รายงาน : จับกระแสเทคโนโลยี 3จีปี 2546

ที่มา-นิวยอร์กไทม์ส
แฟรงก์เฟิร์ต - นักวิเคราะห์ ค้านคำทำนายปี 2546 จะเป็นยุคทองของเทคโนโลยี 3จี ในยุโรป ระบุบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับยุคหน้าจะยังไม่เกิดเหตุเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลผู้ประกอบการประกาศถอยหลังรอตั้งหลัก หวังใช้บริษัท ฮัทชิสัน เป็นกรณีศึกษา ขณะที่โดโคโมของญี่ปุ่นเผยมีสมาชิกไม่ตรงตามเป้าหมาย ส่วนสหรัฐเจอปัญหาเทคโนโลยีคู่แข่ง

 

3จี หรือบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับยุคหน้า ซึ่งอาศัยเครือข่ายประสิทธิภาพสูงให้บริการมัลติมีเดียนอกเหนือจากบริการโทรศัพท์มือถือทั่วไป ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตลอดช่วงปีที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าจะยังคงหาบทสรุปที่แน่นอนสำหรับปีนี้ไม่ได้ แม้นักวิเคราะห์ จะทำนายว่า ปี 2546 จะเป็นยุคทองของเทคโนโลยี 3จี ในยุโรป กระทั่งบริษัท "3" ธุรกิจในเครือของฮัทชิสัน วัมเปา จากฮ่องกง ได้ประกาศเปิดทดสอบบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับยุคหน้าที่อังกฤษในเดือนนี้ แต่ นายจอห์น ไทโซ นักวิเคราะห์บริษัท เวสต์ แอลบี แพนมัวร์ ในลอนดอน ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมาโดยตลอด เปิดเผยว่า บริการ 3จี ในยุโรปจะยังคงไม่ได้รับความนิยมในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

ปฐมเหตุ

ทั้งนี้ บริการโทรศัพท์สำหรับยุคที่สาม ได้เริ่มต้นอย่างผิดพลาดเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ หลังจากบริษัท ฮัทชิสัน และผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเกือบทุกรายในยุโรป แข่งขันการประมูลสิทธิบัตรคลื่นวิทยุ เนื่องจากคิดว่า เทคโนโลยี 3จี ที่มีคุณสมบัติขยายมากมาย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ นั่นคือ บริษัทต่างๆ จะสามารถให้บริการรายงานความเคลื่อนไหวราคาหุ้น วิดีโอเกม ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่การส่งภาพนิ่งไปยังโทรศัพท์มือถือมาตรฐานทั่วไปได้ ผู้ให้บริการเหล่านี้ ได้ทุ่มเงิน 190,000 ล้านดอลลาร์เป็นค่าสิทธิบัตร และจ่ายให้กับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ตั้งแต่เบอร์ลินไปจนถึงมาดริด แต่หลังจากนั้นตลาดโทรคมนาคมทั่วโลกก็ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง

 

ถอยหลังรอตั้งหลัก

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ ผู้ถือครองสิทธิบัตรบางรายได้ประกาศชะลอแผนการ 3จี ของตน อาทิ บริษัท เคพีเอ็น ในเนเธอร์แลนด์ ลดเงินลงทุนด้าน 3จี ลง ส่วนบริษัท เทเลโฟนิกา ของสเปน ประกาศถอนตัวจากการประมูลสิทธิบัตรในเยอรมนีและประเทศอื่นๆ ด้านบริษัท เอ็นทีที โดโคโม ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในญี่ปุ่น ซึ่งเปิดให้บริการ 3จี เป็นแห่งแรกของโลก ออกมาเปิดเผยว่า ทางบริษัทมีสมาชิกบริการ 3จี น้อยกว่าที่คาดเอาไว้ ซึ่งนักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า เป็นผลมาจากปัญหาเครือข่ายไม่มีเสถียรภาพ

 

ปัญหาเทคโนโลยีคู่แข่ง

ส่วนในสหรัฐ ที่ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยี 3จี หยุดชะงักลงเนื่องจากมาตรฐานคู่แข่ง โดยในปัจจุบัน ผู้ให้บริการหลายราย แสดงความสนใจเทคโนโลยีตัวกลางและบริการที่ใช้เงินลงทุนน้อย เช่น การแลกเปลี่ยนภาพดิจิทัลผ่านมือถือ เป็นต้น อีกทั้งยังต่อต้านการเปิดให้บริการเครือข่าย 3จี เนื่องจากความนิยมของบริการไว-ไฟ เทคโนโลยีคู่แข่งที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากคอมพิวเตอร์พกพาได้ในราคาไม่แพง ขณะที่ในยุโรป บริษัทโทรคมนาคมคู่แข่งกำลังรอพิจารณาผลการทดสอบบริการของบริษัท ฮัทชิสัน ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เลื่อนกำหนดการเปิดบริการไปแล้ว 2 ครั้ง และถึงกระนั้น โฆษกของบริษัทยังคงไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดตัว 3จี ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายจะคาดกันว่าน่าจะเป็นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

 

ชูมัลติมีเดียเป็นจุดขาย

"การเปิดทดสอบบริการ 3จี นั้น เป็นแนวทางในเชิงปฏิบัติ ซึ่งทางบริษัทยังไม่ได้วางแผนการอนาคตที่แน่นอนในขณะนี้" นายเอ็ดเวิร์ด บรูวสเตอร์ โฆษกบริษัท "3" ชี้แจง พร้อมเสริมว่า ทางบริษัทมีแผนดำเนินธุรกิจคล้ายบริษัทสื่อหลากหลาย (มัลติมีเดีย) มากกว่าผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สาย โดยจะมุ่งให้บริการด้านสื่อบันเทิงเป็นหลัก "มือถือ 3จี ไม่ใช่โทรศัพท์ และเราไม่คิดว่าเรา คือ บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีสื่อสารระบบมัลติมีเดียเคลื่อนที่มากกว่า" นายบรูวสเตอร์ กล่าวทิ้งท้าย

 

จีนเร่งแข่งตลาดโลก

เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (2..) เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนก็ได้ออกมาประกาศว่า เทคโนโลยี 3จี ซึ่งประเทศจีนได้พัฒนาขึ้นเองนั้นยังคงอยู่ในขั้นทดสอบ และจะไม่สามารถเปิดให้บริการได้จนกว่าจะถึงปี 2547 ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า มาตรฐาน 3จี ของจีน จะสามารถกวาดรายได้ให้แก่ผู้พัฒนาเทคโนโลยี และผู้ผลิตมือถือในประเทศได้หลายพันล้านดอลลาร์ ถ้าหากสามารถเปิดใช้บริการได้ทั่วประเทศ เทคโนโลยี 3จี มาตรฐานจีนตัวนี้มีชื่อว่า ทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ (TD-SCDMA) และคาดว่า จะเป็นคู่แข่งสำคัญของมาตรฐาน ไวด์แบนด์ซีดีเอ็มเอ (WCDMA) ของยุโรป รวมทั้งมาตรฐานซีดีเอ็มเอ 2000 (CDMA 2000) ของสหรัฐ ที่บริษัท ควอลคอมม์ เป็นผู้พัฒนาขึ้นด้วย "ระบบนี้จะสามารถให้บริการในเชิงพาณิชย์ สำหรับผู้บริโภคจำนวนมากได้อย่างแท้จริงอย่างเร็วที่สุดในปี 2547" นายหลี ชิเฮ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ต้าถัง โมบายล์ คอมมูนิเคชั่นส์ กล่าว

ขณะเดียวกัน เขาก็ต้องออกมาแก้ต่างให้กับเทคโนโลยี ทีดี-เอสซีดีเอ็มเอ ของตน ที่นักวิเคราะห์หลายรายให้ความเห็นว่าไม่สามารถรับส่งสัญญาณได้ดีพอในรถยนต์ที่กำลังเคลื่อนที่ "เทคโนโลยีนี้ก็มีมาตรฐานดีพอๆ กับเทคโนโลยีตัวอื่น" เขา กล่าว นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ยังแย้มว่า รัฐบาลวางแผนจำหน่ายใบอนุญาตให้บริการเครือข่าย 3จี ให้แก่ผู้ประกอบการถึง 4 รายในปีนี้ ได้แก่ ไชน่า เทเลคอม, ไชน่า เน็ตคอม, ไชน่า โมบายล์ และไชน่า ยูนิคอม

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 มกราคม 2546

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.