มะกันรุกพัฒนา นำเสียงมาใช้แทนรหัสผ่าน
นักวิทยาศาสตร์คิดค้นเทคโนโลยีถอดรหัสระบบเสียง ระบุใช้เทคนิคบันทึกทั้งข้อความที่พูด
และลักษณะการออกเสียง มุ่งแก้ปัญหาแฮคเกอร์ขโมยรหัสผ่าน
พร้อมคาดพัฒนาใช้กับอุปกรณ์พกพาในอนาคต
เวบไซต์นิว ไซแอนทิสต์.คอม รายงานว่า
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยนายไมค์ ไรเตอร์ แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้
เมลลอน นายเฟเบียน มอนโรส และทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการเบลล์
ได้พัฒนาต้นแบบระบบจดจำเสียง เพื่อใช้แทนการบันทึกรหัสผ่านสำหรับอุปกรณ์พกพาในอนาคต
ตัวแทนทีมวิจัย เปิดเผยว่า ระบบพิสูจน์เสียงบุคคลที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน
จะอาศัยการจดจำเสียงที่บันทึกไว้เพียงอย่างเดียว ส่วนระบบรหัสผ่านจะอาศัยเฉพาะตัวอักษรหรือตัวเลข
ซึ่งสามารถคาดเดาได้ง่าย ดังนั้น ระบบที่พัฒนาขึ้นใหม่
จะผนวกเทคโนโลยีทั้งสองรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยการเชื่อมโยงรหัสผ่านที่เป็นคำพูดกับลักษณะเสียงของผู้พูด
เพื่อสร้างกุญแจรหัสขึ้น และสามารถใช้เข้ารหัสข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ ทีมวิจัย
ได้ใช้คอมพิวเตอร์พกพาไอแพคในการทดลองสร้างต้นแบบของอุปกรณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งสาธิตการใช้งาน
โดยให้เจ้าของเครื่องใส่รหัสเข้าระบบคอมพิวเตอร์ในรูปของเสียงพูด จากนั้น คอมพิวเตอร์จะเปรียบเทียบข้อมูลเสียงและข้อความที่พูด
กับกุญแจเข้ารหัสที่บันทึกเก็บไว้ เพื่อปลดล็อกข้อมูลในเครื่อง
ตัวแทนทีมวิจัย กล่าวอีกว่า
การเปลี่ยนเสียงให้เป็นกุญแจรหัสนั้น อาศัยเทคนิคการประมวลที่ค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากเสียงของบุคคลทั่วไปจะแตกต่างกันเล็กน้อย
ในการพูดแต่ละครั้ง ขณะที่ระบบดังกล่าวจะอ่านเฉพาะเสียงที่มีคุณสมบัติตรงตามกุญแจรหัสทุกประการเท่านั้น
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงต้องสร้างระบบอัลกอริธึมที่สามารถตรวจสอบ และแก้ไขความผิดเพี้ยนตามธรรมชาติได้
พร้อมเสริมว่า ระบบใหม่ จะทำให้แฮคเกอร์ไม่สามารถขโมยรหัสผ่านจากคอมพิวเตอร์ได้ เนื่องจากกุญแจรหัสที่สมบูรณ์จะปรากฏขึ้นต่อเมื่อเสียงที่พูด
เชื่อมโยงกับข้อมูลเข้ารหัสที่บันทึกไว้เท่านั้น
นายเดวิด วีลเลอร์
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบพิสูจน์เสียงแห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ กล่าวว่า
เทคโนโลยีดังกล่าว อาจสามารถนำมาใช้เป็นระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ในอนาคต
แต่เตือนว่า อุปกรณ์บันทึกเสียงระดับสูงในปัจจุบัน อาจสามารถเลียนเสียงบุคคลได้อย่างแนบเนียนเช่นกัน
ซึ่งนักวิจัยจะต้องค้นหาวิธีการป้องกันต่อไป
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 22 ตุลาคม 2545
|