อินเทอร์เน็ตมือถือ : เทคโนโลยีใหม่ ... สื่อสารไร้สาย
ปีที่ 7 ฉบับที่ 929 วันที่ 24 สิงหาคม 2544


อินเทอร์เน็ตมือถือมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีข่าวการเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตของบริษัทผู้ให้บริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านโทรศัพท์มือถือในระบบดิจิตอล 1800 ภายใต้ชื่อบริการ Djuice ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ระบบ GSM ได้ประกาศเปิดให้บริการ GSM Mobile Life Internet เมื่อปลายปี 2543 ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวของการใช้บริการอินเทอร์เน็ตมือถือขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองค่ายใหญ่ได้ทำการแข่งขันทางด้านราคาค่าบริการและการลดราคาตัวเครื่องโทรศัพท์มาอย่างหนัก ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้บริการอยู่ทั้งหมดประมาณ 5 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ


นอกเหนือจากการลดราคาค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ การจัดโปรโมชั่นค่าบริการ การคืนค่าบริการหากสายหลุดแล้ว บริการเสริมอื่นๆ ก็ได้กลายมาเป็นจุดขายให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเช่นกัน บริการที่ได้รับความนิยมมากได้แก่ การส่งข้อความสั้น (Short Message Service) และบริการเสริมใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือการ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยผ่านเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ การพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตหรือการพัฒนาเทคโนโลยี แวพ (Wireless Application Protocal) จากกลุ่มผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ของโลกอย่าง อิริคสัน โมโตโลร่า โนเกีย ต่างก็เร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ใช้บริการที่เพิ่มจำนวนขึ้น รวมทั้งมีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นแวพสำหรับการรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย


โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนั้น ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่หนึ่งหรือ 1G (First Generation) ซึ่งเป็นเครื่องระบบ Analog เช่น เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 900 ระบบ 800 และระบบ 470 ในยุคแรกของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อจากนั้นได้พัฒนามาเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นที่สองหรือ 2G (Second Generation) ซึ่งเป็นระบบดิจิตอล เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ GSM และ Digital 1800 ซึ่งมีความสามารถในการใช้งานด้านการส่งตัวอักษร เพิ่มเข้ามาอีกระดับหนึ่งหรือที่เรียกว่า Short Message และก้าวต่อไปของการพัฒนาไปสู่การนำระบบภาพ เสียง และอักษรมาใช้ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรุ่นที่สาม หรือ 3G (Third Generation) ซึ่งระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรุ่นที่สี่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน โดยที่จะสามารถสื่อสารข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น


ในระหว่างการพัฒนาระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้รองรับการใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ ได้มีการนำเทคโนโลยีหลายระบบเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือหลายระบบด้วยกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ในรุ่น 2.5G ซึ่งสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ เช่น เทคโนโลยีแวพ (Wireless Application Protocal), GPRS (General Pocket Radio Service), Bluetooth เป็นต้น การพัฒนาเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมือถือหรือ Mobile Internet นั้น ได้นำเอาจุดเด่นและจุดด้อยของอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่มาไว้ด้วยกัน คือการนำเอาความสามารถในการรับส่งข้อมูลได้ทั่วโลกทั้งภาพและเสียง การเคลื่อนไหวตอบโต้แบบสองทางของอินเทอร์เน็ตและการนำเอาความสะดวกในการพกพา น้ำหนักเบาของโทรศัพท์เคลื่อนที่มารวมไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถสื่อสารได้อย่างกว้างขึ้นจากเดิมที่เคยสื่อสารได้เฉพาะทางเสียงมาเป็นการสื่อสารข้อมูลทั้งภาพ อักษร และเสียงในเครื่องเดียวกันในลักษณะ Multimedia Application


การใช้บริการอินเทอร์เน็ตมือถือในประเทศไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจากการขยายตัวของการใช้อินเทอร์เน็ตและ การขยายขีดความสามารถของเครื่องโทรศัพท์เคลื่นที่ที่จะรองรับการใช้บริการอินเทอร์เน็ตควบคู่กันไป ในระยะเริ่มแรกนั้นการให้บริการอินเทอร์เน็ตมือถือยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากเครื่องแม่ข่ายยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ประกอบกับตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตยังมีราคาสูงอยู่ประมาณ 15,000-40,000 บาท ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า SIM Tool Kit หรือ STK เข้ามาทดลองใช้งานก่อน โดยที่ผู้ที่ต้องการใช้งานในลักษณะกึ่งอินเทอร์เน็ต คือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์จะเป็นผู้เก็บเนื้อหาที่จะให้บริการและผู้ใช้บริการสามารถโหลดข้อมูลต่างๆ ที่มีไว้บริการได้ โดยที่เนื้อหาที่มีไว้บริการ เช่น บริการทางการเงิน บริการข้อมูลภาพยนตร์ที่กำลังเข้าฉาย บริการซื้อตั๋วหนัง ส่งดอกไม้ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการใช้บริการต้องมีซิมการ์ดที่มีความจำ 32 K ขึ้นไปและเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล ทำให้บริการกึ่งอินเทอร์เน็ตแบบนี้ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เลขหมายเดิมก่อนหน้าที่จะมีการอัพเดดซิมการ์ดต้องนำซิมการ์ดเดิม ไปเปลี่ยนและต้องเสียค่าบริการถึง 750 บาท เพื่อรองรับเทคโนโลยีนี้


ความไม่สะดวกของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในระยะเริ่มแรกลดลง หลังจากที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้พัฒนาระบบการให้บริการใหม่ร่วมกับผู้ผลิตโทรศัพท์ค่ายต่างๆ โดยเริ่มจาก การนำเทคโนโลยีแวพมาใช้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้เกิดความสะดวกและให้บริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลต่างๆ โดยผ่านแวพเซิร์ฟเวอร์ (WAP Server) ได้โดยตรง ประกอบกับมีการขยายการให้บริการเนื้อหาและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ใช้กับเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามความนิยมของการใช้แวพก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะนอกจากเครื่องลูกข่ายที่จะรองรับการใช้งานยังมีราคาสูงแล้ว ยังมีค่าบริการที่สูงถึงนาทีละ 3 บาท ประกอบกับความล่าช้าของการรับส่งข้อมูลทำให้ต้นทุนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยผ่านเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ค่อนข้างสูง


ความตื่นตัวของการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประกาศพัฒนาระบบการ ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือจากเทคโนโลยีแวพเป็นการใช้ระบบ GPRS (General Pocket Radio Service) คือ การเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อขจัดปัญหาความล่าช้าในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งได้จัดโปรโมชั่นลดราคาค่าบริการลงเหลือนาทีละ 1 บาท และการให้บริการแบบเหมาจ่ายเป็นรายเดือนเพื่อกระตุ้นการใช้งานให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น



ทีมา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.