รายงาน : สศอ.เตือนสัญญาณอันตราย มูลค่าเพิ่มสินค้าอุตสาหกรรม 'ลดลง'
'สศอ.' เตือนสัญาณอันตราย
การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวลดลง อย่างน่าเป็นห่วง เหลือเพียง 1.6% หลังผลวิเคราะห์ รายอุตสาหกรรม มูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ลดลง
เร่งผู้ประกอบการปรับตัว สร้างมูลค่าเพิ่ม เหนือคู่แข่งรองรับการค้าเสรี
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้วิเคราะห์การสร้างมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลการผลิตรายปี
2545 ซึ่งได้นำมาวิเคราะห์ และจัดทำดัชนี Total
Factor Productivity Growth (TFPG) เพื่อชี้อัตราการขยายตัวของผลิตภาพ
โดยรวมของอุตสาหกรรมการผลิต เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนกำหนดอัตราการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม
เพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว
โดยสำรวจผู้ประกอบการทั้งสิ้น 4,000 ราย พบว่ามูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตโดยรวมของไทย
มีการขยายตัว 1.6% อยู่ในระดับที่ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
จากผลการวิเคราะห์อุตสาหกรรม
แยกตามหมวดการผลิตที่สำคัญ 50 หมวด พบหลายอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มลดลง อาทิ
อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มูลค่าเพิ่มลดลงจากเดิม 33.5% เนื่องจากปัจจัยทุนไม่สามารถก่อให้เกิดการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมนี้
ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตจะเน้นเพียงการขยายตัวทางด้านปัจจัยทุนเพียงอย่างเดียว
โดยขาดการจัดสรรในเชิงประสิทธิภาพ ให้กับกระบวนการผลิตและการจัดการด้านการตลาด ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นทำจากขนสัตว์มูลค่าเพิ่มลดลง
13.17% เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยทุนและแรงงานไม่มากเท่าที่ควร
มีการใช้ปัจจัยทุนและแรงงานอยู่อย่างไม่เต็มที่ นอกจากนี้ยังเผชิญภาวะการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น
ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตรองเท้าการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มลดลง 2.96% เนื่องจากผู้ผลิตมีการร่วมทุน และกลุ่มผู้ผลิตขนาดเล็กที่ลดลงมากส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมรวมไม่ขยายตัว
ซึ่งส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในการใช้เครื่องจักรและแรงงานต่ำ การลงทุนวิจัยและค้นคว้าผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ
จัดว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขัน และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐานแม้มีการขยายตัวของทุนค่อนข้างมากแต่กลับไม่สามารถก่อให้เกิดการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มได้อย่างเต็มที่
สะท้อนให้เห็นว่าผู้ผลิตมีการเร่งขยายการผลิตรองรับการตลาดที่กระเตื้อง โดยการจัดสรรในเชิงประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิตและการจัดการยังไม่เพียงพอ
อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน
มูลค่าเพิ่มหดตัว 2.99%
โดยเป็นผลมาจาก TFPG ที่ติดลบ ขณะที่ผลจากการขยายตัวของทุนและแรงงานที่มีต่อการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มไม่ชัดเจนนัก
ซึ่งผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นลบ มีผลิตภาพของทุนหรือผลิตภาพของแรงงานหดตัว แสดงถึงปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นได้
เนื่องจากขาดการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการผลิตและแรงงาน สำหรับหมวดอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวทั้งมูลค่าเพิ่ม
และผลิตภาพโดยรวมในอัตราสูง ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ ขยายตัวของมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
ถึง 34.4% ชิ้นส่วนยานยนต์ 26.2%
รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนประกอบยายนต์ 31.7% อุตสาหกรรมแก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว
เครื่องถ้วยชามบนโต๊ะอาหารที่ทำจากเซรามิคสบู่เครื่องสำอางพลาสติกขั้นต้น ยางสังเคราะห์
ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์จากปูนซีเมนต์ เป็นต้น
นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กล่าวว่า ตัวเลขการขยายตัวของมูลค่าเพิ่ม
ในหลายอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
รองรับการแข่งขันในตลาดเสรี เพื่อให้มีศักยภาพการแข่งขันเหนือคู่แข่ง
ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ทั้งนี้แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่ม ควรเริ่มจากหน่วยงานที่ดูแลด้านการส่งเสริมการลงทุน
การกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย
ต้องมีการยกระดับให้มีมูลค่าเพิ่มในขบวนการผลิตมากขึ้น ส่งเสริมให้เอกชนวิจัยพัฒนาผลผลิตทางอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าสูงขึ้น
พัฒนาแรงงานให้มีแรงงานฝีมือ ซึ่งจะเป็นทางออกให้กับอุตสาหกรรมที่จะยกระดับผลผลิตได้
ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 14 มิถุนายน 2547
|