ทบทวนภาษีนำเข้าวัตถุดิบ : กระตุ้นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ
ปีที่ 8 ฉบับที่ 1103 วันที่ 16
สิงหาคม 2545
ในช่วง
1-2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศที่เคยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ
ได้ย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย
หลายราย โดยให้เหตุผลในการย้ายโรงงานผลิตในครั้งนี้ว่าประสบกับปัญหาด้านโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
ซึ่งจัดเก็บอยู่ในอัตราที่สูงกว่าภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปบางรายการ
นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงโดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาด
ในขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่สามารถปรับลดลงได้ ทำให้เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้นัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือ
โดยประกอบด้วย ผู้ประกอบการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เพื่อหารือเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สามารถผลิตแข่งขันได้กับต่างประเทศ
นับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศเป็นอย่างยิ่ง
เพราะที่ผ่านมาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2544 ที่ผ่านมามีมูลค่าการส่งออกรวมกันถึง 22,900
ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35
ของมูลค่าส่งออกสินค้าไปต่างประเทศรวมทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่า
7,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 319,000
ล้านบาท มีตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ
25, 18, 7, 5 และ 4 ตามลำดับ ชนิดของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ส่งออกไปจำหน่ายมากที่สุด
คือ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ มีมูลค่าส่งออกในปี 2544 ประมาณ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
มีมูลค่าส่งออกในปี 2544 ประมาณ 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องวิดีโอ อุปกรณ์เครื่องเสียงและส่วนประกอบ มูลค่าส่งออก 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีเครื่องไฟฟ้าอีกหลายประเภท เช่น ตู้เย็น
แผงสวิตซ์ไฟฟ้า เตาอบไมโครเวฟ หลอดภาพโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เป็นต้น
การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีมูลค่ารวม 15,498
ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 685,130 ล้านบาท โดยมีส่วนประกอบและสายไฟคอมพิวเตอร์มากเป็นอันดับ
1 คือมีมูลค่า 7,829 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ
50.5 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รองลงมาเป็นชิ้นส่วนประเภทเซมิคอนดักเตอร์
(แผงวงจรไฟฟ้า ทรานซิสเตอร์และไอโอด) โดยมีมูลค่า
4,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.4 ของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้เป็นการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ
เช่น วงจรพิมพ์ ตลับลูกปืนอิเล็กทรอนิกส์ มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องโทรพิมพ์และโทรสาร
ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 3,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น
ร้อยละ 21 ของมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตในประเทศ
แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1) ผู้ผลิตจากต่างประเทศที่มาเปิดโรงงานผลิตในประเทศไทย
และ 2) ผู้ผลิตในประเทศ โดยผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
หรือ บีโอไอ อย่างต่อเนื่อง ในปี 2544 ที่ผ่านมา มีผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจำนวน
173 โครงการ เป็นมูลค่าเงินลงทุน 51,885 ล้านบาท
แบ่งออกเป็นการลงทุนจากต่างประเทศร้อยละ 83 ที่เหลือเป็นการลงทุนในประเทศร้อยละ
17 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2545 โครงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
มีมูลค่าเงินลงทุน 14,533 ล้านบาท การลงทุนส่วนใหญ่ยังมาจากต่างประเทศ
โดยมีประเทศที่ให้ความสนใจมาลงทุนในประเทศไทย คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรป
และสิงคโปร์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการลงทุนผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีแนวโน้มลดลง
หลังจากที่ในช่วงปี 2543 เป็นปีที่มีผู้ประกอบการได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน
185 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนมากถึง 71,613 ล้านบาท
แต่ในปี 2544 ลดลงเหลือเพียง 173 โครงการ
มูลค่าเงินลงทุน 51,855 ล้านบาท ลดลงประมาณ 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.6 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2545 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงถึงร้อยละ
50 จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา
การชะลอการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตแม่จากต่างประเทศและผู้ผลิตภายในประเทศนั้น
เป็นผลมาจากการได้รับผลกระทบจากการหดตัวของความต้องการสินค้า นอกกจากนี้ส่วนหนึ่งมาจากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยของผู้ผลิตหลายราย
เช่น โรงงานผลิตทีวีสี ยี่ห้อมิตซูบิชิ เอ็นอีซี ฟิลิปป์ ซันโย และล่าสุดเดือนสิงหาคมนี้
โตชิบาจะย้ายฐานการผลิตทีวีไปยังประเทศอินโดนีเซีย โดยผู้ประกอบการทั้งหมดได้ให้เหตุผลว่าประสบกับปัญหากับโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบไทยที่สูงกว่าสินค้าสำเร็จรูปทำให้แข่งขันไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยจะต้องปรับลดภาษีนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าสำเร็จรูปลงเหลือ ร้อยละ
10
ในปี 2545 และลดลงเหลือร้อยละ 5 ในปี 2546
ภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน หรือ อาฟต้า ในขณะที่ภาษีวัตถุดิบที่จัดเก็บมีอัตราสูงถึงร้อยละ
10-30 วัตถุดิบที่ต้องนำเข้ามาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญกว่าร้อยละ
80 ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10-20
อลูมิเนียมสแตนเลส เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10
เม็ดพลาสติก เสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 แผ่นยาง
เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 เป็นต้น การเรียกเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบบางประเภทในอัตราที่สูงนั้น
สาเหตุเนื่องมาจากการคุ้มครองหรือปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
ปัญหาเรื่องของการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาประกอบเป็นสินค้าจำหน่ายในประเทศเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน
และได้เริ่มส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศที่มีฐานการผลิตสินค้าในประเทศต่างย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศต่ำกว่าเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน
นอกจากนี้ผู้ผลิตในประเทศเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งทำให้สินค้าสำเร็จรูปราคาถูกจากประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนเข้ามาตีตลาดในประเทศ
ทำให้ผู้ผลิตในประเทศต้องปรับลดราคาลงเพื่อแข่งขัน ส่วนผู้ประกอบการผลิตขนาดกลางและเล็กจำนวนหนึ่งหยุดการผลิตและเปลี่ยนมาเป็นนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปมาจำหน่าย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การย้ายฐานการผลิตและการหยุดผลิตของผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นั้น
จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานในภาคการผลิตที่ถูกเลิกจ้างอีกด้วย
ตัวเลขจำนวนแรงงานของสภาอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ้างในสาขาการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2544 สูงถึง 9,000 คน และคาดว่าจะมีจำนวนสูงขึ้นอีกหากมีการปิดโรงงานผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม
หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้มีการทบทวนโครงสร้างภาษีวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยในระยะเริ่มแรกให้มีการศึกษาถึงโครงสร้างวัตถุดิบที่ใช้ อัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบเดิม
หากวัตถุดิบใดที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศให้พิจารณาปรับลดก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากไม่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ
ส่วนวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ประเทศ ให้พิจารณาลดภาษีให้กับผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นกรณีพิเศษ
โดยเริ่มต้นใช้กับการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และสายใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออฟติก เป็นสินค้านำร่อง
จากนั้นจะตามด้วยการผลิตเครื่องเล่นวีซีดี ตู้เย็น และ เครื่องซักผ้า โดยที่จะปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตอยู่ที่ร้อยละ
0 และปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปลงเหลือร้อยละ 5 ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ในปี 2546
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แม้ว่าแผนการปรับลดภาษีให้กับอุตสาหกรรมในครั้งนี้เป็นมาตรการในระยะสั้น
แต่ก็มีผลต่อการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตในระดับหนึ่งท่ามกลางภาวะการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตามยังต้องมีการปรับโครงสร้างการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
และการแก้ไขปัญหาทางด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัย
การสร้างแบรนด์ของสินค้าของคนไทยเอง การพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคการผลิต การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด
การสนับสนุนให้มีการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
การเร่งรัดการขอคืนภาษีของผู้ผลิตเพื่อการส่งออก และที่สำคัญคือ การเตรียมความพร้อมรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
ของประเทศคู่ค้าที่กำลังเริ่มนำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหภาพยุโรปกำลังจะประกาศกฏระเบียบว่าด้วยการกำจัดเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and
Electronics Equipment : WEEE) ในปี 2547 ซึ่งจะมีผลต่อผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออกที่จะต้องรวบรวมสินค้าที่หมดอายุการใช้งานแล้วมากำจัดทิ้ง
ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนของสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีก ปัญหาเหล่านี้กำลังเป็นประเด็นที่รอการแก้ไขเพื่อให้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญของการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าวัตถุดิบในครั้งนี้ จะต้องไม่ให้เกิดผลกระทบหรือก่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับผู้ผลิตภายในประเทศ
ที่มา
: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
|