โตโยต้า เทคนิคัล เซ็นเตอร์ หมากใหม่ของผู้ท้าชิงเจ้ากระบะ
การประกาศแผนการลงทุนครั้งล่าสุดของ บริษัท
โตโยต้ามอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ด้วยการประกาศจัดตั้ง
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ในภูมิภาคเอเชีย หรือที่มีชื่อเรียก อย่างเป็นทางการว่า "โตโยต้า
เทคนิคัล เซ็นเตอร์ เอเชียแปซิฟิก ประเทศไทย จำกัด" (Toyota Technical Center Asia
Pacific Thailand - TTCAP-TH) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ไม่ได้มีความน่าสนใจ เพียงแค่เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ ในระดับภูมิภาคเอเชียเท่านั้น แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า
เป็นการลงทุน ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
นอกจากนี้ การประกาศจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว
ยังเป็นการประกาศสู่สาธารณชนพร้อมกันใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
และไทย ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า ญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์
ในขณะที่ออสเตรเลีย โตโยต้าได้เข้าไปลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาเช่นเดียวกับประเทศไทย
แต่เป็นเพียงศูนย์ย่อยที่จะสนับสนุนศูนย์ในประเทศไทยเท่านั้น
ทำไมต้องเป็นเมืองไทย
ปัจจุบันโตโยต้านับว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก
เห็นได้จากแผนการลงทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โตโยต้าให้เหตุผลของการตั้งศูนย์เทคนิคัล
เซ็นเตอร์ เอเชียแปซิฟิก ในครั้งนี้ ว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาค
ซึ่งกำลังเติบโตอย่างมากในภูมิภาคนี้ ซึ่งก็รวมถึงประเทศออสเตรเลียด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นที่โตโยต้าจะต้องเร่งพัฒนารถยนต์ในรูปแบบใหม่ๆ
ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุด ก็คือ
การพัฒนาในพื้นที่เป็นตลาดเป้าหมายนั่นเอง "การลงทุนครั้งนี้
โตโยต้าไม่ได้มองไปที่ตลาดเอเชียเท่านั้น แต่มองถึงตลาดในเมืองไทยเป็นหลักด้วย
ซึ่งถือว่าเป็นตลาดปราบเซียน ภาวะการแข่งขันในช่วงนี้ พอจะบอกได้ว่าเป็นอย่างไร
และก่อนหน้านี้ บริษัทได้ประกาศโครงการไอเอ็มวี ซึ่งเป็นโครงการที่โตโยต้าต้องการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ
100% ดังนั้น ทุกโครงการของโตโยต้าจะสนับสนุนซึ่งกันและกันหมด"
ผู้บริหารโตโยต้า กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ"
ในช่วงที่ผ่านมา รถยนต์โตโยต้าเกือบทั้งหมดจะถูกออกแบบ
โดยวิศวกรจากประเทศญี่ปุ่น และวิศวกรที่อยู่ในศูนย์อาร์แอนด์ดี ที่ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยียม
และสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะคนเอเชีย
บวกกับตลาดที่ขยายตัว ทำให้โตโยต้าจำเป็นต้องตั้งศูนย์อาร์แอนด์ดีนอกประเทศญี่ปุ่นขึ้น
โดยใช้พฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทยเป็นตัวศึกษา ซึ่งเห็นได้จากแนวคิดในการออกแบบของโซลูน่า
ที่ถึงแม้จะเป็นรถที่ผลิตในประเทศไทย มีการออกแบบที่ศูนย์อาร์แอนด์ดี
ประเทศญี่ปุ่น แต่การพัฒนาดังกล่าวยังต้องมีวิศวกรคนไทยเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
นอกจากนี้ เป้าหมายของศูนย์อาร์แอนด์ดี
ไม่ได้หยุดอยู่ที่การวิจัยและพัฒนารถเก๋งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงรถกระบะอีกด้วย
ทั้งนี้
ในปัจจุบันรถปิกอัพเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย และเป็นตลาดที่มีความหมายสำหรับโตโยต้าเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็นเพียงตลาดเดียวที่โตโยต้ายังเป็นรองคู่แข่งสำคัญอย่างอีซูซุ ซึ่งโตโยต้าเชื่อว่า
ทุกวันนี้จุดอ่อนที่ยังไม่สามารถโค่นอีซูซุลงได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของความประหยัด แต่มาจากรูปโฉมภายนอกที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เห็นว่าสู้คู่แข่งขันไม่ได้ "ผลวิจัยล่าสุดโตโยต้า
พบว่า เครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล ไดเร็คอินเจ็คชั่น เป็นเครื่องยนต์แห่งอนาคตที่ประหยัดกว่าเครื่องยนต์
คู่แข่งเพียงแต่รูปโฉมที่เรายังเป็นรองอยู่เท่านั้น และศูนย์อาร์แอนด์ดีแห่งนี้จะทำการออกแบบรถปิกอัพด้วย
ซึ่งโมเดลใหม่ล่าสุดอย่างที่ผู้บริหารคนญี่ปุ่นบอก คือ จะออกมาในปี 2549"
แหล่งข่าวกล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ"
การตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา โตโยต้า เทคนิคัล
เซ็นเตอร์ เอเชียแปซิฟิก ประเทศไทย
นอกจากจะเป็นการสร้างความพร้อมของรถยนต์โตโยต้าแบบครบวงจรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของโตโยต้าในภูมิภาคอีกด้วย
และที่สำคัญมากกว่านั้นสำหรับตลาดประเทศ อาจจะเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญในการก้าวสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำในทุกตลาด
ซึ่งเป็นเป้าหมายที่โตโยต้าพลาดพลั้งมาแล้วหลายปี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน
2546
|