ความสำคัญของระบบการจัดเก็บข้อมูล (SANs) ที่เพิ่มขึ้น
ผู้จัดการฝ่ายไอทีในยุคปัจจุบันต้องจัดสรรทั้งงบประมาณ และทรัพยากรอื่นๆ เพื่อทำให้ระบบข้อมูลขององค์กรพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน ยังต้องเตรียมระบบของบริษัทเพื่อรองรับแอพพลิเคชั่น อี-บิสซิเนสที่สำคัญ องค์กรที่สามารถจัดการ กับข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ข้อมูลนั้นพร้อมใช้งาน ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าองค์กรอื่นๆ ที่ไม่สามารถทำได้
นี่คือจุดที่ SANs เข้ามามีบทบาท ระบบจัดเก็บข้อมูล SANs (Storage Area Networks) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรวม หน่วยจัดเก็บข้อมูลเข้าด้วยกัน สามารถขยายขีดความสามารถออกไปได้ มีความสามารถขั้นสูงที่เรียกว่า storage virtualisation การสำรองและกู้คืนข้อมูลทำได้โดยไม่ต้องพึ่งเซิร์ฟเวอร์ และยังแบ่งใช้ข้อมูลประเภทต่างๆ ร่วมกันได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า SANs จะตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรและอี-บิสซิเนสในด้านการจัดเก็บข้อมูลได้ แต่ยังคงมีความท้าทายอีกมากมายรออยู่ ซึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการบริหารจัดการระบบ SANs
ในระบบ SANs โดยทั่วไปแล้วผู้จัดการฝ่ายไอที จะต้องเข้าไปจัดการระบบ และโปรแกรมของผู้ขายที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์สวิตช์และฮับของช่องสัญญาณใยแก้ว โฮสต์ อะแดปเตอร์ และระบบย่อยของอุปกรณ์จัดเก็บ ข้อมูล การที่จะจัดการกับ SANs ให้ได้ประสิทธิภาพนั้น ผู้จัดการฝ่ายไอทีจะต้องสามารถกำหนดโครงแบบ และแก้ปัญหา ระบบฮาร์ดแวร์ได้ รวมทั้งต้องวางแผนการขยายระบบในอนาคตด้วย ระบบฮาร์ดแวร์ SANs ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีโปรแกรมอรรถประโยชน์ เพื่อการจัดการในตัวอยู่แล้ว และซอฟต์แวร์บริหารระบบ (management software) ของผู้ขายรายหนึ่ง มักจะไม่สามารถทำงานร่วมกับ SANs ของผู้ขายรายอื่นๆ ได้ แต่เมื่อซอฟต์แวร์การจัดการ SANs มีแพร่หลายมากขึ้น และผู้ขายร่วมกันพัฒนาความสามารถในการทำงานร่วมกันมากขึ้น เราจึงค่อยๆ ก้าวไปสู่การรวมการจัดการระบบบันทึกข้อมูล และฮาร์ดแวร์ให้สามารถทำงานร่วมกันใน SANs ได้เช่นเดียวกับที่เราเห็นจาก LANs ในปัจจุบัน
SANs มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวมอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ "กลุ่มต่างๆ" เข้าด้วยกัน โดยมีแนวความคิดในการให้เซิร์ฟเวอร์ทำงานหลักของเซิร์ฟเวอร์อย่างอิสระได้เต็มที่ นั่นคือประมวลผลข้อมูลในขณะที่ดึงการจัดเก็บข้อมูลไปรวมไว้ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อผู้ใช้จะได้จัดการกับข้อมูลดูแลความปลอดภัย และนำมาใช้รวมกันได้ นอกจากนั้น SANs จะช่วยลดภาระงานถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากระหว่างเซิร์ฟเวอร์ลงได้ ซึ่งปัญหานี้จะพบเป็นประจำบนระบบ LANs
SANs ได้รับการพัฒนาให้ใช้กับงานแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น แอพพลิเคชั่นด้านฐานข้อมูลคลังข้อมูล การประมวลผลธุรกรรมต่างๆ และการคำนวณทางเทคนิคอย่างเต็มที่ ซึ่งการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ นี้ ไม่ว่าจะอยู่บนเซิร์ฟเวอร์ หรือเมนเฟรมเพียงเครื่องเดียวหรือนับสิบนับร้อยเครื่องล้วนต้องมีการดึงข้อมูลปริมาณมหาศาลขึ้นมาเตรียมไว้ โดยทั่วไปแล้วแอพพลิเคชั่นต่างๆ เหล่านี้ จะต้องอ่านและเขียนข้อมูลจำนวนมาก และจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลจำนวนมากไว้ให้พร้อมสำหรับผู้ใช้ ซึ่งอาจมีเพียงรายเดียวหรือไม่กี่รายในเวลานั้น
ความสำเร็จของ SANs เป็นผลมาจากเทคโนโลยีการเชื่อมต่อเครือข่าย (Network) ระหว่างกันที่เรียกว่า ช่องสัญญาณใยแก้ว (Fibre Channel) ด้วยการผสมผสานระหว่างฮาร์ดแวร์ที่มีการเดินสายเคเบิลตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และโปรโตคอลของซอฟต์แวร์ ทำให้ช่องสัญญาณใยแก้วสามารถเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์จำนวนมากเข้ากับอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลหลายแบบ เนื่องจาก SANs ใช้ช่องสัญญาณใยแก้วอย่างเต็มรูปแบบอันประกอบด้วย อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล เซิร์ฟเวอร์ และสวิตช์ ที่เชื่อมต่อกันนี้เอง เราจึงสามารถใช้โครงสร้างที่ซับซ้อน และแข็งแรงเชื่อมต่ออุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมากมายเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ในขณะที่ยังสามารถใช้เทคโนโลยีช่องสัญญาณ I/O เช่นที่คุ้นเคยได้ด้วย
ผลที่ได้นี้เองที่ทำให้เราสามารถออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน ของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลให้ใช้งานจากโฮสต์ หรือเซิร์ฟเวอร์ไปยังอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอื่นๆ ด้วยการเก็บข้อมูลได้ มากกว่าเดิม ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลได้ดีกว่าเดิม แต่ใช้กำลังคนจัดการน้อยลง ดังนั้น ข้อได้เปรียบที่จะเห็น ได้อย่างชัดเจนในทันทีก็คือ การเชื่อมต่อระบบเพิ่มขึ้น การจัดการระบบดีขึ้น การเปลี่ยนแปลง หรือขยายระบบที่อยู่ในสภาพ แวดล้อมที่มีระบบหลายๆ ระบบรวมอยู่ด้วยกันมากๆ ก็จะทำได้ง่ายขึ้น
การจำลองระบบจัดเก็บ
การที่บริษัท หรือองค์กรใช้อุปกรณ์มากมายหลายชนิดจัดเก็บข้อมูล ทำให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องยาก การสำรองข้อมูลโดย ทั่วไปไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่น อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดที่มีอยูจึงไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การสำรองข้อมูลเสมือนจริง (Storage Virtualisation) นั้น จะใช้วิธีการจัดเตรียมอุปกรณ์การจัดเก็บข้อมูลตามการทำงาน คือ ถอดการประมวลผล การเก็บข้อมูลจากซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์ นำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดเรียงตาม logical storage space ของแต่ละแอพพลิเคชั่น แล้วนำไปบันทึกลงในอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าอุปกรณ์อยู่ที่ใด หรือถูกกำหนดโครงแบบไว้อย่างไร อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ virtual หรือ virtual storage นี้ จะช่วยให้หน่วยบันทึกข้อมูลหรือดิสก์ราคาถูกทั่วๆ ไปในเครือข่าย กลายเป็นดิสก์แผ่นเดียวที่มีขนาดความจุหลายเทอราไบต์ หน่วยบันทึกข้อมูลดังกล่าวนี้ อาจจะเป็น optical storage หรือ cache management system ซึ่งจะทำงานจริงโดยไม่ปรากฏบนแอพพลิเคชั่น หรือไม่ปรากฏให้ผู้ใช้เห็นเลย ดังนั้น virtual storage จึงช่วยให้ระบบบริหารเครือข่าย (Network Administrator) สามารถกระจายข้อมูลออกไป กำหนดโครงแบบ หรือเพิ่มความจุของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลนั้นได้ง่าย การจัดการข้อมูลได้ผลดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ สถาปัตยกรรมแบบเปิดของ virtualisation จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใช้ในด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว เพราะค่าใช้จ่ายในการลงทุนต่ำลงและยืดอายุการใช้งานของฮาร์ดแวร์ออกไปได้ ผู้ใช้ storage virtualisation ในช่วงแรกๆ อาจพบกับข้อขัดข้องในเรื่องมาตรฐานจากผู้ผลิตซึ่งยังมีน้อยมาก แต่ในปัจจุบัน ผู้ขายส่วนใหญ่มีแนวคิดที่เด่นชัดของตนเอง เช่น บางรายเน้นเรื่องความเร็วของระบบ บางรายเน้นที่การบำรุงรักษาได้ง่าย ขณะที่บางรายให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการสำรองข้อมูล แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลมีการเพิ่มขึ้นทุกวัน การนำสถาปัตยกรรมที่ปรับขยายได้ง่ายมาใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถตอบสนองเรื่องความจุได้อย่างคุ้มค่า
บัตเลอร์ กรุ๊ป คาดการณ์ว่าภายในปี 2003 องค์กรต่างๆ จะใช้งบประมาณด้านไอทีถึงสองในสามส่วนไปกับอุปกรณ์จัดเก็บ ข้อมูล ซึ่งองค์กรต่างๆ นั้น จะสามารถประหยัดเวลาและเงินจำนวนมหาศาลด้วยการใช้ระบบจัดเก็บข้อมูล Storage Area Networks (SANs)
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2544
|