โตโยต้าทุ่ม 3 หมื่นล. ผุดโปรเจค ไอเอ็มวี
ขยายฐานผลิตในไทยเพิ่มเท่าตัว-คาดจ้างงานหมื่นคน
เริ่มดีเดย์ปี 2547 รุกตลาดส่งออก 80
ประเทศทั่วโลก ตั้งเป้าสร้างรายได้กว่า 5 หมื่นล้านบาทภายใน 2
ปี
โตโยต้า รุกขยายตลาด 80
ประเทศทั่วโลก เปิดโปรเจคยักษ์ "ไอเอ็มวี "ใช้ฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกดีเดย์ปี 2547
เม็ดเงินลงทุน รวมโรงงานประกอบ เครื่องยนต์และชิ้นส่วนกว่า 3
หมื่นล้านบาท คาดจ้างงานเพิ่ม 1 หมื่นคน ตั้งเป้าสร้างมูลค่าส่งออกทะลุ
5 หมื่นล้านบาท
นายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการบริหาร บริษัท
โตโยต้ามอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทีเอ็มซี) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ
1 ของญี่ปุ่น กล่าวในงานแถลงข่าว การขยายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกทั่วโลก
ของบริษัท วานนี้ (19 ก.ย.) ว่า ทีเอ็มซีได้ตัดสินใจจะให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
และบริษัท สยาม โตโยต้า อุตสาหกรรม เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกภายใต้โครงการ
ไอเอ็มวี (International Multipurpose Vehicle) โดยโครงการไอเอ็มวี
จะเป็นการดำเนินการร่วมกันของบริษัทลูกจากหลายประเทศ รวมถึง บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ที่จะเป็นแกนหลักในการวางแผนงาน
ออกแบบ โดยจะมีผู้แทนโตโยต้าจากประเทศไทยเข้าไปร่วมในการหารือและวางแผนด้วย
ทุ่มลงทุนเพิ่มกว่า 3 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ภายใต้แผนดังกล่าว บริษัท โตโยต้า
มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นในส่วนของโรงงานทีเอ็มที
ทั้งที่ สำโรง จ.สมุทรปราการ และ เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ บริษัทสยามโตโยต้า อุตสาหกรรม จำกัด จะลงทุนมูลค่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมการลงทุนในส่วนของชิ้นส่วน จะทำให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มของโครงการไอเอ็มวี
เป็นวงเงินทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท
โดยคาดว่าการขยายการลงทุนดังกล่าวจะทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศไทย เพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นตำแหน่ง ซึ่งในส่วนของทีเอ็มที และในส่วนของ บริษัทสยามโตโยต้า อุตสาหกรรม
จะมีการจ้างงานอีก 3,000 ตำแหน่ง โครงการไอเอ็มวี
จะดำเนินการผลิตที่ โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการเป็นหลัก ส่วนโรงงานเกตเวย์
จ.ฉะเชิงเทรา จะเป็นโรงงานที่สนับสนุนในด้านชิ้นส่วน ปั๊มขึ้นรูป
และชิ้นส่วนพลาสติก ขณะที่โรงงานไทยออโต้ เวิร์คส์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และปัจจุบันเป็นโรงงานประกอบรถยนต์
เอสยูวีรุ่น สปอร์ตไรเดอร์ รวมทั้งรับจ้างชุบสี จะเป็นผู้ผลิตรถในส่วนของเอสยูวี
และเอ็มพีวี เช่นกัน
คาดเพิ่มการผลิตเท่าตัว
นอกจากนี้ โครงการ ไอเอ็มวี
ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ระดับโลกของโตโยต้า ในประเทศไทย ซึ่งหมายถึง
รถที่ผลิตจากฐานของรถปิกอัพ มีน้ำหนักขนาด 1 ตัน โดยจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตในส่วนของรถปิกอัพ
รถเอสยูวี และเอ็มพีวี ตามแผนการของโตโยต้า ในปี 2547 โดยบริษัท
โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จะเพิ่มการผลิตจาก 1 แสนคัน
(ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 หมื่นคัน
ที่เหลือผลิตเพื่อการส่งออก) เป็น 2
แสนคัน ซึ่งในจำนวนนี้ 50%
เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายใน 80 ประเทศทั่วโลกทั้งในแถบเอเชีย
ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และยุโรป สำหรับในส่วนของโรงงานสยามโตโยต้า อุตสาหกรรม
ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ ที่มีกำลังการผลิต 1.5
แสนเครื่องต่อปีตามโครงการใหม่นี้ จะเพิ่มกำลังการผลิต เป็น 2.4 แสนเครื่องในปีเดียวกัน
ตั้งเป้าภายใน 2 ปีส่งออก 5 หมื่นล้าน
นายโตโยดะ กล่าวอีกว่า โครงการไอเอ็มวี
นอกจากจะทำให้ทั้งทีเอ็มที และ สยามโตโยต้า อุตสาหกรรม เพิ่มกำลังการผลิตแล้ว ยังจะมีผลต่อเนื่องให้บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนของโตโยต้า
ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 120
บริษัท มีการผลิตเพิ่มขึ้น และส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้
โตโยต้ายังเตรียมแผนที่จะเพิ่มกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน อีก 20
บริษัท ซึ่งการส่งออก ที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งในส่วนของรถยนต์ และอะไหล่ ในปี 2547
จะมีมูลค่ารวม ทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านบาท
นายโตโยดะ กล่าวด้วยว่า โครงการไอเอ็มวี
ดังกล่าว จะเริ่มต้นได้ในปี 2547 แต่การดำเนินการจะสามารถทำได้เต็มที่ในปี 2548
ซึ่งในปีดังกล่าวจะทำให้การผลิตโดยรวมของทีเอ็มที มีมากถึง 3 แสนคัน ประกอบด้วย รถปิกอัพและเอสยูวี กับเอ็มพีวี 2 แสนคัน (ในจำนวนนี้เป็นเอสยูวี กับเอ็มพีวี 20
เปอร์เซ็นต์) รถยนต์นั่ง 5 หมื่นคัน และที่เหลือจะเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากตลาดที่เติบโตในอนาคต โตโยต้ายังมีแผนว่าในปีที่เริ่มต้นโครงการไอเอ็มวี
จะทำให้เป้าหมายที่บริษัทต้องการเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้ได้ 100% สามารถทำได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้ นายโตโยดะกล่าว
ฟุ้งบีโอไอหนุนโปรเจคยักษ์เต็มที่
ด้าน นายเรียวอิจิ ซาซากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่
ทีเอ็มที กล่าวการลงทุนในโครงการไอเอ็มวี ขณะนี้ได้รับการตอบรับการสนับสนุนเบื้องต้นจาก
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เนื่องจากขณะนี้การลงทุนดังกล่าวผ่านเงื่อนไขหลักของบีโอไอ
2 ใน 3 ข้อ ที่ประกาศไว้คือ 1 การลงทุนต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
2.มีเป้าหมายการส่งออกที่ชัดเจน และ 3.มีการยื่นขอในลักษณะการลงทุนเป็นกลุ่ม
(Co-Package) ซึ่งในข้อบังคับ 1 และ 2 ผ่านเงื่อนไขแล้ว ส่วนข้อสุดท้ายขณะนี้โตโยต้ากำลังอยู่ในการรวบรวมกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เข้าร่วมโครงการนี้
นายซาซากิ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าบีโอไอ ได้ยกเลิกการบังคับเขตการลงทุน ว่า หากมีการยกเลิกจริงก็เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในแนวทางการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์
และไม่เชื่อว่าจะมีการเพิ่มการลงทุนในเขต 1 มากขึ้น
เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ค่าที่ดิน ค่าแรงงาน เป็นต้น แต่เชื่อว่าการลงทุนเพิ่มจะเป็นในรูปแบบการเพิ่มความสามารถของโรงงานที่มีอยู่แล้วในด้านเครื่องจักรกล
และจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 20 กันยายน 2545
|