ยูพีเอสแข่งเดือด ลดราคา-เลิกกิจการ

ผู้ค้าทยอยปิดตัวในสิ้นปี แม้ดิ้นใช้หลายแบรนด์เพิ่มยอดยังไม่รอด
ตลาดยูพีเอสปีหน้า แข่งราคาเดือดเตรียมโละสต็อก หลังผู้ค้าหลายราย เริ่มปิดตัวลงในสิ้นปีนี้ เหตุการแข่งขันสูงจากผู้จำหน่ายกว่า 25 บริษัท แต่ตลาดไม่ใหญ่ ขณะที่ผู้อยู่รอดเตรียมเพิ่มสินค้าใหม่

 

นายอดิศร อศิรกานต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย สำนักงานผู้แทนอเมริกัน เพาเวอร์ คอนเวอร์ชั่นส์ คอร์ปอเรชั่น (เอพีซี) กล่าวว่า ปีหน้า ตลาดเครื่องสำรองไฟ (ยูพีเอส) จะแข่งขันกันรุนแรงมาก และจะมีผู้ขายหลายรายต้องเลิกทำตลาดในปลายปีนี้ คิดเป็นสัดส่วนราว 20-30% จากที่มีอยู่กว่า 25-30 รายในปัจจุบัน โดยสภาพตลาดเครื่องสำรองไฟปัจจุบัน มีผู้จำหน่ายอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศในลักษณะการว่าจ้างผลิต (โออีเอ็ม) จำนวนมาก และเมื่อการแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้น จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะผู้นำเข้าในลักษณะนี้เป็นกลุ่มที่มีเงินทุนจำนวนไม่มากนัก ขณะเดียวกัน การแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ยังทำให้ผู้ค้าบางรายสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้น จากสินค้าที่คล้ายคลึงกัน แต่แยกแบรนด์ออกเป็น 4-5 แบรนด์ เพื่อช่วยกันสร้างยอดขาย ดังนั้น จึงต้องมีค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และการให้บริการหลังการขายสูงตามไปด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนราว 20-30% ของต้นทุนทั้งหมด

 

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ค้าที่เตรียมเลิกทำตลาด ก็ใช้สงครามราคาอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้จนถึงประมาณต้นปีหน้า เนื่องจากต้องการเลหลังสินค้าคงคลังที่มีอยู่ "แม้จะมีผู้ทำตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่โดยหลักแล้วจะยังคงแข่งขันกับผู้ทำตลาดรายเดิมที่มีอยู่ ซึ่งเรามองว่าในปีนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 30-35% จากตลาดรวม" นายอดิศร กล่าว

 

ต้นทุนไม่ลด แต่เจอปัญหาตัดราคา

ด้านนายอนุชิต อรุณสมสุข ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตลาดเครื่องสำรองไฟฟ้ามีการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง ขณะต้นทุนสินค้าแทบไม่มีการปรับตัวด้านราคา เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตไม่ได้เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากจนไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุน โดยยูพีเอสมีชิ้นส่วนที่จำเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. แบตเตอรี่ ซึ่งผู้ผลิตในประเทศมีข้อได้เปรียบมากกว่าเนื่องจากระบบภาษีนำเข้าสูง ส่งผลให้ราคาแตกต่างกันราว 5-10% 2. แผงวงจร หากสามารถออกแบบใหม่ได้จะสามารถลดต้นทุนบางส่วนได้ แต่ปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก 3. หม้อแปลงไฟฟ้า และ 4. ตัวถัง (เคส) ซึ่งไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ไม่กระทบต่อภาระต้นทุน

 

ขณะที่ตลาดโดยรวมมีการแข่งขันจากผู้ทำตลาดราว 20 ราย ทั้งแบรนด์ในประเทศและต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้งบประมาณด้านการตลาดเข้ามาเสริม แต่ก็มีผู้ผลิตบางรายแตกสายผลิตภัณฑ์เป็นไฟต์ติ้งแบรนด์ออกมา 2-3 ยี่ห้อ เพื่ออุดช่องว่างในตลาดระดับล่าง ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จำนวนของผู้ทำตลาดยูพีเอส จะลดจำนวนลงโดยเฉพาะรายเล็ก เพราะความเสียเปรียบแบรนด์ในประเทศที่ใช้ไฟต์ติ้งแบรนด์ และอยู่ในตลาดมานาน รวมถึงผู้นำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ ก็มีข้อได้เปรียบเรื่องภาษีเพราะผลจากข้อตกลงทางการค้า (ไอทีเอ) ทำให้ภาษีเหลือเพียง 3% จากเดิมประมาณ 22%

 

ภาพรวมตลาดยูพีเอส

นายอนุชิต กล่าวต่อว่า ตลาดยูพีเอสนั้น สามารถคาดการณ์ได้จากปริมาณเครื่องพีซี คาดว่าในปีนี้จะมีความต้องการใช้ยูพีเอสรวมทั้งสิ้นประมาณ 116,000 เครื่อง ทั้งนี้ ไอดีซีได้ประเมินตัวเลขจำนวนเครื่องพีซีปีนี้ราว 700,000 เครื่อง แบ่งเป็นผู้ใช้ตามบ้าน (โฮมยูส) 60-65% ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ใช้ยูพีเอสราว 10-15% เท่ากับในตลาดนี้จะมีความต้องการเครื่องยูพีเอสประมาณ 63,000 เครื่อง ขณะที่ตลาดภาคราชการและองค์กรธุรกิจมีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องพีซีราว 35-40% เท่ากับจำนวนพีซีราว 280,000 เครื่อง โดยจำนวนนี้มีความต้องการเครื่องยูพีเอสราว 20-25% เท่ากับ 56,000 เครื่อง

 

จังหวะเหมาะจับราชการ-องค์กร

นายอดิศร กล่าวต่อว่า แนวโน้มยอดขายปลายปีนี้ของบริษัทจะเติบโตขึ้นกว่าเดิม โดยเริ่มไตรมาส 4 มียอดสั่งซื้อเพิ่มกว่าเดิมราว 30-40% และเชื่อว่าจะเติบโตในลักษณะนี้ไปจนถึงปลายปี ส่งผลให้ยอดขายรวมในปีนี้เติบโตขึ้นราว 70% เมื่อเทียบจากปีก่อนตามจังหวะการเติบโตของภาคราชการ จากการปฏิรูประบบราชการทำให้เกิดกระทรวงใหม่มาก และต่างก็จำเป็นต้องใช้ระบบไอทีเข้ามาเสริมการทำงาน ส่งผลตลาดราชการจัดซื้อมากขึ้น

พร้อมกันนี้ ยังมีแรงกระตุ้นจากการจัดซื้อของลูกค้าองค์กรที่เพิ่มจากไตรมาส 3 ที่มีกระแสสงครามและความผันผวนของค่าเงินจึงชะลอการจัดซื้อไป แต่ไตรมาสนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ทั้งเป็นผลจากการใช้จ่ายก่อนปิดปีงบประมาณ สำหรับสัดส่วนฐานลูกค้าของบริษัทในปีนี้ เชื่อว่ายังไม่แตกต่างจากปีก่อน โดยมีฐานลูกค้าภาคราชการประมาณ 40% และตลาดภาคเอกชน 60% โดยในจำนวนนี้มีตลาดหลักเป็นกลุ่มองค์กร 60% และตลาดผู้ใช้ตามบ้านอีก 40%

 

ปีหน้าเตรียมเพิ่มสินค้าใหม่

นายอดิศร กล่าวต่อว่า บริษัทมีแผนขยายส่วนแบ่งตลาดเครื่องสำรองไฟมากขึ้น โดยมีแนวทางขยายสายผลิตภัณฑ์ และนำสินค้ารุ่นใหม่เข้ามาทำตลาดภายในต้นปีหน้า "ผลจากการปรับโครงสร้างตลาดนี้ จะทำให้การทำตลาดทั้งในกลุ่มของผู้ใช้ทั่วไป และกลุ่มลูกค้าองค์กรแยกแนวทางกันได้เห็นชัดเจน และทำตลาดได้ง่ายขึ้น เพราะสามารถเน้นกลุ่มลูกค้าทั่วไปได้มากขึ้น" นายอดิศรกล่าว ขณะเดียวกัน การปรับสายผลิตภัณฑ์ ยังช่วยให้บริษัทสามารถสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น จากการปิดกิจการของผู้ให้บริการบางราย ซึ่งปัจจุบันทำตลาดแบบไม่มีกำไร และไม่มีรูปแบบการทำตลาดที่ชัดเจน ไม่มีการออกสินค้าใหม่ แต่อยู่ใต้การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น

ด้านนายอนุชิต กล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทมีแผนรุกตลาดมากขึ้น ผ่านงบการทำตลาดรวมกว่า 10 ล้านบาท โดยสินค้าจะมุ่งจับตลาดระดับกลาง-บน แต่จะเน้นการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้าไปเสริม เพื่อให้การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคเร็วขึ้น โดยมองว่าสินค้าในกลุ่มนี้ยังมีโอกาสทางการตลาดสูง จากปัญหาด้านคุณภาพกระแสไฟฟ้าตามพื้นที่รอบนอก กทม.และต่างจังหวัด ซึ่งมีความหนาแน่นของโครงข่าย แตกต่างจากบริเวณตัวเมือง กทม.ชั้นใน

นอกจากนี้ ยังเตรียมเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายโดยขายสินค้าควบ (บันเดิล) พร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับคอมพิวเตอร์ยี่ห้อในประเทศ เพื่อเจาะตลาดทั้งองค์กรและตลาดราชการ

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ตุลาคม 2545

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.