เทคโนโลยีพีซี : มุ่งสู่ตอบสนองประมวลผลแบบสื่อผสม

เกจิวงการคอมพิวเตอร์ ชี้ด้วยเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โดยเฉพาะไมโครโพรเซสเซอร์ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้พีซี กลายเป็นเครื่องมือ การประมวลผลข้อมูลแบบสื่อผสม

 

พร้อมคาดพีซีในอนาคตมีรูปทรงไม่ต่างจากปัจจุบัน แต่จะประกอบด้วยอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ใช้ความสามารถของหน่วยประมวลผล โดยส่วนที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเป็นจอแบน และระบบสื่อสาร เพื่อติดต่อกับอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์, คอมพิวเตอร์สมุดพก หรือ คอมพิวเตอร์พกพา

 

นับเป็นเวลากว่า 20 ปี แล้ว ที่ตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี ประสบความสำเร็จได้รับการต้อนรับจากผู้ใช้อย่างท่วมท้น โดยกล่าวได้ว่า พีซี ได้เป็นเครื่องมือสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งในการดำเนินธุรกิจและชีวิตประจำวัน  ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีพีซี มีพัฒนาการรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีเทคโนโลยีใดเคยเป็นมาก่อน กล่าวคือ ความสามารถของไมโครโพรเซสเซอร์ ซึ่งเป็นตัวประมวลผลสำหรับพีซี จะมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุก 18 เดือน ซึ่งเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของ กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) ผู้ก่อตั้งบริษัทอินเทล คอร์ป. ผู้ผลิตชิพหมายเลข 1 ของโลก

 

ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทอินเทล เปิดตัว ชิพประมวลผล รุ่นเพนเทียม 4 (Pentium 4) ความเร็ว 2.2 กิกะเฮิรตซ์ ไปเมื่อต้นปี และวางแผนจะเปิดตัวรุ่นความเร็วสูงสุดเท่าที่เคยผลิตมา คือ 2.53 กิกะเฮิรตซ์ ภายในไตรมาสนี้ กระนั้น ด้วยศักยภาพที่ขยายอย่างรวดเร็วดังกล่าว ทำให้พีซีไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่ใช้เพียงคำนวณตัวเลขหรือจัดการข้อมูลสารสนเทศแบบทั่วไปในอดีต แต่กลายเป็นเครื่องมือที่สามารถสนองตอบการประมวลผลข้อมูลแบบสื่อผสม (Multimedia) คือ ทั้งข้อมูล อักษร เสียง ภาพเคลื่อนไหว ในเชิงโต้ตอบ (Interactive) ได้อย่างฉับพลัน พร้อมกันนี้ ทางอินเทล ยังเปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะวางตลาดชิพเพนเทียม 4 รุ่น 4 กิกะเฮิรตซ์ในปีหน้า โดยอ้างว่า จะทำให้คอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กและบางลง นายหลุย เบิร์นส์ รองประธานกลุ่มระบบปฏิบัติการพื้นฐานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ของบริษัทอินเทล คอร์ป. กล่าวว่า ชิพเพนเทียม 4 เวอร์ชั่นใหม่นี้ มีชื่อรหัสว่า เพรสคอตต์ (Prescott) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพประมวลผลให้กับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ด้วยเทคโนโลยีไฮเปอร์ธรีดดิง (Hyperthreading) และได้สาธิตการใช้งานเพนเทียม 4 รุ่นความเร็ว 4 กิกะเฮิรตซ์ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดในปีหน้า

 

โฉมหน้าพีซีของอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญในวงการคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า พีซีในอนาคต จะมีรูปร่างไม่แตกต่างจากปัจจุบัน แต่จะมีอุปกรณ์ใหม่ที่ใช้ความสามารถของหน่วยประมวลผล (ซีพียู) เป็นส่วนประกอบเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ตู้เย็นมีจอภาพ หรือรถยนต์มีเครื่องเล่นที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ เป็นต้น กระนั้น ส่วนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน คือ จอภาพ ที่จะกลายเป็นจอแบน และมาพร้อมกันระบบสื่อสาร ทั้งอินฟราเรด และวิทยุสื่อสาร ที่ใช้ติดต่อกับอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์, คอมพิวเตอร์สมุดพก, คอมพิวเตอร์พกพา

 

ด้านความเร็วของซีพียู คาดว่า ภายในปี พ.. 2549 จะมีคอมพิวเตอร์ รุ่นความเร็ว 20 กิกะเฮิรตซ์ ออกมาอวดโฉมในตลาดอย่างแน่นอน ขณะที่ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล ซึ่งในปัจจุบัน ฮาร์ดดิสก์ จะมีความจุอยู่ที่ระดับ 40 กิกะไบต์ (2 หมื่นล้านตัวอักษร) ส่วนหน่วยความจำ อยู่ที่ 128 เมกะไบต์ (128 ล้านตัวอักษร) แต่สำหรับอนาคต คำว่า 10 เทราไบต์ (10 ล้านล้านตัวอักษร) ในฮาร์ดดิสก์ และ 10 กิกะไบต์ ในหน่วยความจำ จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา

 

ฉีกแนวลบความจำเจ

นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ไม่มีขีดจำกัด ส่งผลให้เกิดการคิดสร้างคอมพิวเตอร์ต้นแบบสำหรับอนาคต เพื่อรองรับการใช้งานเฉพาะด้าน มีเอกลักษณ์ และความสวยงามยิ่งขึ้น อาทิเช่น แบบฟัน-ชุน (Fun-Kshun) ที่ออกแบบมาสำหรับการใช้งานในสำนักงานและบ้าน โดยเฉพาะการเล่นเกม, แบบอิเคบานะ (Ikebana) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำว่าดอกไม้ในภาษาญี่ปุ่น, แบบแมจิก บีน (Magic Bean) ซึ่งมีรูปแบบและสีสันที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เน้นกลุ่มเป้าหมาย อยู่ที่เด็กๆ ส่วนแบบ ออตโตแมน (Ottoman) รูปร่างคล้ายเก้าอี้ ซึ่งใช้เป็นเก้าอี้วางของได้เช่นกัน แต่เมื่อเปิดฝาขึ้นมา จะพบจอภาพขนาด 15 นิ้ว โดยทำงานร่วมกับคีย์บอร์ดไร้สาย เหมาะสำหรับใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านที่เป็นมากกว่าเครื่องเรือน ขณะที่ ปิกาซ่า (Picasa) จะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบความจำเจ เมื่อสามารถเปลี่ยนหน้ากากได้หลากสี เหมือนหน้ากากโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน และบอนไซ (Bosai) ซึ่งมีลักษณะคล้ายต้นไม้

 

นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์สวยงามข้างต้นแล้ว คอมพิวเตอร์อีกรูปแบบที่คาดว่าจะได้ความนิยมเช่นกัน คือ คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ (Wearable PC) ซึ่งประกอบด้วย ที่คาดผมหรือหูฟังหรือแว่นตาเป็นจอ, อุปกรณ์คล้ายกล้องขนาดเล็กติดอยู่ใกล้ตา เทียบเท่ากับการมองจอ 14 นิ้ว รวมถึงเข็มขัดหรืออุปกรณ์คล้ายวอล์คแมนเป็นซีพียูติดอยู่ที่เอว และแผ่นคล้ายปลอกมือติดที่แขนแทนแป้นพิมพ์ โดยจะเหมาะกับงานที่ต้องเดินทาง หรือเก็บข้อมูลต่างพื้นที่ อาทิ งานด้านการทหาร, นักสำรวจ, นักขาย เป็นต้น

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 พฤษภาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.