กรมส่งเสริมฯ นำร่องงบ 10 ล้านหนุนศักยภาพซอฟต์แวร์ไทย
กรมส่งเสริมการส่งออก
หนุนการสร้างศักยภาพธุรกิจซอฟต์แวร์ไทย จับมือซอฟต์แวร์ปาร์ค
หนุนผู้ประกอบการอบรมพัฒนาทักษะมาตรฐานซีเอ็มเอ็มระดับ 2 เตรียมความพร้อมรุกตลาดส่งออก
นางเพยาว์ สุขมาก ผู้อำนวยการกองธุรกิจบริการ
กรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า แผนงานหลักของกรมฯ
ในปีนี้จะเน้นสานงานต่อจากปีที่ผ่านมา คือการสนับสนุนสร้างความแข็งแกร่งกับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมส่งออก โดยเบื้องต้นจะสนับสนุนกลยุทธ์การใช้ซอฟต์แวร์ภายในประเทศ, พัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานสากลพร้อมสนับสนุนการส่งเสริมการขยายตลาดต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
เนื่องจากธุรกิจซอฟต์แวร์เป็นธุรกิจใหม่ จึงต้องสร้างความพร้อมให้เกิดก่อนการรุกตลาดต่างประเทศ
สำหรับในปีงบประมาณ 2546 นี้ กรมฯ
มีแผนจับมือกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (ซอฟต์แวร์ปาร์ค)
สนับสนุนเงินงบประมาณ ในการสร้างนักพัฒนาที่มีความสามารถภายใต้มาตรฐานซีเอ็มเอ็มระดับ
2 ให้ได้ราว 5-10 ราย
คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 5-10 ล้านบาท จากการสนับสนุนราวรายละ
1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังนำเสนอของบประมาณ จากคณะกรรมการบริหารเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
"โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งในครั้งต่อๆ ไปจะมีการสนับสนุนเอกชน
โดยอาจไปหนุนด้านจำนวนผู้ประกอบการที่ได้มาตรฐานซีเอ็มเอ็มระดับ 2 ให้เพิ่มขึ้น หรือการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผ่านระดับ 2 มาแล้ว ให้ขยับขึ้นไปเป็นซีเอ็มเอ็มระดับ 3" นางเพยาว์
กล่าว
จับมือกรมทรัพย์สินป้องสิทธิก่อนรุก ตปท.
นอกจากนี้
ยังมีแผนจับมือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สนับสนุนการจดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์พร้อมกับสนับสนุนให้เอกชนมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง
เพื่อใช้ในการรุกตลาดได้ดีขึ้น ป้องกันการลอกเลียนแบบที่มีอยู่สูง ทั้งนี้มองว่าตลาดที่น่าสนใจคือ
กลุ่มตลาดด้านซอฟต์แวร์เฉพาะ เช่น การจัดทำฐานข้อมูล, การประมวลผลข้อมูล
(ดาต้าโพรเซสซิ่ง) และเน็ตเวิร์ค
เซอร์วิส และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับซอฟต์แวร์ อาทิ
การให้บริการด้านมัลติมีเดีย ทำภาพเคลื่อนไหว (แอนิเมชั่น)
ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการรุกตลาดประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในอินโดจีน
รวมถึงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐ
สำหรับบทบาทในการช่วยผู้ประกอบการรุกตลาดต่างประเทศนั้น
จะเน้นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายชื่อผู้ส่งออกซอฟต์แวร์ที่ปัจจุบันมีราว 130 รายผ่านช่องทางต่างๆ
อาทิ เวบไซต์ของกรมคือ www.depthai.go.th และ
www.thaitrade.com รวมทั้ง
ผ่านหนังสือไดเร็คทอรี่ที่เผยแพร่ในต่างประเทศ โดยประมาณการจัดพิมพ์ราว 500 เล่มในปี 2544 และการแจกซีดี-รอม
รายชื่อผู้ส่งออก ในงานแสดงเทคโนโลยี (ซีบิต) ราว 3,000 แผ่น และมีแผนจัดพิมพ์เพิ่มอีก 3,000 แผ่นในปีนี้
ขาดการรวมตัว-ไม่พร้อม
อย่างไรก็ตาม
ยอมรับว่ายังมีอุปสรรคของการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ที่จะรุกตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะขาดแกนนำในกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์
เนื่องมาจากปัญหาการรวมตัวระหว่างผู้ประกอบการ ทำให้การประสานงานความช่วยเหลือระหว่างภาครัฐไม่ต่อเนื่อง "ผลจากการผลักดันให้เรียนรู้ตลาดต่างประเทศจากงานคอมพ์เด็กซ์และซีบิต
ยังทำให้เราเห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ยังไม่พร้อมรุกตลาดต่างประเทศจริงจัง และต้องปรับระบบการทำงานใหม่"
นางเพยาว์ กล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 กันยายน
2545
|