อุตสาหกรรมมือถือครึ่งปีหลังเน้นใช้งานมัลติมีเดีย
อุตสาหกรรมมือถือระอุ บริษัทชั้นนำ
ดันสินค้าใหม่เข้าตลาด เน้นคุณสมบัติใช้งานรองรับเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
พร้อมเพิ่มรุ่นจอสี ปลุกกระแสบริโภคในตลาดไร้สาย ขณะที่ นักวิเคราะห์ ชี้ความแตกต่างของเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย
ตัวแปรชี้ชะตาการพัฒนา 3จี
บริษัท โนเกีย คอร์ป. ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข
1 ของโลก เปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นจอสี ซึ่งเพิ่มคุณสมบัติให้สามารถรับข้อมูลแบบมัลติมีเดียได้
พร้อมวางจะขายในตลาดได้ภายในไตรมาสสามนี้ ตัวแทนของบริษัทโนเกีย เปิดเผยว่า โนเกีย
6610 จะเป็นหนึ่งในโทรศัพท์รุ่นแรกของบริษัท ที่ใช้จอภาพสี และสามารถรับสัญญาณวิทยุช่วงเอฟ.เอ็ม. รวมทั้งมีอุปกรณ์ภาษาจาวา ซึ่งทำให้เครื่องสามารถดาวน์โหลด
และรันซอฟต์แวร์โปรแกรมใหม่ๆ ได้
ด้านบริษัท โซนี่ อีริคสัน
ธุรกิจร่วมทุนระหว่างสวีเดน และญี่ปุ่น วางแผนจะเปิดตัวโทรศัพท์เคลื่อนที่จอภาพขาวดำ
รุ่นที200 และที300 ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
ตัวแทนของบริษัทโซนี่ อีริคสัน กล่าวว่า โทรศัพท์ทั้งสองรุ่น สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว
รวมทั้งสามารถใช้ถ่ายรูป และส่งภาพถ่ายผ่านโปรแกรมรับส่งอี-เมล์
หรือบริการรับส่งข้อความแบบมัลติมีเดียภายในตัวเครื่องได้ รวมทั้งยังสามารถใช้กับเครือข่ายจีเอสเอ็มได้ทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวโทรศัพท์ระดับบนรุ่นที600 ซึ่งพัฒนาให้มีขนาดเล็กกว่าโทรศัพท์ทั่วไปด้วย
หนุนใช้งานเทคโนโลยีเอ็มเอ็มเอส
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ มองว่า
การเปิดตัวสินค้าจากบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ชี้ให้เห็นแนวโน้มการผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่
ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีรับส่งภาพถ่ายในการดึงดูดผู้บริโภค โดยบรรดาผู้ผลิตต่างตั้งความหวังว่า
เทคโนโลยีรับส่งข้อความแบบมัลติมีเดีย หรือเอ็มเอ็มเอส (Multimedia Messaging - MMS) ซึ่งสามารถส่งเพลงและข้อมูลในรูปเสียงได้นั้น จะเป็นที่นิยมเทียบเท่ากับบริการรับส่งข้อความเอสเอ็มเอส
ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการราว 1,000 ล้านครั้งต่อวัน นายเบน
วูด นักวิเคราะห์ด้านการตลาด กล่าวว่า โซนี่ อีริคสัน และโนเกีย ตั้งใจเปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่
เพื่อให้ทันกับช่วงเทศกาลคริสต์มาส ขณะที่หลายๆ ฝ่าย คาดกันว่า
เทคโนโลยีดังกล่าวจะเริ่มเป็นที่นิยมในปี 2546
ซีเมนส์ไร้เงารุ่นจอสี
ขณะที่ ด้านบริษัท ซีเมนส์ ผู้ผลิตอันดับ 3 ของโลก
เปิดตัวโทรศัพท์ไร้สาย 3 รุ่น ซึ่งเพิ่มคุณสมบัติในการส่งข้อความแบบมัลติมีเดีย
แต่ไม่มีโทรศัพท์รุ่นจอภาพสี โดยโทรศัพท์ทั้ง 3 รุ่น
ประกอบด้วย รุ่น เอ50 มีคุณสมบัติเด่นคือ แบตเตอรี่สามารถเก็บพลังงานได้นานกว่า
10 วัน รวมทั้งสามารถส่งภาพถ่ายสีขาว-ดำ
และเสียงพูดธรรมดาได้ นอกจากนี้ ยังใช้มาตรฐานการรับส่งสื่อรุ่นปรับปรุงใหม่ หรืออีเอ็มเอส
(Enhanced Messaging System - EMS) ที่พัฒนามาจากระบบรับส่งข้อความธรรมดา
(Simple Messaging System) ส่วนรุ่นซี55 จะเน้นเจาะตลาดระดับกลาง แทนรุ่นซี 35 และซี 45
ด้วยการเพิ่มคุณสมบัติในการบันทึกเสียง
และเพิ่มเสียงเรียกเข้าให้หลากหลายขึ้น ขณะที่ รุ่นซีแอล50
ซึ่งใช้เทคโนโลยีจอแสดงภาพ 2 ระบบ จะมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนในทวีปเอเชีย
เครือข่ายไร้สายอุปสรรคพัฒนา 3จี
ด้านนายอาลิสแตร์ สก็อต นักวิเคราะห์แห่งบริษัท
เมอร์ริล ลินช์ กล่าวว่า สถานะของ 3จี ในขณะนี้ มีความซับซ้อนมาก
และดูเหมือนว่า ผู้ให้บริการ ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านเงินลงทุน
ทำให้มีกระแสลือว่า จะต้องเลื่อนการเปิดให้บริการออกไปก่อน ส่วนอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง
อยู่ที่การขยายตัวของเครือข่ายการโทรคมนาคมไร้สาย ที่ใช้อยู่ทั่วโลก 2 ระบบ ได้แก่ ระบบซีดีเอ็มเอ (code-division multiple access) ในสหรัฐอเมริกา และระบบจีเอสเอ็ม (Global System for Mobile
communication) ซึ่งเป็นมาตรฐานในทวีปยุโรป ส่วนในทวีปเอเชีย ก็กำลังมีแนวโน้มการแข่งขันดังกล่าวเกิดขึ้น
โดยผู้ให้บริการในประเทศญี่ปุ่น ได้แตกแยกออกเป็น 2 ค่าย
ขณะที่ ประเทศเกาหลี หันมาใช้เครือข่ายซีดีเอ็มเอ
แต่ยังคงสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นในอนาคต กระนั้น นายสก๊อต กล่าวว่า
ในที่สุดแล้ว ระบบสัญญาณทั้ง 2 เครือข่าย อาจมาเชื่อมโยงกันได้
ณ จุดใดจุดหนึ่งในอนาคต แต่ก็คงใช้เวลาอีกนานพอสมควร
ทางด้านผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายอันดับ 2 ของจีน "ไชนา ยูนิคอม" ก็ได้เริ่มเปิดให้บริการในระบบ
ซีดีเอ็มเอ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ขณะเดียวกัน
จีน ได้ดำเนินโครงการพัฒนามาตรฐานเครือข่ายของตนเอง เรียกว่า ระบบทีดีเอ็มเอ (time-division
multiple access) ส่งผลให้ปัญหาความแตกต่างของเครือข่ายไร้สาย 2 ระบบทั่วโลก เลวร้ายลงไปอีก ทั้งนี้ นายสก๊อต กล่าวว่า อุตสาหกรรม 3จี จะต้องจับตามองทิศทางเทคโนโลยี 3จี ในประเทศจีนอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ราว 160 ล้านคน ซึ่งจัดเป็นตลาดเครือข่ายไร้สายที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2545
|