รายงาน : เผยไต๋ลูกเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคหน้า
นักวิจัยเฟ้นไอเดีย
ทำนายทิศทางอุปกรณ์ผู้บริโภคแห่งอนาคต เชื่อเน้นคุณสมบัติทำงานง่าย
ส่วนมือถือยุคหน้า มุ่งรวมฟังก์ชันสารพัดประโยชน์ ขณะที่แหล่งพลังงานรูปแบบใหม่
มุ่งสู่ยุคเซลล์เชื้อเพลิง พร้อมฟังก์ชันชาร์จแบตผ่านเครือข่ายไร้สาย
เก็งวิทยุซอฟต์แวร์ เตรียมปฏิวัติตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเอ็มไอที และสมาคมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค
ของสหรัฐ ได้จัดงานประชุม "ดีไซนิ่ง บิตส์ แอนด์ พีซ" เพื่อถกกันถึงรูปแบบของอุปกรณ์เทคโนโลยีแห่งอนาคต
และหลังจากระดมความเห็นกันอยู่เป็นเวลานาน ข้อสรุปหนึ่งที่ทีมวิจัยหลายคน เห็นพ้องตรงกันก็คือ
อุปกรณ์ในอนาคต ควรจะพัฒนาให้ใช้งานได้ง่าย "อุปกรณ์คอมพิวเตอร์
เริ่มใช้งานยากขึ้นทุกที เรากำลังยัดฟังก์ชันต่างๆ ลงไปในอุปกรณ์เหล่านี้"
นายนิโคลัส นีโกรพอนเต้ ประธานเอ็มไอที มีเดีย แล็บ กล่าว ทั้งนี้
เขา เรียกสถานการณ์ดังกล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์ "คลั่งฟังก์ชัน"
(featuritis) หรือการเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆ
แค่เพื่อให้อุปกรณ์มีฟังก์ชันมากขึ้น แต่ที่จริงแล้ว อุปกรณ์ควรจะใช้งานได้ง่าย
และมีรูปแบบการใช้งานที่ชัดเจนมากกว่า และหนึ่งในความท้าทายหลัก
ของตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในยุคหน้า ก็คือการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ
ขณะที่แบตเตอรี่ ยังมีอายุการทำงานที่นานพอ และอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานได้ง่าย แต่ก็มีฟังก์ชันที่หลากหลายพอ
ด้านนายไมเคิล โบฟ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย
ซีอีแล็บ ของเอ็มไอที กล่าวว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค
จะมีพัฒนาการที่นอกเหนือไปจากโทรทัศน์ และเครื่องเล่นเอ็มพี3 "ถ้าคุณเป็นพนักงานขายรถ
คุณก็จะเข้าสู่วังวนของธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปด้วยอย่างรวดเร็ว"
นายโบฟ กล่าว
มือถือสารพัดประโยชน์
อย่างไรก็ดี แนวคิดดังกล่าว
ได้รับการสนับสนุนอย่างทันท่วงที จากนายเจฟฟรี่ ฟรอสต์
หัวหน้าฝ่ายพัฒนาแบรนด์ของบริษัทโมโตโรล่า ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือเบอร์ 2 ของโลก
ซึ่งบอกว่า อุปกรณ์ที่เราเคยเรียกกันว่า "มือถือ"
จะกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว และเป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถขาดได้
เมื่อออกจากบ้าน "โทรศัพท์มือถือ จะเป็นยิ่งกว่ากุญแจรถ
หรือกระเป๋าสตางค์เสียอีก แม้ว่าในไม่ช้า มือถือก็จะกลายเป็นอุปกรณ์เหล่านี้ได้ด้วย"
นายฟรอสต์ กล่าว พร้อมเสริมว่า ในปัจจุบัน ทางบริษัทกำลังทำการค้นคว้าวิจัยอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงรูปแบบใหม่
ที่เป็นทั้ง "วิดีโอ ไอพอด" และ
"ทิโว ขนาดจิ๋ว" ได้ในเครื่องเดียวกัน
รวมทั้งภาพต้นแบบอุปกรณ์อื่นๆ ของบริษัท ที่คาดว่า จะยังไม่มีการเปิดตัว ตัวอย่างเช่น
มีเดียมอนสเตอร์ (MediaMonster) อุปกรณ์ทรงหอยกาบขนาดเล็ก ที่รันด้วยระบบปฏิบัติการวินโดว์ส
โมบาย และติดตั้งกล้องดิจิทัลความละเอียดระดับเมกะพิกเซล รวมทั้งแป้นพิมพ์ระบบ QWERTY
และเมสเซจจิ้งมอนสเตอร์ (MessagingMonster) อุปกรณ์ลูกผสม
ที่รองรับได้ทั้งสัญญาณข้อมูลและเสียง
แบตเตอรี่พลังสูง
ในส่วนประเด็น "เราจะป้อนพลังงาน
แก่อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้อย่างไร? " นายเดฟ เดอมูโร่
ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาการชั้นสูง ของระบบพลังงาน บริษัทโมโตโรล่า ให้ความเห็นว่า
ผู้ใช้ มักไม่ค่อยนึกถึงเรื่องแบตเตอรี่ พวกเขาแค่ต้องการอุปกรณ์ที่สามารถทำงานได้เมื่อต้องการ
และนานเท่าที่ต้องการ" ทางเลือกหนึ่ง ของพลังงานในอนาคต
ก็คือ "เซลล์เชื้อเพลิง" โดยบริษัทบางแห่ง
ได้เริ่มพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงที่สกัดพลังงานมาจากสารเมทานอลโดยตรงขึ้น เพื่อใช้ในโน้ตบุ๊ค
และอุปกรณ์พกพาแล้ว แต่การนำเซลล์เหล่านี้มาใช้ ก็ยังคงมีปัญหาในทางปฏิบัติ
เนื่องจากสารเมทานอล เป็นของเหลวติดไฟได้ และยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องบิน
"รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ช้ามาก
แม้เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบกันอยู่ แต่คาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดๆ
จนกว่าจะถึงปี 2550" นายเดอมูโร่ กล่าว
ฟังก์ชันใหม่ชาร์จไฟทางเครือข่าย
ผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว
แบตเตอรี่ส่วนใหญ่ สามารถเปลี่ยนแปลงขนาดได้ง่ายมาก
เช่นหากต้องการเพิ่มขนาดแบตเตอรี่ ให้ใหญ่ขึ้น 2 เท่า
ก็จะสามารถป้อนพลังงานได้นานขึ้น 2 เท่า แต่เนื่องจากผู้ผลิต
และผู้ใช้ มักนิยมอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ จึงทำให้การพัฒนาแบตเตอรี่ มีข้อจำกัดตามไปด้วย
กระนั้น นายเดอมูโร่ คาดว่า เราจะได้เห็นแบตเตอรี่ รวมทั้งเทคโนโลยีการชาร์จไฟรูปแบบใหม่ๆ
ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่ ที่โค้งงอได้
หรือการพัฒนาเทคนิคชาร์จไฟจากอุปกรณ์ตัวหนึ่ง ไปยังอุปกรณ์อีกตัวหนึ่ง หรือแม้แต่การชาร์จไฟฟ้าผ่านเครือข่ายไร้สาย
นอกจากนี้ เขา ยังเชื่อว่า ผู้ผลิตจะเริ่มเลิกใช้แบตเตอรี่ ที่ติดตั้งลงในตัวเครื่อง
ดังเช่นที่ใช้ในเครื่องเล่นไอพอด "ถ้าจะให้เดา ผมคิดว่า
ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จะเริ่มหันไปใช้แบตเตอรี่ที่ถอดเปลี่ยนได้
ถ้าหากอุปกรณ์มีอายุการใช้งาน นานกว่าแบตเตอรี่ ผู้ใช้ก็เปลี่ยนเพียงตัวแบตเตอรี่"
นายเดอมูโร่ กล่าว
นวัตกรรมแห่งยุคหน้า
ด้านนายวานู โบส ประธานและซีอีโอ บริษัทวานู
กล่าวว่า เทคโนโลยีอีกตัวหนึ่ง ที่น่าจับตามองในอนาคต ก็คือ "วิทยุซอฟต์แวร์"
(Software radio) ที่คาดว่ายังใช้เวลาแจ้งเกิด อย่างน้อยอีก 5 ปี วิทยุที่ทำงานด้วยซอฟต์แวร์ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับอุปกรณ์สัญญาณวิทยุในปัจจุบัน
ที่ทำงานโดยอาศัยตัวฮาร์ดแวร์เป็นหลัก เนื่องจากตัวฮาร์ดแวร์
จะเป็นตัวกำหนดว่าฟังก์ชันของอุปกรณ์ตัวนั้น และกำหนดว่าเป็นอุปกรณ์สำหรับทำอะไร
ไม่ว่าจะเป็นวิทยุระบบเอฟเอ็ม ไปจนถึงมือถือระบบจีเอสเอ็ม หรือซีดีเอ็มเอ แต่ทีมวิจัย
อธิบายว่า หากเราลองเอาคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ของฮาร์ดแวร์เหล่านี้ออกไป
และนำมาใส่ไว้ในซอฟต์แวร์ตัวเดียวกันแทน ก็จะได้อุปกรณ์ "ไอแพค" ที่มีไอคอนสำหรับสั่งงานโปรแกรมเวิร์ด,
เอ็กเซล, วิทยุระบบเอฟเอ็ม, ระบบโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายซีดีเอ็มเอ และจีเอสเอ็มรวมกัน "ลองจินตนาการถึงอุปกรณ์รูปแบบใหม่
ที่ผู้ใช้เพียงแต่เลือกฟังก์ชันการทำงานจาก "ไอคอน"
ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า ควรใช้คลื่นความถี่วิทยุรูปแบบใด ผลก็คือ คุณจะได้มือถือ
ที่สามารถใช้กับเครือข่ายใดๆ ก็ได้ ในโลกนี้" ทีมวิจัยกล่าว
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 14 พฤษภาคม 2547
|