รายงาน : ผันปัจจัยเสี่ยงสู่โอกาส ทางออกบริษัทสื่อสารไทย
ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ที่ดำเนินธุรกิจ
ในวงการสื่อสาร ต้องเผชิญกับสภาพการเปลี่ยนแปลง ด้านเทคนิค ลักษณะตลาด
และการแข่งขัน ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งยังทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ขณะนี้กล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมการสื่อสารทั่วโลก กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปรับตัว
เพื่อให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยี และพฤติกรรมการรับรู้ข่าวสาร ซึ่งหมายถึงการติดต่อสื่อสารทั่วโลก
ต้องเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกัน โดยจะเห็นได้ว่า
บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการสื่อสารในหลายๆ ประเทศ ต่างมีแนวทางการปรับตัวที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม
สังคมเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นๆ
สำหรับประเทศไทย ขณะนี้ถือว่า
กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแท้จริง ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจการสื่อสาร
จากที่ผ่านมารัฐบาลผูกขาดการให้บริการ สู่ยุคของการมีผู้ให้บริการเกิดขึ้นหลายราย และเตรียมผ่านเข้าไปสู่ยุคเปิดเสรีตลาดในอีกไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตามองก็คือ ผู้ให้บริการรายเดิมในตลาด ยังต้องมีการดำเนินงานบางส่วนขึ้นกับภาครัฐบาล
ทำให้การทำงานหรือการวางแผนการตลาดของบริษัท ที่ประกอบธุรกิจด้านการสื่อสารเหล่านี้ประสบปัญหาและอุปสรรค
ส่วนผู้ให้บริการรายใหม่ที่เข้ามาอยู่ในตลาด จำเป็นต้องทำการศึกษา และวิจัยสภาพตลาดให้ครอบคลุม
ดังนั้น การมีที่ปรึกษาในการให้คำแนะนำด้านการตลาด และการบริหารต้นทุนกับบริษัทเหล่านี้
จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน
แนะไทยมองเรื่อง "ปัจจัยเสี่ยง"
ทั้งนี้ นายคาร์ล อาร์. เกิปเปิร์ท
ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของบริษัทที่ให้คำปรึกษา
ด้านการดำเนินธุรกิจและการเงิน ระดับโลก ซึ่งเข้ามาเปิดสำนักงานเพื่อให้คำปรึกษา
และวางแผนธุรกิจกับอุตสาหกรรมสื่อสาร ในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2530 กล่าวว่า ปัญหาและอุปสรรคสำคัญของธุรกิจภาคนี้ของไทย อยู่ที่ความสามารถในการทำความเข้าใจปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
ของธุรกิจ และการพยายามจัดการ และสร้างประโยชน์จากปัจจัยเสี่ยงนั้นให้มากที่สุด สำหรับแนวทางบรรเทาปัญหาขององค์กรกลุ่มนี้
ควรเป็นเรื่องของวิธีการเพิ่มพูนรายได้ (Revenue Enhancement) ซึ่งองค์กรต้องประเมินขั้นตอนการสร้างรายได้ ทั้งที่เป็นอยู่ในขณะนี้
และเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ของธุรกิจ
และจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าจะจัดการได้อย่างเหมาะสมที่สุด
จัดการต้นทุนอย่างมีแบบแผน
นอกจากนี้
ควรมีแนวทางจัดการต้นทุนของบริษัทอย่างมีแบบแผน โดยควรประเมินขั้นตอนสำคัญ
ของการจัดการต้นทุน การวิเคราะห์เรื่องการเจรจาต่อรองระหว่างบริษัท การสั่งซื้อ
และการคาดการณ์บริการ การประนีประนอมใบแจ้งหนี้ การจัดการปัญหาโต้แย้งต่างๆ
การติดตามตรวจสอบต้นทุน และการจัดกระบวนการด้านการเงิน โดยทั้งหมดนี้
องค์กรจะต้องทำการบ้าน และวิเคราะห์เป็นแบบแผนตามความเป็นจริง "ขณะเดียวกัน
จะต้องมีการวิเคราะห์แหล่งข้อมูล ทั้งภายในและภายนอก พร้อมทั้งประเมินการเชื่อมโยงของขั้นตอนต่างๆ
ที่ใช้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน และรวมไปถึงการประเมินการใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมการทำงานแบบอัตโนมัติ
ที่ใช้อยู่ใน
ปัจจุบัน และวางแผนใช้ในอนาคตด้วย" นายเกิปเปิร์ทกล่าว
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 24 เมษายน
2545
|