ระบบสำรองข้อมูล ดาวรุ่งตลาดไอทีปี 45

 

"ระบบสำรองข้อมูล" ผลิตภัณฑ์ที่องค์กรธุรกิจกำลังให้ความสนใจ รวมทั้งนำไปใช้งานกันมากขึ้น เหตุทุกบริษัทหันมาให้ ความสำคัญต่อการจัดเก็บข้อมูลกันเพิ่มขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางช่วย ในการตัดสินใจ ส่งผลจะต้องมีระบบการจัดเก็บที่ดี เพื่อความสะดวก ในการเรียกใช้ ตลอดจนเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ข้อมูลที่มีอยู่จะไม่สูญหาย หรือได้รับความปลอดภัย

 

โดยรายงานการวิจัยของไอดีซีเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประมาณการถึงศักยภาพ ในการเติบโตของอุตสาหกรรมสารสนเทศ (ไอที) ในปี 45 ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มระบบจัดเก็บข้อมูล จะมีอัตราเติบโตถึง 76% โดยเป็นตลาดที่มียอดเติบโตสูงสุด จากมูลค่าตลาดไอทีโดยรวมในปีนี้ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศญี่ปุ่น) ที่คาดว่าจะเติบโตราว 13.5%

 

ทั้งนี้ เมื่อมองตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ปีที่ผ่านมา นับเป็นสิ่งสำคัญ ในการกระตุ้นภาคธุรกิจหันมาให้ความสนใจลงทุนระบบงานด้าน "การสำรองข้อมูล (ดาต้า แบคอัพ)" ในฐานะที่เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ ที่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับความปลอดภัยของระบบ ขณะเดียวกัน ความสำคัญของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ยังเริ่มขยับขยายฐานตลาดจากองค์กรขนาดใหญ่ ได้แก่ ภาคการเงิน หน่วยงานราชการ ปิโตรเคมี ไอที ลงไปจนถึงอุตสาหกรรมในกลุ่มคอนซูเมอร์ บันเทิง และสื่อมากขึ้น ตามกระแสการทำธุรกิจในยุคสังคมแห่งข้อมูลข่าวสารที่ "ข้อมูล" กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือด้านการตลาด และงานบริการลูกค้า โดยการขยายตัวของฐานลูกค้า และความต้องการทางการตลาดที่โดดเด่น สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ ทำให้ผู้ค้าหลายๆ ค่าย ไม่ว่าจะเป็นทั้งฟากฮาร์ดแวร์ หรือซอฟต์แวร์ ต่างก็เริ่มแผนโหมรุกตลาดกันอย่างเต็มตัว ตั้งแต่ช่วงต้นปีกันแล้วทีเดียว

 

นายจอร์จ ออร์ ผู้จัดการทั่วไป ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ส่วนการขายระบบงานด้านเน็ตเวิร์ค สตอเรจ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เอเชีย แปซิฟิก จำกัด หรือเอชพี กล่าวว่า บริษัทไม่ได้มองอุปกรณ์สำรองข้อมูล (สตอเรจ) ไว้ในฐานะที่เป็นเพียงอุปกรณ์ต่อพ่วง (เพอริเฟอรัล) เนื่องจากปัจจุบัน "ข้อมูลและข่าวสาร" กลายเป็น "ธุรกิจ" ด้วยตัวเองแล้ว เนื่องจากข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ถ่ายโอนไปตามโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ที่เชื่อมโยงกันในรูปแบบของเครือข่ายสาธารณะ (พับลิก แอเรีย เน็ตเวิร์ค)

 

ขณะเดียวกัน จากรายงานล่าสุดของไอดีซี ยังคาดการณ์ว่า ในปีนี้ จะมีการเติบโตของการใช้งานด้านข้อมูลผ่านสตอเรจถึง 41% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ มีความสำคัญมากขึ้น

 

แผนของเอชพี

ด้านนายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในปีนี้ เอชพีได้กำหนดกลยุทธ์เชิงรุก สำหรับการทำตลาดสตอเรจ โดยเป็นผู้ค้ารายแรกที่รับประกันประสิทธิภาพการทำงาน ของระบบสำรองข้อมูล (Data Available) ไว้ถึงระดับ 100% เนื่องจากมั่นใจแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด ที่เนื่องมาจากความต้องการใช้ข้อมูลขององค์กรเอง ในด้านการบริหารจัดการภายใน รวมถึงความจำเป็นในการมีระบบงานสำหรับรองรับความต้องการฉุกเฉิน (DRC : Data Recovery Center) ส่วนการทำตลาดบริษัท ไม่ได้จำกัดอยู่กับการขายเพียงตัวผลิตภัณฑ์ หรือฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่จะใช้ศักยภาพทางธุรกิจที่มีอยู่ เพื่อนำเสนอในส่วนของซอฟต์แวร์ควบคู่กันไปให้กับลูกค้าด้วย

 

อีเอ็มซีเปิดตัว 3 คู่ค้ารุกตลาดไทย

นายฐิตกร อุษยาพร ผู้จัดการ บริษัท อีเอ็มซี อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้แต่งตั้งพันธมิตรทางธุรกิจ 3 รายหลัก ได้แก่ นีโอพลัส, ซีดีจีเอ็ม และเอสไอเอส เพื่อร่วมกระจายโซลูชั่นด้านระบบจัดเก็บข้อมูลของอีเอ็มซี ให้ครอบคลุมตลาดในทุกระดับ โดยคู่ค้ารายดังกล่าว จะรับผิดชอบทั้งด้านทำตลาดฮาร์ดแวร์สตอเรจ และซอฟต์แวร์ด้านการบริหารระบบการจัดเก็บข้อมูล และให้บริการด้านการติดตั้ง และดูแลระบบต่างๆ "ปีที่ผ่านมา เราพบว่าหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลางของไทย เริ่มเห็นความสำคัญของระบบจัดเก็บข้อมูลสำรอง หรือสตอเรจมากขึ้น และหันมาลงทุนกับเทคโนโลยีด้านนี้อย่างจริงจัง ทำให้อีเอ็มซีตัดสินใจที่จะรุกตลาดเมืองไทยอย่างเต็มที่" นายฐิติกรกล่าว สำหรับในปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นตลาดหลัก ไปที่ลูกค้าในกลุ่มโทรคมนาคม, โรงงานการผลิต, การค้าปลีก และธนาคาร รวมถึงจะเริ่มหันมารุกตลาดซอฟต์แวร์มากขึ้น โดยมีชุดซอฟต์แวร์ "AutoIS" ซึ่งมีจุดเด่นในการสื่อสารร่วมกับเซิร์ฟเวอร์, สตอเรจ และอุปกรณ์เครือข่าย จากบริษัทผู้ผลิตหลายราย เป็นหัวหอกในการเปิดตัวอีเอ็มซีในตลาดซอฟต์แวร์

 

ตลาดซอฟต์แวร์สำรองข้อมูลสดใส

ขณะที่นายอีริค โฮห์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียใต้ เวอร์ริทัส ซอฟต์แวร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปีนี้นับเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากของเวอร์ริทัส สำหรับตลาดในประเทศไทย เนื่องจากปริมาณข้อมูลที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ต่างเริ่มมองหาซอฟต์แวร์ที่จะช่วยจัดการระบบจัดเก็บข้อมูล รวมทั้งมีปัจจัยเสริมจากระบบความพร้อมของข้อมูลภายในองค์กร ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลแบบข้ามแพลตฟอร์มและทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลที่ต่างชนิดกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ "ความต้องการที่หลากหลายนี้ ส่งผลให้ซอฟต์แวร์บริหารระบบจัดเก็บข้อมูลแบบครบวงจรของเวอร์ริทัส มีโอกาสเข้าไปตอบสนองลูกค้าได้มากขึ้น ด้วยจุดเด่นของการตอบสนององค์กรในทุกระดับ" นายโฮห์กล่าว โดยในปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่ขยายตลาด โดยเพิ่มการลงทุนทางด้านการตลาด การขาย ทรัพยากรด้านต่างๆ ตลอดจนการส่งเสริม และสนับสนุนพันธมิตรในช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งนี้ เขายังมั่นใจว่าแม้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะยังคงชะลอตัว แต่องค์กรจะยังคงตระหนักถึงความจำเป็นของการใช้จ่ายทางด้านระบบที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ ระบบจัดเก็บข้อมูล และระบบป้องกันข้อมูล ซึ่งจะยังคงเป็นการลงทุนในอันดับต้นๆ ขององค์กร

 

5 ปัจจัยดันตลาดโต

ด้านนายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานหลายแห่ง เริ่มมีปัญหากับการจัดเก็บข้อมูลใน 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ขนาดของข้อมูลที่โตขึ้นอย่างรวดเร็วจนระบบจัดเก็บที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับได้  2.ความล่าช้าของระบบจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลมีขนาดโตขึ้น ซึ่งทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานช้าลง  3.ปัญหาการบริหารสตอเรจที่กระจายอยู่ตามเซิร์ฟเวอร์หลายๆ ตัว  4.การต้องการความเชื่อถือได้ที่เพิ่มมากขึ้นของระบบสตอเรจ และ  5.ความต้องการระบบสตอเรจ ที่บริหารได้ง่ายขึ้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.