ครม.ผ่านก.ม.โทรคม เปิดทางต่างชาติถือหุ้น 49%
ครม.ผ่านกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม
เปิดทางต่างชาติถือหุ้นในบริษัทไทยได้ 49% จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง
25% พร้อมแก้มาตรา 58 อุ้มวัน- ทู-คอล
นายยงยุทธ ติยะไพรัช โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
แถลงภายหลังการประชุม ครม.วานนี้ (14 พ.ค.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม ใน 2 ประเด็นคือ การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติจากเดิมไม่เกิน 25% เป็นไม่เกิน 49% เพื่อให้สอดคล้องกับการถือหุ้นของคนต่างด้าวในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งมีมติให้แก้ไขมาตรา 58 วรรคหนึ่ง เพื่อให้เอกชนสามารถเก็บเงินล่วงหน้าจากประชาชนได้
เช่น กรณีของโทรศัพท์ วัน-ทู-คอล ที่มีการให้ประชาชนจ่ายเงินซื้อบัตรโทรศัพท์
ซึ่งถือเป็นการเก็บค่าบริการล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.เดิมนั้น ไม่สามารถทำได้
"แต่เนื่องจากวิธีการดังกล่าว
สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนที่มีรายได้น้อยจะสามารถมีโทรศัพท์มือถือใช้
ขณะที่ต่างประเทศก็สามารถเก็บเงินล่วงหน้าจากประชาชนได้เป็นปกติ ดังนั้นกฎหมายไทยควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย"
นายยงยุทธกล่าว ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เพิ่มเติมบทเฉพาะกาล
โดยระบุให้ ทศท.และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) มีสิทธิได้รับใบอนุญาตให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม
เมื่อมีการแปรสภาพเป็นบริษัทเอกชน จากที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดความชัดเจนไว้ในมาตรา 79 และ 80 ของกฎหมายดังกล่าว สำหรับขั้นตอนต่อไป จะส่ง
พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้กฤษฎีกาตรวจร่างอีกครั้ง
ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎร
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
กล่าวว่า เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม ในมาตรา 8
เกี่ยวกับที่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติเป็น 49% จากเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้ 25%
เนื่องจากสัดส่วนการถือหุ้นชาวต่างชาติ ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดตลาด ส่วนที่มีการเกรงกันว่าการให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในบริษัทสื่อสารมากเกินไป
จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่มีโอกาสเกิด คงไม่เกี่ยวข้องกับสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติ
ขณะที่ผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน
มักเป็นรายใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้น โดยยกตัวอย่างการเข้ามาของบริษัท
ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจากประเทศอังกฤษ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
กลับส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพราะทำให้ตลาดมีการแข่งขัน ขณะที่บริษัท แอดวานซ์
อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส
ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูง ก็ยังจำหน่ายเครื่องลูกข่ายในราคาสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น
รวมถึงอัตราค่าบริการที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่น อย่างไรก็ตาม
ประเด็นสำคัญของธุรกิจโทรคมนาคม อยู่ที่การกำกับดูแล เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
และป้องกันการทุ่มตลาดจากผู้ประกอบการรายเก่า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาทำตลาด
ที่มา
: กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม 2545
|