เทคโนโลยีบัตรประชาชนไฮเทค
หลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 11 กันยายน 2544 สมาชิกสภานิติบัญญัติ และผู้บริหารในบริษัทต่างๆ
เรียกร้องให้มีการนำบัตรประจำตัวประชาชนอัจฉริยะมาใช้งาน เหตุเป็นบัตรที่บรรจุข้อมูลไบโอเมทริกที่ทันสมัย
และทำให้การปลอมแปลงทำได้ยากกว่าใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชน
ได้ออกมาคัดค้านแนวคิดดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยอ้างว่า บัตรดังกล่าว ซึ่งช่วยให้รัฐบาลสามารถติดตามบุคคลและดึงข้อมูลส่วนตัวมาใช้ได้นั้น
ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะแยกประชาชนผู้บริสุทธิ์ออกจากนักก่อการร้าย ซึ่งกำลังเดินอยู่บนถนนได้
อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลของประธานาธิบดีบุช จะไม่กระตือรือร้นที่จะนำแนวความคิดดังกล่าวมาประยุกต์ใช้
แต่ก็ไม่เป็นการยากจนเกินไปที่จะได้เห็นสำนักงานความมั่นคงภายในประเทศ นำแนวทางดังกล่าวกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
หากเกิดเหตุการณ์โจมตีของผู้ก่อการร้ายขึ้นในอนาคต ในปัจจุบัน ได้มีประเทศต่างๆ
กว่า 30 ประเทศ นับตั้งแต่อิตาลีไปจนถึงมาเลเซีย ประกาศใช้บัตรประจำตัวประชาชนอัจฉริยะกันแล้ว
เทคโนโลยีของบัตรประชาชนอัจฉริยะ ซึ่งทำให้บัตรดังกล่าวสามารถอ่านได้ทั้งจากอุปกรณ์ที่ไฮเทค
และโลว์-เทค ได้แก่
1.หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนสหรัฐ ส่วนใหญ่จะเป็นบัตรประกันสังคม
แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐ ปฏิเสธแนวคิดใช้บัตรประกันสังคม (SS) แทนที่บัตรประจำตัวประชาชนแล้ว
แต่ทางสำนักงานจัดเก็บรายได้แผ่นดิน หรือไออาร์เอส ได้นำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้ อย่างไรก็ดี
หากมีการเปิดใช้บัตรประชาชนอัจฉริยะจริง หน่วยงานที่ได้รับการคาดหมายว่าจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้
คือ สำนักงานความมั่นคงภายในประเทศ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่า จะออกบัตรให้แก่ประชาชนประเภทต่างๆ
เช่น ผู้ถือบัตรกรีนการ์ด และอื่นๆ เป็นต้น
2.แถบความจำนำแสง แถบข้อมูลความจำนำแสง (มีลักษณะคล้ายกับแผ่นซีดีขนาดเล็กติดอยู่บนบัตรดังกล่าว)
จะบรรจุข้อมูลที่สามารถอ่านได้อย่างเดียว
และอ่านได้ด้วยเครื่องสแกนเนอร์เท่านั้น ในส่วนของข้อมูลที่บรรจุอยู่ในแถบดังกล่าว
จะประกอบด้วย ลายพิมพ์นิ้วมือ รูปภาพ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ที่อยู่เก่า
นามสกุลก่อนแต่งงานของมารดา และประวัติด้านการแพทย์ เช่น อาการแพ้ยา เป็นต้น นอกจากนี้
ยังประกอบด้วยข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ผลการเอกซเรย์ หรือลายเซ็นดิจิทัล
และพร้อมกันนี้ บริษัทเลเซอร์การ์ด ในเมืองเมาน์เทน วิว มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังมีแผนจะติดตั้งอุปกรณ์อ่านภาพสามมิติเข้าไปในบัตรดังกล่าวอีกด้วย
3.ภาพ ในปัจจุบัน
ระบบการพิมพ์ภาพมาตรฐาน ซึ่งใช้เทคโนโลยีการพิมพ์หมึกลงบนพื้นบัตรนั้น เอื้อประโยชน์ให้นักปลอมแปลงที่มีทักษะ
ทำการปลอมแปลงได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ดี
ยังคงมีวิธีที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงได้ ประกอบด้วย การใช้แสงเลเซอร์
ซึ่งเป็นเครื่องมือพิมพ์รูปลงบนวัสดุประเภทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโพลิเมอร์
อย่างเช่น โพลีคาร์บอเนต ได้ ทั้งนี้ ด้วยเทคนิคเลเซอร์ดังกล่าว
ทำให้การลบหรือดัดแปลงภาพไม่สามารถทำได้ ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ
การรวมอุปกรณ์ระบุคลื่นสัญญาณความถี่วิทยุ หรืออาร์เอฟไอดี (RFID) ซึ่งจะดำเนินการระบบยืนยันตัวบุคคลโดยอัตโนมัติ
โดยชิพอาร์เอฟไอดี และเสาอากาศ จะถูกออกแบบให้ซ่อนอยู่ใต้รูป หากรูปถูกดัดแปลง ชิพและเสาอากาศจะถูกรบกวน
และเครื่องอ่านแบบพกพา จะได้รับสัญญาณแจ้งปัญหาดังกล่าว
4.เทคโนโลยีบัตรอัจฉริยะ นอกเหนือจากตัวประมวลผลขนาดเล็กที่ใช้วงจรไอซีแล้ว
บัตรดังกล่าว ยังสามารถจัดการข้อมูลและรันอัลกอริธึ่มเกี่ยวกับการเข้ารหัสลับ โดยตัวประมวลผลดังกล่าว
ยังทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะจำกัดจำนวนข้อมูลที่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งๆ จะสามารถเรียกใช้งานได้
ตัวอย่างเช่น แพทย์ห้องอีอาร์ สามารถดูข้อมูลด้านการแพทย์และบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาได้ [หากอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลของบัตรดังกล่าว
มีคุณสมบัติแบบอ่าน-เขียนได้ (read-write)] แต่ไม่สามารถเห็นข้อมูลเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัย (เช่น ประวัติด้านการบินของนักท่องเที่ยว หรือสถานะวีซ่าของประชาชนที่ไม่ใช่พลเมืองของประเทศ)
ซึ่งเจ้าหน้าที่ไอเอ็นเอส หรือสนามบิน อาจต้องการ
5.แถบบัตรความจำภายใน แถบบัตรความจำภายในที่สามารถเขียนทับได้
ซึ่งผูกขาดการผลิตโดยบริษัทอัลตราการ์ด ในเมืองลอส กาโตส มลรัฐแคลิฟอร์เนียเพียงแห่งเดียวนั้น
สามารถบรรจุข้อมูลได้มากถึง 20 เมกะไบต์ หรือเท่ากับความจุของแผ่นฟลอปปี้ดิสก์ 14 แผ่น อย่างไรก็ดี ตัวแทนบริษัทเปิดเผยว่า คุณสมบัติดังกล่าว
อาจจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือ สามารถบันทึกข้อมูลไบโอเมทริกได้เป็นจำนวนมาก ดังเช่น
ลายพิมพ์นิ้วมือ ภาพสแกนม่านตา ลักษณะการเต้นของหัวใจ หรือลำดับขั้นของดีเอ็นเอ
เป็นต้น
6.บาร์โค้ดระบบ 2-ดี ระบบบันทึกข้อมูลประเภทนี้
เหมาะสำหรับเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่มีอุปกรณ์อ่านนำแสงที่ทันสมัย อย่างไรก็ดี
ระบบบาร์โค้ด 2-ดี สามารถเก็บข้อมูลประเภทต่างๆ ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน ได้มากถึง 2 กิกะไบต์ ซึ่งจะประกอบด้วยข้อมูลประเภทต่างๆ เช่น ตัวอักษร รูปภาพ
และข้อมูลไบโอเมทริก ทั้งนี้ ในปัจจุบัน บาร์โค้ดระบบดังกล่าว มีการนำไปใช้ในการออกใบขับขี่ของหลายมลรัฐ
เพื่ออ่านข้อมูลประเภทเดียวกันนี้ ที่บันทึกไว้บนหน้าบัตร
ปัญหาท้าทาย
อย่างไรก็ดี การนำระบบบัตรประชาชนอัจฉริยะ
ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ กล่าวคือ ความถูกต้องของข้อมูลที่รวบรวมขึ้นเป็นฐานข้อมูล
ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐ มีใบขับขี่มากกว่า 200 ล้านใบ
ซึ่งนั่นหมายความว่า ข้อมูลที่จะต้องจัดการมีเป็นจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้น จึงก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลขึ้นอยู่บ่อยๆ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที)
ฉบับวันที่ 29 สิงหาคม 2545
|