"เทคโนโลยีการควบคุม" ของสังคมยุคดิจิทัล

 

นับเป็นเวลาหลายปีแล้วที่คนรักสัตว์ยินยอมให้ฝังไมโครชิพไว้ใต้ผิวหนังของสุนัขและแมวตัวโปรด ด้วยหวังว่าชิพจิ๋ว ซึ่งบรรจุข้อมูลสำหรับชี้ตัวสัตว์เลี้ยงและเจ้าของ ช่วยนำมันกลับบ้านในกรณีเกิดเหตุการณ์พลัดหลง ได้ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันบริษัทแห่งหนึ่งในฟลอริดา เตรียมนำเทคโนโลยีที่คล้ายกันมาประยุกต์ใช้เพื่อติดตามคนหาย

 

ทั้งนี้ แอพพลาย ดิจิทัล โซลูชันส์ บริษัทซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการย่อส่วนเทคโนโลยี และการจัดเก็บข้อมูล ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทางบริษัทได้สิทธิบัตรเทคโนโลยี “Passive Integrated Transponder Tag with Unitary Antenna Core" ซึ่งตัวแทนบริษัทแอพพลาย ดิจิทัล โซลูชันส์ เปิดเผยว่า สิทธิบัตรดังกล่าว จะใช้เทคโนโลยี "sub dermal, radio frequency identification" ซึ่งเป็นอีกชื่อหนึ่งของชิพ ที่ฝังไว้ใต้ผิวหนังและเผยแพร่ข้อมูลโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ในอดีต เทคโนโลโนยีนี้ ถูกนำไปใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัย โดยช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษารูปแบบ การอพยพของปลาแซลมอน แต่เวอริชิพ ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ใหม่นั้น ได้ถูกนำไปทดสอบในฐานะอุปกรณ์ยืนยันลักษณะส่วนตัวของมนุษย์ที่น่าเชื่อถือได้

 

ครอบครัวไบโอนิค

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครอบครัวหนึ่งในฟลอริดา ได้กลายมาเป็นลูกค้ารายแรกของเวอริชิพ โดยภาพเหตุการณ์ฝังชิพของเจฟฟ์ และเลสลี จาคอบส์ พร้อมด้วยลูกชายวัย 14 ปี ดีเรก (เด็กที่ชำนาญด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับหนังสือรับรองเอ็มซีเอสอีของบริษัทไมโครซอฟท์) กลายเป็นข่าวใหญ่ตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลก ชิพดังกล่าว ซึ่งมีขนาดเท่าเมล็ดข้าวนั้น บรรจุข้อมูลตัวอักษรขนาดความยาว 6 บรรทัด โดยนายเจฟฟ์ จาคอบส์ ผู้ซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ เปิดเผยว่า ตนต้องการความมั่นใจว่าหมอจะสามารถติดตามการใช้ยาของเขา ซึ่งมีอยู่หลายประเภทได้อย่างถูกต้อง การเลื่อนอุปกรณ์สแกนเนอร์พิเศษผ่านส่วนหนึ่งของแขน ซึ่งฝังชิพไว้ จะช่วยให้หมอสามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และข้อมูลอื่นๆ ได้

นายแมทธิว คอสโซลอตโต โฆษกบริษัทแอพพลาย ดิจิทัล โซลูชันส์ กล่าวว่า คุณสมบัติของเวอริชิพที่สามารถฝังไว้ในร่างกายมนุษย์ได้นั้น สามารถนำไปใช้กับสถานการณ์จริงได้ อาทิ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เป็นต้น โดยอ้างว่า ในปัจจุบัน มีผู้ทดลองฝังชิพดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น 12 คน คือ สมาชิกครอบครัวจาคอบส์ 3 คน ชายชรา 1 คน ลูกจ้างบริษัทแอพพลาย ดิจิทัล โซลูชันส์ 7 คน และตัวเขาเอง "ผมมีความคิดว่านวัตกรรมใหม่ จะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นต้องผู้บุกเบิก" นายคอสโซลอตโต กล่าว

 

ปัญหาสิทธิส่วนบุคคล

นายลี เทียน ทนายความของหน่วยงานอิเล็กทรอนิกส์ ฟรอนเทียร์ ฟาวน์เดชัน (อีเอฟเอฟ) ในเมืองซาน ฟรานซิสโก ซึ่งให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิความเป็นส่วนตัวและเทคโนโลยี รู้สึกเป็นกังวลกับ "ความน่ากลัวของคุณสมบัติ" หรือการที่ชิพดังกล่าวทำสิ่งหนึ่งในปัจจุบันนี้ แต่อาจนำไปใช้ทำอีกหลายสิ่งหลายอย่างในอนาคต

"เวอริชิพรุ่นปัจจุบัน ไม่สามารถอ่านข้อมูลได้จากระยะที่ไกลมาก แต่ผมคาดว่าระยะทางดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นหากได้รับความนิยมจากผู้ใช้ และอาจกลายเป็นอุปกรณ์ติดตามตัวบุคคลที่มีประโยชน์มหาศาลได้ในอนาคต" นายเทียน กล่าว ตามข้อเท็จจริงแล้ว เวอริชิพ ออกแบบสำหรับใช้พิสูจน์ตัวบุคคล ไม่ใช่เพื่อการติดตาม โดยนายคอสโซลอตโต กล่าวว่า บริษัทแอพพลาย ดิจิทัล โซลูชันส์ อยู่ระหว่างพัฒนาผลิตภัณฑ์อีกตัว เพื่อใช้ในการติดตามโดยเฉพาะ นั่นก็คือ อุปกรณ์จีพีเอส ที่สามารถฝังไว้ในร่างกายได้ เรียกว่า พีแอลดี (เพอเซอนัล โลเคชัน ดีไวซ์) พร้อมเสริมว่า ต้นแบบอุปกรณ์ดังกล่าว จะเปิดตัวได้ประมาณปลายปีนี้

"แนวคิดดังกล่าว สามารถนำไปใช้บอกตำแหน่งใครบางคนในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญ ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในอันตราย อาทิเช่น ผู้บริหารอาวุโสที่ทำงานอยู่ในสถานที่ ซึ่งการจับตัวประกันเป็นเหตุการณ์ปกติประจำวัน" นายคอสโซลอตโต กล่าว พร้อมยอมรับว่า อุปกรณ์พีแอลดี น่าจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่รู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็กสูง นอกจากนี้ นายเทียน และอีเอฟเอฟ ยังได้แสดงความวิตกเกี่ยวกับไอดีชนิดฝังในร่างกาย และเทคโนโลยีการติดตามอีกหลายประเด็น โดยสิทธิความเป็นส่วนตัว เป็นปัญหาใหญ่ ในกรณีที่มีการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ผิด เนื่องจาก ไม่มีใครรับประกันได้ว่าคนร้ายจะไม่สามารถมีข้อมูลดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์อีกหลายราย ก็ได้เพิ่มความกังวลที่น่าสยดสยอง กล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่โจรลักพาตัวอาจตัดแขนเด็ก เพื่อทำลายระบบติดตามของชิพดังกล่าว นายคอสโซลอตโต กล่าวว่า ในส่วนของตนแล้ว ไม่สนใจการคาดคะเนดังกล่าว เนื่องจาก เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมดล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ยูเอสเอทูเดย์   อาริยะ ชิตวงค์ แปล-เรียบเรียง

กรุงเทพธุรกิจ (กรุงเทพไอที) ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545

 

 
Home | About us | INET | ITE| PTEC | MTS | NTJ | Software Park
National Electronics and Computer Technology Center (NECTEC)
Copyright ©2001 By Information System Service Section. All rights reserved.