ตลาดรถจักรยานยนต์ปี'45 : ต่างส่งรถราคาถูกช่วงชิงตลาดล่าง
ปีที่
8 ฉบับที่ 1027 วันที่ 5
เมษายน 2545
ในปี
2545 ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์แต่ละค่ายต่างผลักดันโครงการผลิตรถจักรยานยนต์รุ่นที่มีราคาถูกออกสู่ตลาด
เพื่อรองรับกระแสความนิยมสินค้าที่มีคุณภาพในราคาถูกของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน นอกเหนือจากการออกรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาดเพื่อครอบคลุมตลาดรถจักรยานยนต์ทุกประเภท
โดยเฉพาะตลาดรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวแบบเครื่องยนต์ 4
จังหวะ ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2545
นี้ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.1-1.2 ล้านคัน
ตลาดรถจักรยานยนต์ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมาจากปี 2544
ที่มียอดจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 907,100 คันเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 โดยในช่วงต้นปี 2545 ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยอัตราร้อยละ
52.2 และร้อยละ 34.7 ในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ตามลำดับ
ทำให้บรรดาค่ายรถจักรยานยนต์ต่างปรับเป้าหมายยอดจำหน่ายในปี 2545 ของตนเพิ่มขึ้นจากเดิม เพราะต่างมั่นใจว่าตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้จะขยายตัวสูงเกินกว่า
1 ล้านคัน จากเดิมที่ตั้งเป้าขนาดตลาดรวมไว้ที่ 9.4 - 9.5 แสนคัน ทั้งนี้เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญๆหลายประการที่ช่วยเกื้อหนุน ดังนี้
·
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯที่เริ่มส่งผลในปีนี้
ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ ทำให้ลูกค้าที่ชะลอการตัดสินใจซื้อในช่วงก่อนหน้าที่ภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้ออำนวย
ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
·
รถจักรยานยนต์มือสองเริ่มลดน้อยลง
ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเปิดตัวรถจักรยานยนต์ราคาถูก เพื่อขยายตลาดระดับล่างของค่ายรถจักรยานยนต์ต่างๆ
·
การจัดรายการส่งเสริมการขายดึงดูดลูกค้าของบรรดาค่ายรถต่างๆ
ช่วยให้ผู้ซื้อมีความสามารถในการซื้อเพิ่มขึ้น เช่น ดาวน์น้อย ดอกเบี้ยต่ำ
และผ่อนนาน
·
การสนับสนุนด้านการเงินด้วยดอกเบี้ยอัตราต่ำของสหกรณ์ในหน่วยงานต่างๆ
และการปล่อยวงเงินกู้เพื่อซื้อรถจักรยานยนต์ของสถาบันการเงินต่างๆแก่ลูกค้าที่เป็นพนักงานหรือข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำ
ที่ขยายวงกว้างขึ้นในปัจจุบัน
·
การเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2544 เป็นต้นมา
โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์แบบเครื่องยนต์ 4 จังหวะซึ่งประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี
2545 ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์แต่ละค่ายต่างให้ความสำคัญในการผลิตรถประเภทครอบครัว โดยเฉพาะแบบเครื่องยนต์
4 จังหวะที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่รถแบบครอบครัวกึ่งสปอร์ตและรถแบบสปอร์ตต่างมียอดขายชะลอตัวลง โดยปัจจุบันรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวมียอดจำหน่ายในสัดส่วนร้อยละ
79 ของตลาดรถจักรยานยนต์โดยรวม และรถจักรยานยนต์ประเภทครอบครัวกึ่งสปอร์ต
และรถจักรยานยนต์ประเภทสปอร์ตในสัดส่วนร้อยละ 19 และร้อยละ 2 ตามลำดับ
ตลาดรถจักรยานยนต์ในปีนี้มีความเคลื่อนไหวอย่างมาก
เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละค่ายต่างทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่ตั้งแต่ต้นปี โดยเน้นการแข่งขันที่ตลาดรถครอบครัวเครื่องยนต์ 4
จังหวะซึ่งฮอนด้าครองตลาดอยู่ ด้วยการพัฒนารถจักรยานยนต์แบบเครื่องยนต์ 4 จังหวะให้มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นทันสมัย และมีสมรรถนะเทียบเท่ารถจักรยานยนต์แบบเครื่องยนต์
2 จังหวะ นอกจากนี้ บรรดาค่ายรถส่วนใหญ่ต่างนำรถจักรยานยนต์รุ่นราคาถูกออกสู่ตลาด
เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มระดับล่างที่ต้องการใช้รถที่มีคุณภาพในราคาประหยัด
ฮอนด้า เป็นผู้นำในตลาดรถจักรยานยนต์ โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณร้อยละ 76 ของตลาดรถจักรยานยนต์รวม
ส่วนใหญ่ คือ ประมาณกว่าร้อยละ 90 เป็นยอดจำหน่ายรถประเภทครอบครัวแบบเครื่องยนต์
4 จังหวะ และล่าสุด คือ ในช่วงปลายปี 2544 ฮอนด้าได้นำรถรุ่นเวฟ
125 ออกสู่ตลาดและได้รับความนิยมอย่างสูง ส่วนรถรุ่นเดิม คือ
เวฟ 110 ก็ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดิม จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของรถจักรยานยนต์ฮอนด้าทั้ง
2 รุ่นเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์รวมขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี
2545 และทำให้ฮอนด้าปรับเป้าหมายยอดขายในปี 2545 จากเดิมกำหนดไว้ที่ 750,000 คันเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 คัน
นอกจากนี้
ฮอนด้ายังเตรียมทยอยเปิดตัวรถรุ่นใหม่อีกหลายรุ่น รวมทั้งรถรุ่นราคาถูกซึ่งจะออกสู่ตลาดในกลางปีนี้
เพื่อขยายตลาดในต่างจังหวัดและกันการแย่งตลาดจากรถลักลอบนำเข้าจากจีน นับเป็นครั้งแรกที่ฮอนด้าผลิตรถราคาถูกออกสู่ตลาด
และฮอนด้ายังมีแผนที่จะพัฒนาตลาดรถจักรยานยนต์มือสองเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายรถใหม่ โดยการรับประกันรถมือสองในระยะเวลา
6 เดือน
และเพิ่มระยะเวลารับประกันรถใหม่จาก 1 ปีหรือ 1 หมื่นกิโลเมตร เป็น 3 ปีหรือ 3 หมื่นกิโลเมตร.
รองลงมา
คือ ยามาฮ่า และซูซูกิซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกันในสัดส่วนร้อยละ 10 โดยยามาฮ่าได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทแม่ซึ่งเข้ามาถือหุ้นใหญ่
รวมทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆจากญี่ปุ่นเข้ามาช่วยขยายตลาดในประเทศไทย โดยล่าสุดได้เริ่มบุกตลาดรถครอบครัวด้วยการเปิดตัวสปาร์ค
ซึ่งเป็นรถประเภทครอบครัว เครื่องยนต์ 4 จังหวะขนาด 105 ซีซี.เมื่อปลายปี 2544 และเตรียมส่งรถอีก
5 รุ่นทำตลาดในปีนี้ โดยตั้งเป้ายอดจำหน่ายในปีนี้ไว้ประมาณ
150,000 คัน
ส่วนซูซูกิซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรองลงมาจากยามาฮ่า ได้ตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้ไว้ที่ 150,000 คัน โดยบริษัทแม่ในญี่ปุ่นได้เลือกไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคนี้
ซูซูกิได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ คือ สแมช ในงานบางกอกมอเตอร์โชว์ สแมชเป็นรถประเภทครอบครัว
เครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ ขนาด 110 ซีซี.
ราคาขายอยู่ที่ 3.55 หมื่นบาทซึ่งถูกกว่าในตลาดรถขนาดเดียวกัน
ทั้งนี้เนื่องจากซูซูกิสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ถึงร้อยละ 30 สแมชจะเป็นสินค้าตัวหลักที่ซูซูกิใช้เจาะตลาดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดรถ
4 จังหวะเป็นร้อยละ 20
คาวาซากิซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 4ได้ตั้งเป้ายอดขายปีนี้ไว้ที่45,000 คัน และหันมาให้ความสำคัญในการผลิตรถครอบครัวมากขึ้น
โดยจะผลิตรถครอบครัวเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งนี้เพื่อขยายส่วนแบ่งในตลาดรถครอบครัวที่ขยายตัอย่างต่อเนื่อง
ลาสุดคาวาซากิได้ส่งคาเซ่ 112 ซีซี.ออกสู่ตลาดด้วยราคาจำหน่ายต่ำถึง
36,000 บาท ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาการผลิตโดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงถึงร้อยละ
95 คาวาซากิยังร่วมมือกับซูซูกิเป็นพันธมิตรในการซื้อวัตถุดิบร่วมกันและผลิตชิ้นส่วนร่วมกันในบางรุ่น
เพื่อลดต้นทุนการผลิต และอาจมีเครือข่ายในการกระจายสินค้าร่วมกันในอนาคต
เป็นที่น่าสังเกตว่า
ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและยังมีลู่ทางขยายตัวได้อีกมาก
เมื่อพิจารณาจากการใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยที่มีอัตราส่วนประชากร 4 คนต่อรถ 1 คัน เทียบกับในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีอัตราส่วน 2
คนต่อ 1 คัน ทำให้ค่ายรถจักรยานยนต์จากประเทศอื่นนอกเหนือจากค่ายญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย
ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 2 ราย คือ
- บริษัท เจอาร์ดีไบรท์ มอเตอร์ อินดัสตรี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตล้อแมกจากประเทศมาเลเซีย และได้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ.เมื่อ 3
ปีที่ผ่านมาเพื่อตั้งโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ขึ้นที่จังหวัดสงขลา ขณะนี้ได้เริ่มการผลิตรถจักรยานยนต์ยี่ห้อ
เจอาร์ดี โดยใช้ชิ้นส่วนที่นำเข้าจากมาเลเซียเป็นหลัก สำหรับรถรุ่นแรกที่จะเริ่มออกตัวสู่ตลาด
คือ รุ่น วีว่า เจวี 110 - 2 เครื่องยนต์ขนาด 110 ซีซี. มีราคาจำหน่ายประมาณ 3.5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการหาตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์เจอาร์ดีในประเทศ
- บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล วีฮีเคิลส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยี่ห้อคาจิว่าจากประเทศอิตาลี
ซึ่งพัฒนาสินค้ามารองรับความต้องการของทุกตลาด โดยในส่วนของการใช้งานทั่วไปจะมียี่ห้อคาจิว่า
รถรุ่นล่าสุดของคาจิว่าเป็นรถประเภทครอบครัว คือ เอฟ-4
เครื่องยนต์ขนาด 150 ซีซี.และสเตลล่า 125 อาร์ เครื่องยนต์ขนาด 125 ซีซี. นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวรถจักรยานยนต์แบรนด์ใหม่ในค่ายคาจิว่าในงานบางกอก
อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ คือ ไทเกอร์ การูด้า
และเอ็มแซด
ไทเกอร์ เป็นรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์ของคนไทย ที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมและมีสิทธิบัตรถูกต้องตามกฎหมาย
โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยกว่าร้อยละ 80 มาประกอบ และนำเข้าชิ้นส่วนอีกร้อยละ
20 จากมาเลเซียและอินโดนีเซีย รถรุ่นแรกของไทยเกอร์ คือ สมาร์ท เป็นรถประเภทครอบครัว
เครื่องยนต์ 4 จังหวะขนาด 120 ซีซี.
จำหน่ายในราคา 2.99 หมื่นบาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำสุดในตลาด
ส่วนการูด้าเป็นรถจักรยานยนต์ที่นำเข้าชิ้นส่วนจากอินโดนีเซียมาประกอบในประเทศไทย
รถรุ่นแรกที่จะจำหน่าย คือ รุ่นเฮลโล ซึ่งเป็นสกูตเตอร์ 125 ซีซี.
เครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ จำหน่ายในราคาประมาณ 4.2 หมื่นบาท
เอ็มแซดเป็นรถจักรยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีของเยอรมนี โดยนำเข้าชิ้นส่วนจากมาเลเซียมาประกอบในประเทศไทย
เอ็มแซดจะเป็นรถจักรยานยนต์ประเภทสปอร์ต รุ่นที่จะจำหน่าย คือ รุ่นซูเปอร์โมโต เครื่องยนต์แบบ
4
จังหวะขนาด 125 ซีซี. จำหน่ายในราคาประมาณ
9.5 หมื่นบาท
ทั้งไทเกอร์
การูด้า และเอ็มแซดเป็นรถจักรยานยนต์ที่ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียในการแลกชิ้นส่วนระหว่างกัน
โดยรถจักรยานยนต์ทั้ง 3
แบรนด์นี้จะทำตลาดร่วมกันในเชิงพันธมิตร ทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการประชาสัมพันธ์
เพื่อเสริมสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน
คาดว่าจากราคาที่ต่ำและอะไหล่ที่ถูกกว่ารถค่ายญี่ปุ่น
ซึ่งเป็นจุดขายสำคัญของรถจักรยานยนต์จากค่ายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดในปีนี้ จะสามารถดึงความสนใจจากลูกค้าได้มากพอสมควร
ทั้งยังแข่งขันกับรถนำเข้าจากจีนได้ ทำให้การแข่งขันในตลาดรถจักรยานยนต์ซึ่งถูกค่ายรถญี่ปุ่นครองตลาดอยู่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งจากรถจักยานยนต์ราคาถูกที่นำเข้ามาจากจีน และการเข้าสู่ตลาดของรถจักรยานยนต์แบรนด์ใหม่ๆ
โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคาเจาะตลาดระดับกลางลงมา รวมทั้งรถจักรยานยนต์ราคาถูกที่ผู้ผลิตซึ่งครองตลาดอยู่เดิมต่างพัฒนาออกสู่ตลาด
เพื่อขยายตลาดระดับล่างที่ยังมีความต้องการรถจักรยานยนต์อยู่จำนวนมาก และป้องกันการเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากรถนำเข้าราคาถูกของจีน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกมากขึ้นในการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์
โดยจะมีสินค้าราคาถูกจากค่ายต่างๆมาให้เลือกอย่างหลากหลาย อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาในเรื่องบริการหลังการขาย
โดยเฉพาะความพร้อมในด้านอะไหล่ ราคาอะไหล่ และคุณภาพการให้บริการซ่อมบำรุง นอกเหนือจากรูปลักษณ์ของสินค้าและราคา
ขณะเดียวกันหน่วยงานในภาครัฐฯเองก็จะต้องเข้มงวดกวดขันในด้านมาตรฐานสินค้าทั้งรถจักรยานยนต์ที่นำเข้าและที่ผลิตจำหน่ายในประเทศ
โดยเฉพาะมาตรฐานด้านไอเสียที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่มา
: บริษัท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด
|