ปัญหาคอขวด ข่ายสายปลายทาง ชี้ชะตาบรอดแบนด์ รุ่งหรือร่วง
เอกรัตน์ สาธุธรรม
ณ วันนี้ แม้บริการบรอดแบนด์
จะได้รับการคาดการณ์ว่า จะเป็นธุรกิจดาวรุ่งดวงใหม่ ของวงการสื่อสาร โทรคมนาคม
และไอที ที่ใครๆ ให้ความสนใจ หากขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นเทคโนโลยี ที่หลายคนกังขา
อันเนื่องมาจากกรณีปัญหาที่จะเกิดขึ้น จากปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นในส่วนข่ายสายปลายทาง
อันเป็นส่วนสำคัญ และมีค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างสูงสุด พูดง่ายๆ ก็คือ งบประมาณที่จะเข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้
และยัง ไม่รวมไปถึง ความพร้อมของแต่ละประเทศที่จะต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ ภายในเป็นตัวแปร
ในการกำหนด ให้บริการบรอดแบนด์เกิด หรือดับ ทั้งนี้ แม้ศักยภาพที่เหลือล้น บริการบรอดแบนด์จึงได้รับการคาดการณ์ว่าจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งดวงใหม่
และเป็นตัวหลัก ในการผลักดันธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และไอที เหมือนกับ
ที่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจ อินเทอร์เน็ต และดอทคอมในยุค 90 และโทรศัพท์มือถือยุค 80
สำหรับบรอดแบนด์ (Broadband) โดยความหมายแล้ว ก็คือ การใช้อินเทอร์เน็ตที่ความเร็วตั้งแต่ 256 กิโลบิตต่อวินาที ถึง 100 เมกะบิตต่อวินาที
ผ่านสื่อดีเอสแอล, ไอเอสดีเอ็น, สายสัญญาณเช่า
(Leased Line), เครือข่ายพื้นที่ภายใน (LAN), เครือข่ายภายในไร้สาย (WLAN) ดาวเทียม หรือเทคโนโลยีอื่นๆ
ก็ได้ โดยขณะนี้เทคโนโลยีดีเอสแอล (Digital Subscriber Line) ได้รับความนิยมสูงสุด
และกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่หลายรายใช้งานกันทั่วโลก บรอดแบนด์จะต้องเป็นบริการที่ครบวงจรที่มุ่งให้แก่สาธารณชน
โดยควรมีคุณสมบัติในการเป็นบริการต่อเชื่อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
แบบไม่จำกัดเวลา การใช้งาน และไม่ต้องล็อกอิน (ALWAY ON) และมีความเร็วเฉลี่ย
128/256/384 กิโลบิตต่อวินาที
ในราคาที่สูงกว่าบริการอินเทอร์เน็ต แบบใช้โมเด็มธรรมดาถึง 2
เท่า คือประมาณ 30 - 60 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน
และไม่จำกัดการใช้งาน ขณะเดียวกัน ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานแบบมัลติมีเดีย
เพื่อการสื่อสาร บันเทิง และการศึกษาค้นหาข้อมูล
ขณะเดียวกันต้องสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กร
หรือของบ้านก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคสื่อแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้บริการบรอดแบนด์เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง
กลายเป็นบริการที่ดีขึ้น ในราคาที่ยอมรับได้ ที่สำคัญ
บรอดแบนด์ต้องเป็นบริการเพื่อสาธารณชน ทั้งประชาชนทั่วไป หรือหน่วยงาน องค์กรต่างๆ
หรือเพื่อบริการ ลักษณะเฉพาะ ส่วนบุคคล การประยุกต์ใช้งานในรูปแบบอื่นๆ ที่หลากหลาย
ว่ากันว่า ขนาด และ การเติบโต
ของตลาดบรอดแบนด์จะสามารถสร้างรายได้มหาศาล โดยที่บรอดแบนด์จะกลายเป็นระบบสื่อสารพื้นฐานหลักตัวใหม่
และจะเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิวัติรอบใหม่ของธุรกิจอินเทอร์เน็ต และดอทคอม รวมทั้งให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ขึ้น
บริการบรอดแบนด์ในที่สุดแล้ว จะกลายเป็นปัจจัยบริการสื่อสารพื้นฐานที่ทุกบ้าน และสำนักงานต้องมีใช้
เหมือนกับโทรศัพท์ และโทรสาร โดยได้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2553 ในย่านเอเชียแปซิฟิก จะมีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ 120
ล้านคน หรือเท่ากับ 30% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และจะสร้างรายได้ประมาณ
150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยิ่งแน่ชัดเข้าไปอีกว่า แนวโน้มของบรอดแบนด์น่าจะสะเทือนวงการอินเทอร์เน็ตได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ด้วยรายงานการศึกษา กำเนิดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ของสถาบันไอทียู อินเทอร์เน็ต ปี พ.ศ. 2546 ที่บอกว่า กลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้กลายเป็นผู้นำการใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ต่างหากไม่ใช่ประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกาเหมือนอย่างที่ใครหลายๆ
คนคิด และก็มีแนวโน้มว่าจะครองแชมป์นี้ไปตลอดด้วย เนื่องจากอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่สูงขึ้นในประเทศจีนและญี่ปุ่น
ประเทศเกาหลีถือว่าเป็นแชมป์โลกของการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ด้วยจำนวนผู้ใช้สูงถึง
21.3% ของจำนวนบ้านพักอาศัยทั้งหมด รองลงมาก็เป็นฮ่องกง
แคนาดา และ ไต้หวัน ดัวย อัตราส่วน 14.9, 11.2 และ 9.4%
ตามลำดับ จากนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศเกาหลีมากกว่า 93%
ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านบรอดแบนด์ ทั้งจากที่ทำงาน
ที่บ้านและอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ หรือประมาณ 10.13 ล้านสมาชิก
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
(SciTech) ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2546
|