ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปี '45 ยังไม่ฟื้น : โรงงานถล่ม ... ยอดส่งออกหด
ปีที่ 8 ฉบับที่ 1189 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ของบริษัท เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ถล่มลงทับคนงาน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมโยธาธิการต้องเข้าตรวจสอบการก่อสร้างของโรงงานที่เหลือเพื่อความปลอดภัยของพนักงานที่ปฏิบัติงานในโรงงานอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การผลิตหยุดชะงักลงชั่วคราว ทั้งนี้หากโรงงานต้องโดนปิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2545 ให้ตกต่ำต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากที่ได้รับผลกระทบมาจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกส่งออกสำคัญของไทย แม้ว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2544 และมีแนวโน้มของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2545 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 แต่จะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในทันทีและคาดว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2546

 

สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2544 ที่ผ่านมาหดตัวลงมาก การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีมูลค่ารวม 15,498 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นมูลค่า 685,130 ล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 14.27 จากในปี 2543 เนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยที่ทั้งสองประเทศรวมกันมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 36 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต การลงทุนจากต่างประเทศ และการจ้างงานภายในประเทศ รายงานดัชนีอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นว่า การผลิตสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2544 ลดลงร้อยละ 29.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ในส่วนของการลงทุนจากต่างประเทศ พบว่า โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีมูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 37.3 จากปี 2543 ส่วนด้านการจ้างงาน มีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 9,004 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด

 

แนวโน้มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2545 นั้น ยังคงได้รับผลต่อเนื่องจากปี 2544 และยังคงเน้นความสำคัญของภาคการส่งออกเป็นหลัก อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนของการคาดคะเนแนวโน้มของการส่งออกในปี 2545 นั้นนอกจากจะต้องคำถึงถึงปัจจัยภายนอกหรือการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การใช้จ่ายในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการขยายตัวของอุตสากรรมที่ใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยการผลิตเป็นสำคัญแล้ว การถล่มของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของ บริษัท เดลต้าฯ ทำให้เกิดการหยุดชะงักของการผลิตลงชั่วคราว หลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับกรมโยธาธิการได้มีนโยบายที่จะตรวจสอบแบบก่อสร้างของโรงงานผลิตอื่นๆ ด้วย ซึ่งหากตรวจพบว่ามีโรงงานที่ก่อสร้างผิดรูปแบบก็สามารถสั่งระงับการผลิตพร้อมให้ปรับปรุงแก้ไขเพื่อความปลอดภัยของพนักงานที่ปฏิบัติงานด้วย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ในปี 2545 การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะมีมูลค่าลดลงประมาณร้อยละ 8 มีมูลค่าส่งออกประมาณ 14,254 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลฉุดรั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปี 2545 นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้

·        ภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยหลักที่กระทบต่อการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ผลประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดย IMF ระบุว่า ในปี 2545 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.4 เท่ากับปีที่ผ่านมา ในตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น สหรัฐ คาดว่าจะมีการขยายตัวของเศรษฐกิจร้อยละ 2 เท่านั้น ในขณะที่ญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มของเศรษฐกิจหดตัวลงร้อยละ 1.3

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลง โดยประมาณการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการซื้อสินค้าฮาร์ดแวร์ในปี 2544 ลดลงถึงร้อยละ 9 และคาดว่าจะมีลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2545 อีกร้อยละ 1.3 ส่วนความต้องการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซีของโลกคาดว่าจะลดลงร้อยละ 14 ในปี 2544 ซึ่งการหดตัวของการค่าใช้จ่ายในสินค้าฮาร์ดแวร์ หรือเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มีผลต่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เพราะกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้ในการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์

·        การหดตัวของอุตสาหกรรมการผลิต ที่ใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมการผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุตสาหกรรมเครื่องบิน เป็นต้น มีแนวโน้มของการผลิตลดลงเนื่องจากความต้องการของตลาดลดลง ส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จากการประมาณของ World Semiconductor Trade Statistics (WSTS) คาดว่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของโลกในปี 2545 จะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.6 หรือมีมูลค่าประมาณ 142,376 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หลังจากปีที่ผ่านมามีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 32.1

·        การผลิตในประเทศ หากพิจารณาจากภาพรวมการผลิตในประเทศแล้ว พบว่า ผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยและส่งออกไปยังประเทศต่าง บริษัท เดลต้า ฯ เป็นบริษัทที่ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อันดับต้นของไทย และเป็น 1 ใน 8 ของบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีรายได้จากการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2544 มีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือ ประมาณร้อยละ 4.3 ของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด การถล่มของอาคารโรงงานได้ส่งผลกระทบทำให้การเกิดการหยุดชะงักของการผลิตได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และมีผลทำให้โรงงานผลิตชิ้นส่วนที่เหลือทั้งในส่วนของบริษัท เดลต้าฯ เองและโรงงานอื่นๆ ต้องได้รับการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ซึ่งหากพบว่า โรงงานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานอาจต้องมีการสั่งปิดโรงงานเพื่อแก้ไข ทำให้การผลิตหยุดชะงักลงได้

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ในกรณีที่มีการสั่งปิดโรงงานผลิตทั้งหมดของบริษัท เดลต้าฯ เป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยต่อไปลดลงร้อยละ 3.4 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,500 ล้านบาท ส่วนมูลค่าส่งออกจะลดลงเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนโรงงานและระยะเวลาที่ถูกสั่งปิด แต่คาดว่าผลกระทบคงเป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้น

 

คู่แข่งขัน ในการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ไทยมีคู่แข่งขันที่สำคัญคือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ แม้ว่ามาเลเซียจะประสบกับปัญหาด้านการต่อวีซ่าให้กับแรงงานจาก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียและบังกลาเทศ ทำให้ผู้ผลิตเริ่มมีแนวโน้มที่จะเล็งหาฐานการผลิตใหม่ โดยเลือกระหว่าง ไทย จีน และ อินเดีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจีนจะเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจมากกว่าเนื่องจากมีความได้เปรียบในด้านค่าแรงงานมากกว่าไทย ซึ่งจะทำให้คู่แข่งของไทยในตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเพิ่มขนาดการลงทุนของผู้ประกอบการจากสหรัฐฯ ในสิงคโปร์ เพื่อขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้ไทยแข่งขันการส่งออกกับสิงคโปร์ในกลุ่มชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงยากขึ้น

 

แนวโน้มของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ในปี 2545 จะยังคงไม่สดใสมากนัก ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศต่างก็ต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการเร่งหาตลาดใหม่ๆ นอกเหนือจากตลาดคอมพิวเตอร์ เช่น ตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในรถยนตร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์การสื่อสาร ฯ นอกจากนี้ยังต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เร่งวิจัยและพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการผลิตในระดับสูง

 

นอกจากนี้ภาครัฐควรเร่งขจัดอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในระยะยาวด้วย เพราะปัจจุบันแม้ว่าอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยจะมีการพัฒนามานานแล้ว แต่ก็ยังไม่เติบโตเท่าที่ควร ทั้งนี้เพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ ทำการผลิตหรือประกอบแล้วส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดหรือบริษัทแม่ในต่างประเทศ ทำให้ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับเป็นเพียงค่าจ้างแรงงาน และบุคลากรของไทยยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีค่อนข้างน้อย ดังนั้น ภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงการผลิตให้ครบวงจรตั้งแต่สินค้าต้นน้ำจนถึงสินค้าปลายน้ำ สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรและโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ยังเป็นปัญหาต่อการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ผลิตไทยทำให้ไม่ทัดเทียมกับผู้ผลิตในต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับที่สูงขึ้นโดยเฉพาะบุคลากรด้านการออกแบบแผงวงจรไฟฟ้า เพื่อให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

ที่มา : บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.