย์ทีเม็กซ์ให้ความสนใจอย่างมาก และมองว่า จะเป็นบันไดที่ช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเอง และจะนำไปสู่การเกิดอุตสาหกรรมที่ครบวงจร ซึ่งเป็นประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าการนำเอาบัตรอัจฉริยะมาจากต่างประเทศเท่านั้น

 

ดร.ไพรัช กล่าวว่า ทางศูนย์มีขีดความสามารถในการทำไมโครชิพในเมืองไทยได้ โดยปัจจุบันสามารถทำไมโครชิพระดับ 3 ไมครอนได้แล้ว ด้วยเครื่องที่มีอยู่ที่มหาวิทยาลัย พระจอมเกล้าลาดกระบัง และถ้าได้เครื่องรุ่นใหม่มา จะสามารถผลิตให้มีขนาดเล็กลงไปถึงระดับ 1 ไมครอน แต่สิ่งที่ศูนย์ทีเม็กซ์จะต้องพยายามอย่างหนัก คือ การทำให้รัฐบาลเชื่อมั่นว่า การลงทุนอุปกรณ์เพื่อการผลิตไมโครชิพระดับนาโนเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต "เรื่องที่จะต้องทำต่อไป คือ ขออนุมัติเพิ่มอุปกรณ์จำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปอยู่ที่ระดับ 0.5 หรือ 0.25 ไมครอน เสร็จแล้วเราเอาอุปกรณ์เข้ามาจากต่างประเทศ โดยอาจจะเป็นอุปกรณ์ เสมือน ใหม่ และดึงบริษัทต่างประเทศที่มีความรู้ด้านโปรเซสซิ่งมาร่วม ถ้าผลิตไมโครชิพสำหรับสมาร์ทการ์ดได้ จะจัดส่งให้รัฐบาลครึ่งหนึ่ง และผลิตขายต่างประเทศอีกครึ่งหนึ่ง"

 

ดร.ไพรัช กล่าวว่า โครงการสมาร์ทการ์ดเป็นโครงการที่สำคัญ เพราะถือเป็นต้นน้ำที่รัฐเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ จะเห็นได้ว่า ทุกประเทศจะใช้โครงการของรัฐบาลเป็นจุดเริ่มต้นก่อน  "ถ้า ครม.อนุมัติโครงการเรา เราจะติดตั้งอุปกรณ์ภายใน 12 เดือน และถ้าติดตั้งเสร็จก็สามารถทำได้เลย เพราะการทำไมโครชิพดังกล่าวในต่างประเทศทำได้แล้ว และยกมาทำเมืองไทย เราจะมีวิศวกรของเราเข้าไปร่วมด้วย ข้อดีก็คือ การสร้างบุคลากร และความสามารถในการผลิตขึ้นในประเทศ และชักนำให้เกิดอุตสาหกรรมในประเทศ และพอสร้างได้จะมีอุตสาหกรรมอื่นๆ รอบๆ" ผู้อำนวยการกล่าวอย่างมั่นใจ

 

สร้างคน-สร้างเทคโนโลยี

คงต้องถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่เส้นทางเดินสู่อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยีของไทยไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เนื่องจากที่ผ่านมามีนักวิจัยของไทยหลายคน ได้เริ่มทำการวิจัยในระดับนาโนแล้ว ในแง่นาโนชีวภาพ ทีมของศูนย์พันธุวิศวกรรมแหละเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเรื่องโรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปรสิตที่สร้างเอนไซม์สร้างโปรตีน และตัวโครงสร้างของโปรตีนจะเปลี่ยนไปอยู่เรื่อยๆ ทำให้ยาไม่สามารถตรวจจับได้ โดยปัจจุบัน ทีมวิจัยสามารถวิเคราะห์ออกมาได้โดยใช้นาโนสเกล จนกระทั่งเห็นโครงสร้างโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย ซึ่งผลงานได้ตีพิมพ์แล้วและกำลังเจรจากับบริษัทต่างประเทศเพื่อทำการวิจัยยาร่วมกัน

 

ในด้านวัสดุศาสตร์ ซึ่ง ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ได้วิจัยนำเอายางรถยนต์ที่ใช้แล้วมาเปลี่ยนกระบวนการ มาเผาทำถ่านกัมมันต์ใช้ประโยชน์สำหรับดูดก๊าซพิษ อย่างเช่น ไดออกซิน และโลหะหนักในน้ำ ซึ่งมีขนาดโครงสร้างโมเลกุลใหญ่ได้ หรือนำมาใช้บำบัดมลพิษทางน้ำที่เจือปนด้วยโลหะที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ โดยถ่านกัมมันต์ที่ผลิตได้มีรูพรุน ขนาดใหญ่ในหน่วยเมโซพอร์ (ขนาด 2-50 นาโนเมตร) ซึ่งตอนนี้มีบริษัทจากสิงคโปร์ให้ความสนใจในเทคโนโลยีนี้

 

"นาโนเทคโนโลยีในบ้านเราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เรามีนักวิชาการที่เคยทำเทคโนโลยีระดับไมครอน และเริ่มเดินหน้าสู่เทคโนโลยีระดับนาโน เรามีนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นที่ได้รับรางวัลปีที่แล้วสองท่านที่ใช้ CAD CAM ในการออกแบบย่านนาโนมาแล้วสองท่าน และได้เชิญชวนให้มาร่วมงานกันในศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ" ดร.ไพรัช กล่าว

ดร.ไพรัช กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ เรื่องของการวางหลักสูตรและกำลังคน เพื่อให้การวางรากฐานด้านนาโนเทคโนโลยีเดินหน้าไปอย่างครบวงจร  "เราจำเป็นต้องปรึกษาหารือด้านหลักสูตรกับทางมหาวิทยาลัย และสถาบันศึกษาต่างๆ ให้ปรับหลักสูตรโดยให้มีการสนอเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีมากขึ้น อย่างมหาวิทยาลัยอาจจะให้มีการสอนในระดับปริญญาโท หรือปริญญาตรี เป็นบางวิชาเข้าไปเรื่อยๆ"

 

ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า การสร้างกำลังคนต้องทำทั้งส่งคนไปต่างประเทศ และสร้างจากภายในประเทศด้วย ซึ่งการสร้างบุคลากรจากภายในประเทศจะเป็นการสร้างฐานรองรับในการสร้างงานในประเทศ ดังนั้น การทำในประเทศจะมีห้องวิจัยอยู่ใน สวทช.และในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย อีกโครงการหนึ่งเป็นโครงการพัฒนาเครื่องจักรกลอัจฉริยะ ที่เรียกว่า MEMs ซึ่งอุปกรณ์ขนาดจิ๋วที่รู้จักกันดี คือ การผลิตเซนเซอร์ในระดับไมโครบนซิลิกอนได้ ยกตัวอย่าง เซนเซอร์ที่ใช้ตรวจจับแรงกระแทกเพื่อสั่งให้ถุงลมนิรภัยทำงาน เพื่อป้องกันแรงกระแทกที่ผู้โดยสารจะได้รับเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ เซนเซอร์รุ่นใหม่นี้นอกจากตรวจจับแรงปะทะที่ใช้สั่งงานถุงลมนิรภัยแล้ว ยังสามารถสั่งให้ถุงลมกางออกให้สอดคล้องกับน้ำหนักตัวของผู้โดยสารได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บจากการโป่งตัวของถุงลม ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับเด็ก และผู้โดยสารที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ

 

ทั้งนี้ ดร.ไพรัช มองในลักษณะของการสร้างคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของ สวทช. โดยชี้ว่า การสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นมาอย่างเดียวไม่ครบวงจร จำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นด้วย โดย สวทช.มีหน้าที่สร้างอุตสาหกรรม แต่ สวทช.ไม่สามารถผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมเต็มตัวทันทีได้ ดังนั้น จึงต้องใช้ห้องวิจัยทดลองสร้างตัวอย่างให้เห็น นอกจากนี้ เขายังกล่าวด้วยว่า จำเป็นต้องมีการเจรจากับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพื่อมองหาเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี และมาจับคู่กับไทย"

 

ขณะที่ ดร.อิทธิ ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยจะไปทางไหนต้องมีองค์ประกอบทั้งสี่ประการดังที่กล่าวไว้ข้างต้น กล่าวคือ ต้องมีนักควอนตัมฟิสิกส์ เป็นนักทฤษฎีที่เข้าใจ และออกแบบได้ "ตราบใดที่เรายังไม่มีตรงนี้ เรายังต้องไปเอาไอเดียคนอื่นมา และต้องมีข้อที่สอง คือ เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ผลิต ข้อที่สาม คือเมื่อทำสำเร็จแล้วต้องวัดได้ด้วย ซึ่งต้องอาศัยเครื่องมือ STM มีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และประการที่สี่ต้องมีไอเดียว่าจะนำไปใช้อะไร" "ประเทศอื่นๆ อย่างประเทศพัฒนาแล้วได้ผ่านกระบวนการสามขั้นแรกมานานแล้ว และที่มันบูมก็เพราะไอเดียเริ่มออก เพราะฉะนั้นทั่วโลกจึงบอกว่ามันเป็นอุตสาหกรรม แห่งศตวรรษที่ 21 ใครที่ทำตรงนี้ได้ ก็ไม่ตกขบวนรถไฟ" ดร.อิทธิ กล่าว

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (SciTech) ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.